สมภพ สงวนพานิช
สารัตถินี_บาฬีมีสาระ
..
ในพระสูตรที่ชื่อว่า ปธานสูตร ที่เรานำเสนอไว้ครั้งหนึ่ง ก็ในพระสูตรนั้น ทรงย้ำว่า ความเพียรของบรรพชิต เพื่อพระนิพพานอันเป็นธรรมสลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นของยากยิ่งกว่าของคฤหัสถ์ที่จะต้องพยายามสละปัจจัย ๔ ออกบริจาคนั้น
ข้อความนี้มาจากคำบาฬีว่า สพฺพูปธินิสฺสคฺค
ซึ่งข้อความนี้สามารถแปลได้ ๒ กรณี คือ
๑. “ความสลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวง”
นี้เป็นคำแปลในพระไตรปิฎกภาษาไทยทุกฉบับ
เราอ่านบาฬีแล้วก็ต้องไปอ่านคำอธิบายของอรรถกถาและฏีกา ก็เห็นว่ามีคำแปลได้อีกอย่างหนึ่ง คือ
๒. “นิพพานอันเป็นธรรมเที่สลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวง”
จะเห็นได้ว่า แม้ความหมายน่าจะเป็นอันเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาว่า ใครแปลผิดหรือถูก แต่ขึ้นอยู่ที่ว่า ถ้าแปลตามมติของโบราณาจารย์ กล่าวคือ อรรถกถาและฏีกา ได้หรือไม่
แต่เราเลือกแปลตามมติของโบราณาจารย์ไว้ก่อน
จะนำเสนอคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์มาเล่าให้เพื่อนๆฟัง ดังนี้ครับ
..
คำบาฬีว่า สพฺพูปธินิสฺสคฺค ซึ่งเป็นคำประสมชนิดสมาส ที่มีคำย่อยๆอยู่ ๒ คำคือ สพฺพ ทั้งหมด + อุปธิ + นิสฺสคฺค ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีความหมายเท่ากับนิพพานนั่นเอง เพราะนิพพานเป็นที่สลัดคือทิ้งอุปธิทั้งปวงไป
เพราะฉะนั้น คำที่ควรใส่ใจคือ อุปธิ และ นิสฺสคฺค อีกทั้งความหมายที่ทำให้คำนี้บ่งถึงพระนิพพาน เราจะเล่าโดยสังเขปเท่านั้น
อุปธิ คือ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาและทุกข์ มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ
กามูปธิ ขันธูปธิ กิเลสูปธิ และอภิสังขารูปธิ
กามูปธิ อุปธิคือกาม ก็กามคุณทั้ืงหลาย ชื่อว่า อุปธิ เพราะสุข ย่อมตั้งอยู่ในกามทั้งหลายนี้ โดยความเป็นที่ตั้งแต่แห่งสุข และ ทุกข์อันมีความยินดีในกามเป็นนิมิต ดังพระบาฬีนี้ว่า
ยํ ปญฺจ กามคุเณ ปฏิจฺจ อุปฺปชฺชติ สุขํ โสมนสฺสํ, อยํ กามานํ อสฺสาโท
สุข และโสมนัส ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณห้า อันใด, สุขและโสมนัสนี้ ชื่อว่า ความน่ายินดีแห่งกามทั้งหลาย
ความจริงแล้ว กามหาได้เป็นที่ตั้งของความสุข ควรทราบว่า การที่คัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า เป็นที่อาศัยอยู่ของความสุข ก็มุ่งจะอธิบายความในคาถาของเทวดานั้น แต่ขึ้นชื่อว่า กาม หาได้เป็นสุขไม่ เพราะสังขตธรรมทั้งหลาย เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ คำว่า กามูปธิ ที่แท้แล้ว ต้องแปลว่า ที่ตั้งแห่งทุกข์ คือ ความเศร้าโศกในภายหลัง หากกามนั้นสูญเสียไป ดังบาฬีว่า
ตสฺส เจ กามยมานสฺส ฉนฺทชาตสฺส ชนฺตุโน
เต กามา ปริหายนฺติ สลุลวิทฺโธว รุปฺปติ
(กามสุตฺต ขุ.สุ.๒๕/๔๐๘)
หากว่าสัตว์นั้นมีความรักใคร่มีความพอใจเกิดแล้ว
กามเหล่านั้นย่อมยังเขาให้ย่อยยับไป
เหมือนบุคคลถูกลูกศรแทงแล้วย่อมพินาศ ฉะนั้น.
