สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ถามว่า กิจที่ต้องกำหนดรู้ในทุกขสัจนั้น มีกี่ประเภท ? 1 แต่ละประเภทมีประโยชน์อะไร ? 1 ประเภทนั้นๆมีขอบเขตในวิปัสสนาญาณใด ? 1
ตอบว่า กิจที่กำหนดรู้นั้น มี 3 ประเภท คือ
1.ญาตปริญญากิจ คือ กิจกำหนดรู้วิเสสลักษณะของนามและรูป เพื่อกระจายฆนสัญญา(ความสำคัญว่าเป็นกลุ่มก้อน)อันเป็นเหตุให้สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน มีขอบเขตในญาณที่ 1. คือ นามรูปปริเฉทญาณ (ญาณแยกนามแต่ละนาม รูป แต่ละรูป) และในญาณที่ 2 คือ ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณจับปัจจัยได้)
2.ตีรณปริญญากิจ คือ กิจกำหนดรู้สามัญญลักษณะของนามและรูป เพื่อความรู้ได้ไวเท่าทันสันตติ(ความสือต่อการเกิดดับของนามและรูปที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว) อันเป็นเหตุให้เข้าใจว่าเที่ยง มีขอบเขตในญาณที่ 3. คือ สัมมสนญาณ (ญาณที่จับต้องลักษณะร่วมของนามรูปที่เป็นหมวดๆได้ เช่น หมวดขันธ์ หมวดธาตุ หมวดอายตะ เป็นต้น) โดยเห็นนามรูปดับเป็นหมวดๆ เพราะเนื่องอยู่กับสามัญญลักษณะ ถัดจากเห็นนามรูปเกิดในปัจจยปริคคหญาณที่เห็นเป็นอย่างๆ เพราะเนื่องอยู่กับวิเสสลักษณะ และในญาณที่ 4 คือ อุทยัพพย
ญาณ (ญาณที่เห็นนามรูปทั้งเกิดทั้งดับในญาณเดียวกัน)
3.ปหานกิจ คือ กิจที่ตัณหาถูกละไป แม้ไม่เด็ดขาด เพราะยังไม่ถึงมรรค แต่ก็อ่อนกำลังลงแทบโงศรีษะไม่ขึ้น มีขอบเขตตั้งแต่ ญาณที่ 5-11 คือ
5.ภังคานุปัสสนาญาณ
ญาณที่เห็นความแตกทำลายของนามรูปเนื่องๆ
6.ภยตูปัฏฐานญาณ
ญาณที่เห็นนามรูปเกิดเนื่องๆในภพภูมิต่างๆเป็นภัยน่ากลัว
7.อาทีนวญาณ
ญาณที่เห็นเนื่องๆว่า นามรูปไม่ว่าเป็นไปในภพภูมิไหนก็ล้วนมีแต่โทษ
8.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณที่เห็นเนื่องๆว่า การมีนามรูปน่าเบื่อหน่าย
9.มุญจิตุกัมยตาญาณ
ญาณประสงค์ที่จะหลุดพ้นจากความมีนามรูป
10.ปฏิสังขาญาณ
ญาณใคร่ครวญหาอุบายหลุดพ้นจากนามรูป
11.สังขารุเปกขาญาณ
ญาณที่วางเฉยต่อนามรูป
สมดังที่ท่านพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค (3/231) ว่า " ตตฺถ สงฺขารปริจฺเฉโต ปฏฺฐาย ยาว ปจฺจยปริคฺคหา ญาตปริญฺญาย ภูมิ. เอตสฺมึ หิ อนฺตเร ธมฺมานํ ปจฺจตฺตลกฺขณปฏิเวธสฺเสว อาธิปจฺจํ โหติ ฯเปฯ ภงฺคานุปสฺสนํ อาทิ กตฺวา อุปริปหานปริญฺญาย ภูมิ. " แปลว่า " ในการกำหนดเหล่านั้น ปัญญาจับตั้งแต่การกำหนดสังขารได้ ( คือปัญญาที่เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ) จนกระทั้งจับกำหนดปัจจัยได้ (คือ ปัญญาที่เรียกว่า นามรูปปัจจยปริคคหญาณ) เป็นขอบเขตแห่งญาตปริญญา. ก็ในระหว่างนี้ มีการแทงตลอดปัจจัตตลักษณะของธรรมทั้งหลายเป็นใหญ่. ส่วนปัญญาจับตั้งแต่การจับต้องลักษณะร่วมเป็นหมวดๆ (คือปัญญาที่เรียกว่า ส้มมสนญาณ) จนกระทั้งตามพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไป (คือ ปัญญาที่เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ) เป็นขอบเขตแห่งตีรณปริญญา ก็ในระหว่างนี้ มีการแทงตลอดสามัญญลักษณะนั่นแหละ เป็นใหญ่. ปัญญาเบื้องสูง จับตั้งแต่ตามพิจารณาเห็นแต่ความแตกทำลายไป ( คือปัญญาที่เรียกว่า ภังคานุปัสสนาญาณ) เป็นต้นไป เป็นขอบเขตแห่งปหาน ปริญญา "
ในคัมภีร์นิสยอักษรปัลลวะกล่าว เห็นด้วยกับท่านพุทธโฆษาจารย์ว่า ขอบเขตแห่งปหานปริญญาในทุกขสัจสิ้นสุดที่สังขารุเปกขาญาณ เพราะอริยสัจ 4 มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นโลกิยธรรม ได้แก่ ทุกขสัจ(โลกิยจิต 81 เจตสิกที่ประกอบ 51 เว้น โลภเจตสิกในฐานะเป็นสมุทัยสัจ และ รูป 28 รวมธรรม 160 ย่อแล้วก็คือ นามและรูปที่เป็นสังขารทุกข์) 1 และ สมุทัยสัจ (โลภเจตสิก) 1 ส่วนที่เป็นโลกุตตรธรรม ได้แก่ นิโรธสัจ (นิพพาน) 1 และ มรรคสัจ (องค์มรรค 8 ) 1
ในบรรดาวิปัสสนาญาณที่สูงกว่าสังขารุเปกขาญาณ (ญาณ ที่ 12, 13, 14, 15, 16) ที่พ้นจากขอบเขตการกำหนดรู้ทุกขสัจ(ปริญญากิจ) มีเหตุผลดังนี้
12.อนุโลมญาณ เป็นญาณที่ทำกิจอนุโลมให้เห็นอริยสัจทั้ง 4 เพราะสัจจญาณ และ กิจจญาณมีอานุภาพสูงสุดที่ญาณนี้
13.โคตรภูญาณ เป็นญาณที่ทำกิจข้ามโครตที่เกิดในมรรควิถีหน่วงนำเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้เป็นครั้งแรกทั้งที่จิตเป็นโลกิยะอยู่ด้วยความพร้อมเพียงแห่งสัจจญาณ และกิจจญาณ เพื่อเปิดโอกาสให้กตญาณทำกิจได้ในมรรคญาณนั่นเอง
14.มรรคญาณ เป็นชื่อของปัญญาที่เกิดในมัคคจิต กระทำกิจอริยสัจจ์ 4 ให้สมบูรณ์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ จิตเป็นโลกุตตรเพราะปหานกิเลสได้เด็ดขาด
15.ผลญาณ เป็นชื่อของปัญญาที่เกิดในผลจิต เป็นโลกุตตรจิตที่เสวยวิมุตติสุข จะเกิด 2-3 ขณะ เกิดถัดจากมัคคจิตโดยไม่มีระหว่างคั่น
16.ปัจจเวกขณญาณ เป็นปัญญาที่พิจารณามรรค, ผล, นิพพาน, กิเลสที่ละได้แล้ว, กิเลสที่ยังเหลืออยู่ เป็นญาณโลกิยญาณที่เกิดต่อจากมัคควิถี
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