สาระจากพระสูตร
...
พยสนสูตร (สัมปทาสูตร)
ความพินาศ ๕ และความบริบูรณ์ ๕
(อัง.ปัญจก.๒๒/๑๓๐)
...
ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกความเสื่อมด้วยคำบาฬีว่า พฺยสน ไว้ ๕ ประการ คือ
๑. ญาติพยสนะ (ญาติพฺยสนํ) ความเสื่อมจากญาติ
๒. โภคพยสนะ (โภคพฺยสนํ) ความเสื่อมจากทรัพย์สมบัติใช้สอย
๓. โรคพยสนะ (โรคพฺยสนํ) ความเสื่อมเพราะโรค
๔. สีลพยสนะ (สีลพฺยสนํ) ความเสื่อมจากศีล
๕. ทิฏฐิพยสนะ (ทิฏฺฐิพฺยสนํ) ความเสื่อมแห่งความเห็นที่ถูกต้อง (คือมีความเห็นผิด)
ตรัสความบริบูรณ์ ความถึงพร้อมหรือบริบูรณ์ด้วยคำบาฬีว่า สมฺปทา ไว้ ๕ ประการ คือ
๑. ญาติสัมปทา (ความสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยญาติ)
๒. โภคสัมปทา (ความสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติใช้สอย)
๓. สมบัติคือความไม่มีโรค (ความสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความไม่มีโรค)
๔. สมบัติคือศีล (ความสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยศีล)
๕. สมบัติคือทิฏฐิ (ความสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความเห็นถูก)
...
บรรดาสองคำนี้
คำบาฬีว่า สมฺปทา เราท่านพบเห็นบ่อยกว่า เพราะพระไตรปิฎกแปลมักจะใช้คำนี้ทับศัพท์เสมอ หรือไม่ก็แปลตามศัพท์ว่า ความถึงพร้อม เช่น สัทธาสัมปทา, ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา สีลสัมปทา,ความถึงพร้อมด้วยศีล จาคสัมปทา, ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค เป็นต้น ส่วนความหมายที่ขยายความก็คือ ความบริบูรณ์ (ปาริปูรี) ความมีมาก (พหุภาโว) เพราะฉะนั้น คำว่า สีลสัมปทา เป็นต้นนั้น ก็คือ ความบริบูรณ์ด้วยศีล หรือ สัทธาสัมปทา ความมีมากด้วยศรัทธา นั่นเอง
แต่คำบาฬีว่า พฺยสน มักแปลว่า ความเสื่อม, ความพินาศ มากกว่า เช่น ญาติพฺยสนํ ก็แปลว่า ความเสื่อมญาติ ที่แปลทับศัพท์ว่า พยสน เป็น ญาติพยสนะ ก็มี แต่น้อย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเล่าที่มาของคำว่า พฺยสน ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ต่างๆ พอเป็นมุข เป็นแนวทางให้เข้าใจคำแปลทับศัพท์
ศัพท์ในภาษาบาฬี ประกอบรูปขึ้นจากอักษร ๓ ส่วนด้วยกัน คือ
อุปสัค เป็นส่วนหน้าสำหรับขยายความเนื้อความหลัก
ธาตุ เป็นรากศัพท์ หรือ เนื้อความหลัก ที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุงรูปตามกระบวนการของไวยากรณ์
ปัจจัยที่ลงท้ายธาตุนั้น เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้ทำ, ผู้ถูกทำหรือแม้แต่กิริยาอาการเป็นต้น
ด้วยอักษร ๓ ส่วน ดังกล่าวมานี้ พฺยสน (พยสนะ) นี้ จึงแยกศัพท์ออกเป็น
(๑) อุปสัค คือ วิ
(๒) ธาตุ คือ อสุ
(๓) ปัจจัย คือ ยุ
ซึ่งแต่ละส่วนนั้นมีความหมายดังนี้ คือ
วิ อุปสัค มีความหมายว่า วิเสส (พิเศษ, เฉพาะ, แปลกไป)
อสุ (หรือ อส) ธาตุ มีความหมายว่า ขิปน ซัด,เหวี่ยง,ยิง,พุ่งไป,ขว้างไป
ยุ ปัจจัย แสดงความเป็นเพียงกิริยาอาการว่า การซัดไป ของรูปที่สำเร็จลงแล้ว
เรากล่าวรวบรัดข้ามระบบไวยากรณ์ ดังนี้ว่า วิ เป็น พฺย + อสุ เป็น อสฺ + ยุ เป็น อน เมื่อนำสามส่วนนี้มาเรียงต่อกันจึงได้รูปคำว่า พฺยสน มีความหมายตามศัพท์ว่า การเหวี่ยงไปโดยพิเศษ ซึ่งก็หมายถึง การละทิ้งไปนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงแปลว่า ความเสื่อมพินาศไป
เมื่อประกอบรูปเป็น พฺยสนํ แล้ว จะมีความหมายหรือคำจำกัดความโดยย่อ เรียกว่า รูปวิเคราะห์ ดังนี้
วิยสฺสตีติ พฺยสนํ, หิตสุขํ ขิปติ วิทฺธํเสตีติ อตฺโถฯ
ธรรมชาติที่เหวี่ยงทิ้ง คือ ซัดไป ทำลายเสีย ซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ชื่อว่า พฺยสนํ
(ที.ปา.อฏฺ.๓๑๖ เป็นต้น)
...
