ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,165)


ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ผู้ควรแก่การยกย่องเป็นพิเศษว่าเป็นปราชญ์ของพระราชา

อ่านว่า ราด-ชะ-บัน-ดิด-กิด-ติ-มะ-สัก

ประกอบด้วยคำว่า ราช + บัณฑิต + กิตติมศักดิ์

(๑) “ราช” 

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก -

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย

: ราชฺ + อ = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา 

: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ) 

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”

“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ราช ๑, ราช- : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “บัณฑิต”

เขียนแบบบาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ) 

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว”

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ (ปํฑิ > ปณฺฑิ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด” 

(3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + ต)

: ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.

“ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“บัณฑิต : (คำนาม) ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”

(๓) “กิตติมศักดิ์”

ประกอบด้วย กิตติม + ศักดิ์

(ก) “กิตติม” คำเดิมในบาลีเป็น “กิตฺติมา” ประกอบขึ้นจาก กิตฺติ + มนฺตุ (ปัจจัย แทนความหมายว่า “มี”)

“กิตฺติ” อ่านว่า กิด-ติ รากศัพท์มาจาก กิตฺตฺ (ธาตุ = กล่าวถึง, พูดด้วยดี) + อิ ปัจจัย

: กิตฺต + อิ = กิตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, ความรุ่งโรจน์, เกียรติยศ (fame, renown, glory, honour)

บาลี “กิตฺติ” สันสกฤตเป็น “กีรฺติ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กีรฺตฺติ” และ “กีรฺติ” บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“กีรฺตฺติ, กีรฺติ : (คำนาม) เกียรติ, ความบันลือ, ศรี (ยศสฺหรือสง่า), อนุเคราะห์, อนุกูลย์; ธันยวาท; ศัพท์, เสียง; อาภา, โศภา; โคลน, สิ่งโสโครก; ความซ่านทั่ว; มูรติทิพยศักดิ์ของพระกฤษณ; fame, renown, glory; favour; approbation; sound; light, lustre; mud, dirt; diffusion, expansion; one of the Mātrikās or personified divine energies of Krishṇa.”

บาลี “กิตฺติ” สันสกฤต “กีรฺติ” ภาษาไทยแผลงเป็น “เกียรติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์ : (คำนาม) ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).”

ในที่นี้คงรูปบาลีเป็น “กิตติ” (กิตฺติ)

กิตฺติ + มนฺตุ แปลง -นฺตุ เป็น อา (มนฺตุ > มา)

: กิตฺติ + มนฺตุ > มา : กิตฺติ + มา = กิตฺติมา แปลว่า “ผู้มีเกียรติ” คือ ผู้มีชื่อเสียง, ผู้ควรแก่การยกย่อง

(ข) “ศักดิ์” บาลีเป็น “สตฺติ” อ่านว่า สัด-ติ รากศัพท์มาจาก -

(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)

: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ

: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)

บาลี “สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” 

กรณีที่ต้องการอ่านว่า “สัก” เขียน “ศักดิ์” (การันต์ที่ ดิ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”

กิตติมา + ศักดิ์ ลบสระ อา ที่ -มา (ภาษาไวยากรณ์ว่า “รัสสะ อา เป็น อะ”)

: กิตติมา > กิตติม + ศักดิ์ = กิตติมศักดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสามารถของผู้มีชื่อเสียง” หรือ “ความสามารถของผู้ควรแก่การยกย่อง” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“กิตติมศักดิ์ : (คำวิเศษณ์) ยกย่องเพื่อเป็นเกียรติยศ เช่น ปริญญากิตติมศักดิ์ สมาชิกกิตติมศักดิ์.”

การประสมคำ :

๑ ราช + บัณฑิต = ราชบัณฑิต แปลว่า “บัณฑิตของพระราชา” หรือ “ปราชญ์ของพระราชา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ราชบัณฑิต : (คำนาม) นักปราชญ์หลวงมีความรู้ทางภาษาบาลี; สมาชิกองค์การวิทยาการของรัฐที่เรียกว่า ราชบัณฑิตยสถาน.”

๒ ราชบัณฑิต + กิตติมศักดิ์ = ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “บัณฑิตของพระราชาผู้ควรแก่การยกย่อง” หรืออาจแปลจากหลังมาหน้าว่า “ผู้ควรแก่การยกย่องเป็นพิเศษว่าเป็นปราชญ์ของพระราชา”

ขยายความ :

“ราชบัณฑิตยสภา” เป็นหน่วยงานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ.2469 ชื่อเมื่อแรกสถาปนาว่า “ราชบัณฑิตยสภา” ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2476 เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชบัณฑิตยสถาน” และได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น “ราชบัณฑิตยสภา” ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา (ดูรายละเอียดที่ “ราชบัณฑิตยสภา” บาลีวันละคำ (4,162) 4-11-66) 

ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 หมวด 2 สมาชิก มาตรา 12 บัญญัติว่า -

..............

มาตรา ๑๒  ราชบัณฑิตยสภามีสมาชิก ๓ ประเภท คือ

(๑) ภาคีสมาชิก

(๒) ราชบัณฑิต

(๓) ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

..............

ในส่วนที่ว่าด้วย “ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์” พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 บัญญัติไว้ดังนี้ -

..............

มาตรา ๑๙ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในประเภทวิชาสาขาใดสาขาหนึ่งที่อยู่ในหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาและได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานทางวิชาการอันเป็นประโยชน์แก่กิจการของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์โดยคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา

.........

.........

มาตรา ๒๐ ให้สมาชิกราชบัณฑิตยสภามีสิทธิและประโยชน์ ดังต่อไปนี้

.........

.........

(๓) ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

(ก) ประดับเข็มเครื่องหมายตามระเบียบราชบัณฑิตยสภา

(ข) ได้รับความยกย่องในงานพระราชพิธี งานพิธี หรือสโมสรสันนิบาตของทางราชการเสมอด้วยข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดี

(ค) เข้าร่วมประชุมในการประชุมราชบัณฑิตยสภาในฐานะที่ปรึกษา

..............

หวังว่า บาลีวันละคำคำนี้ คงช่วยให้ท่านทั้งหลาย (1) รู้จัก “ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์” แห่งราชบัณฑิตยสภา (2) ที่พอรู้อยู่บ้างจะได้รู้จักดียิ่งขึ้น

แถม :

พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๕๘ (เปิดอ่าน)

http://web.krisdika.go.th/lawHeadContent.jsp...

พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๕๘ (ดาวน์โหลดไฟล์ pdf)

http://web.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf...

..............

ดูก่อนภราดา!

: เกียรติยศอาจหยิบยื่นให้แก่กันได้ทุกที่

: แต่ความสามารถและศักดิ์ศรีต้องสร้างขึ้นเอง

 

[full-post]

ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.