ทำบุญให้ถึงปลายทาง

---------------------

คน “หัวก้าวหน้า” มักจะวิจารณ์พระพุทธศาสนาว่า ชอบเอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่

แต่ความจริง แนวการสอนที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เสมอก็คือ “อนุปุพพิกถา” เป็นพระธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ 

“อนุปุพพิกถา” มีหัวข้อธรรม ๕ ข้อ ดังนี้ -

.........................................................

๑. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน 

๒. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม 

๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น 

๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ 

๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น 

ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงแสดงอริยสัจ ๔ เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับธรรมะ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้วควรรับน้ำย้อมต่าง ๆ ได้ด้วยดี

(เก็บความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [246])

.........................................................

จะเห็นได้ว่า นรก-สวรรค์ที่พระพุทธเจ้านำมาสอนนั้นไม่ใช่จุดหมายปลายทางในพระพุทธศาสนา 

ประเดี๋ยวจะติดอยู่แค่-อยากหนีนรกไปอยู่สวรรค์-ติดอยู่แค่นี้ 

อย่างที่บางสำนักนิยมเน้นอยู่ 

หลักธรรมที่ยกมาอ้างก็บอกไว้ชัดแล้วว่า ท่านสอนให้เห็นโทษของสวรรค์ด้วย สอนให้เห็นอานิสงส์ของการหลีกเร้นออกจากความติดความอยากต่าง ๆ ด้วย

อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ การปฏิบัติขัดเกลาเพื่อพ้นทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ได้สอนให้บริจาคทรัพย์สมบัติมาก ๆ เพื่อจะได้เสวยผลบุญในสวรรค์ 

บริจาคตามกำลังก็พอ 

นอกจากนั้น การทำบุญก็มีอีกตั้งหลายวิธี ไม่ใช่ว่ามุ่งแต่สอนให้เขาบริจาค ๆๆๆ ซึ่งเป็น “ทานมัย” อย่างเดียว 

ยังมีสีลมัย ภาวนามัย ... ไปจนถึงการทำความเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ ซึ่งท่านถือว่าเป็นการทำบุญที่สำคัญที่สุด 

แต่นักสอนของเรามักไม่เอามาเน้นเอามาสอน 

เน้นอยู่แต่บริจาคทรัพย์อย่างเดียว 

แล้วก็ย้ำอยู่แต่ว่า บริจาคมาก ๆ จะได้บุญมาก ๆ 

คนมีทรัพย์น้อยก็เลยไม่กล้าทำบุญ 

ทั้งที่หลักก็มีอยู่ว่า -

.........................................................

อปฺปกมฺปิ กตํ เทยฺยํ

ปุญฺญํ โหติ มหปฺผลํ

นตฺถิ จิตฺเต ปสนฺนมฺหิ

อปฺปกา นาม ทกฺขิณา

ที่มา: ปีตวิมาน วิมานวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๗

แปล:

ของถวายที่ทำไปแล้วแม้จะน้อย

บุญก็มีผลมาก

เมื่อจิตเลื่อมใส (ในพระรัตนตรัย)

ทักษิณา (คือของถวายและผลบุญ) ชื่อว่าน้อยย่อมไม่มี

.........................................................

ถ้าเน้นกันที่บุญบริจาค พระภิกษุสามเณรที่เข้าไปครองเพศสมณะก็หมดโอกาสที่จะทำบุญ เพราะจะไปทำการงานหาทรัพย์ที่ไหนมาบริจาคได้เล่า 

แต่การครองเพศสมณะท่านก็สรรเสริญว่าเป็นทางตรงสู่ความพ้นทุกข์ ก็เท่ากับยืนยันว่า แม้ไม่มีทรัพย์จะบริจาคก็ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ได้

ผมมิได้มีเจตนาจะโต้แย้งหรือขัดขวางศรัทธาของท่านผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทำบุญในทางใด ๆ ที่ชอบธรรม ก็ขออนุโมทนาด้วยทั้งสิ้น 

เพียงแต่อยากชวนให้ตรึกตรองตามหัวข้อธรรมที่ยกมา (อนุปุพพิกถา) ให้ตลอดสาย และปฏิบัติตามหัวข้อนั้น ๆ ให้สอดคล้องกันตลอดสาย

การปฏิบัติธรรมให้สอดคล้องกันตลอดสายนั้น ท่านเรียกว่า "ธรรมานุธรรมปฏิบัติ" คนเก่าท่านแปลว่า "ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยธรรมใหญ่" 

หมายความว่า ธรรมที่ปฏิบัติแต่ละหัวข้อต้องนำไปสู่เป้าหมายของการสอนธรรมข้อนั้น ๆ 

เช่นในกรณีอนุปุพพิกถาที่ยกมาแสดงนั้น เป้าหมายก็คือหลีกออกจากกาม (ความติด ความอยากต่าง ๆ แม้แต่อยากไปเกิดในสวรรค์นั้นเอง) 

ถ้าให้ทานรักษาศีลกันเพื่อไปเกิดในสวรรค์แค่นั้น ก็แปลว่าปฏิบัติไม่ถึงเป้าหมาย ก็คือผิดเป้าหมายนั่นเอง

ขออนุโมทนาต่อทุกท่านที่เข้าใจเป้าหมายของการศึกษาธรรมปฏิบัติธรรม ขอให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องโดยทั่วกันเทอญ 

----------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

๑๑:๕๗

[full-post]

ปกิณกธรรม,ทำบุญ, บุญ,ทองย้อย,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.