...
ขันธูปธิ อุปธิคือขันธ์. แม้ขันธ์ เป็นอุปธิ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ที่มีขันธ์เป็นมูล
กิเลสูปธิ อุปธิคือกิเลส กิเลสเรียกว่า อุปธิ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ในอบาย
อภิสังขารูปธิ อุปธิคืออภิสังขาร อภิสังขาร กล่าวคือ กุศลเจตนและอกุศลเจตนา เป็นอุปธิ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์อันมีภพเป็นมูล.
ก็เพราะ ในพระนิพพานเท่านั้น จึงจะมีการละอุปธิกล่าวคือ กามคุณ กิเลส อภิสังขาร และขันธ์ ได้อย่างเด็ดขาด ไม่สามารถเป็นที่ตั้งแห่งสุขและทุกข์ได้อีก เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระนิพพาน ไว้โดยชื่อว่า สัพพูปธิปฏินิสสัคคะ สมดังข้อความที่พระอรรถกถาจารย์แลฏีกาจารย์อธิบายไว้ว่า
สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺคตฺถาย ปธานนฺติ สพฺเพสํ ขนฺธูปธิกิเลสูปธิอภิสงฺขารูปธิสงฺขาตานํ อุปธีนํ ปฏินิสฺสคฺคสงฺขาตสฺส นิพฺพานสฺส อตฺถาย วิปสฺสนาย เจว มคฺเคน จ สหชาตวีริยํฯ (อัง.ปัญจก.อฏฺ.๒ ปธานสุตฺตวณฺณา)
ความเพียร เพื่อประโยชน์แก่ธรรมเป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง ได้แก่ ความเพียรที่เกิดขึ้นพร้อมกับวิปัสนาและมรรค เพื่อประโยชน์แก่นิพพาน กล่าวคือ ธรรมเป็นที่ตัดขาดซึ่งอุปธิคือขันธ์ กิเลสและอภิสังขาร.
...
สพฺเพสํ อุปธีนํ ปฏินิสฺสคฺโค ปหานํ เอตฺถาติ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺคํ, นิพฺพานํฯ เตนาห ‘‘สพฺเพสํ ขนฺธูปธิ…เป.… นิพฺพานสฺส อตฺถายา’’ติฯ (อัง.ปัญจก.ฏี.๒ ปธานสุตฺตวณฺณา)
การสละได้เด็ดขาด การละซึ่งอุปธิทั้งปวง ในธรรมนี้ มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ธรรมนี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตัดขาดซึ่งอุปธิทั้งปวง ได้แก่ พระนิพพาน.
...
พอสรุปได้ว่า นิพพาน ชื่อว่า สพฺพูปธินิสสคฺค เพราะตัดขาด สละคืน ซึ่งอุปธิทั้งหมด ซึ่งมี ๔ ประการมีกามูปธิเป็นต้น, ก็พระนิพพานนั้น สัตว์ทั้งหลายเมื่อมา คือมาถึงโดยบรรลุด้วยทำให้แจ้ง อุปธิเหล่านั้น ย่อมถูกละขาดไป ดังนั้น นิพพาน จึงชื่อว่า ธรรมเป็นที่สลัดออกซึ่งอุปธิทั้งหมด
ด้วยคำอธิบายของพระอรรถกถาและฏีกา จึงเป็นอันว่า คำนี้ ไม่ใช่แปลเป็นภาวสาธนะว่า ความละซึ่งอุปธิทั้งปวง แต่ควรแปลเป็นอธิกรณสาธนะว่า พระนิพพานอันเป็นที่ละอุปธิทั้งปวง
...
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