คัมภีร์สัททนีติ ธาตุมาลา ได้แสดงความหมายของคำนี้ไว้ดังนี้ว่า
คำนี้ออกจาก อสุ ธาตุ ในความหมายว่า เขป คือ การขว้าง, พุ่ง, ยิง, ซัด,เหวียง แต่สื่อความหมายได้ว่า ฉฑฺฑน ทิ้งไป หรือ สละทิ้งไป ซึ่งประกอบรูปศัพท์ได้ว่า อสฺสติ สละทิ้งไป
มีตัวอย่างการใช้คำนี้ว่า
นิรสฺสติ อาทิยติ จ ธมฺมํ
ย่อมสละธรรมบ้าง ยึดถือธรรมบ้าง
ข้อความนี้มีอรรถาธิบายว่า
ย่อมละทิ้งพระศาสดาและผู้กล่าวธรรม เป็นต้น.
(นีติ.ธาตุ.แปล อสุ เขป ฉบับมหาจุฬา)
...
จากรากศัพท์และความหมายที่ประสงค์เอา ก็สรุปได้ว่า พฺยสน มีความหมายว่า ละทิ้ง (ฉฑฺเฑติ) ซึ่งถือเอาความได้ว่า ความไม่มี, พินาศ, ทำลายไป ด้วยเหตุนี้ ในคัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา คาถาที่ ๘๙๐ จึงแสดง พฺยสน ศัพท์ไว้ ๓ ความหมาย คือ
(๑) กามเช โทเส ในโทษอันเกิดเพราะความอยาก
(๒) โกปเช โทเส ในโทษอันเกิดเพราะความโกรธ
(๓) วิปตฺติยํ ในความวิบัติ
ซึ่งที่เรากล่าวถึงในที่นี้ ความหมายว่า วิปตฺติ วิบัติ, เสื่อม, เสียหาย นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในคาถาที่ ๘๙ แห่งคัมภีร์นั้น ยังแสดงความหมายอื่นไว้ คือ ความทุกข์, ความลำบาก ร่วมกับศัพท์อื่นๆ อีก ๕ ศัพท์ คือ ทุกฺข, กสิร, กิจฺฉ, นีฆ, อฆ รวมเป็น ๖ ศัพท์ แต่ความหมายนี้ ไม่ประสงค์เอาในที่นี้
...
ในคัมภีร์อรรถกถาและฏีกา กล่าวถึงความหมายของศัพท์นี้ไว้ด้วยศัพท์อื่นๆ ก็มี เช่น
(๑) พฺยสนํ มีความหมายเท่ากับ วินาโส แปลว่า พินาศ และศัพท์อื่นๆอีกที่มีความหมายว่า ทำลาย คือ อสนํ ทิ้งไป, วิกฺเขป ซัดทิ้งไป, วิทฺธํสนํ ทำลายไป โดยสภาพแล้ว พฺยสน ได้แก่ ธรรมชาติที่ละทิ้ง คือ ทำลาย ซึ่งประโยชน์และความสุข ดังคัมภีร์อรรถกถา กล่าวไว้ว่า
พฺยสนนฺติ วิอสนํ, วินาโสติ อตฺโถฯ
(สํ.นิทาน.อฏฺ.๑๒๖ อสฺสุตฺตสุตฺตวณฺณนา)
บทว่า พฺยสน ตัดบทว่า วิอสนํ การเหวี่ยงไป ความหมายคือ วินาโส พินาศ
วิอสนนฺติ วิเสเสน เขปนํฯ กิํ ปน ตนฺติ อาห ‘‘วินาโสติ อตฺโถ’’ติฯ (ตฏฺฏีกา)
บทว่า วิอสนํ คือ วิเสเสน เขปนํ การเหวี่ยงไปอย่างพิเศษ, ก็ วิอสนํ นั้น ความเป็นเช่นไร พระอรรถกถาจารย์จึงตอบว่า วินาโส ความพินาศ
...
ญาติพฺยสเนนปีติ เอตฺถ อสนํ พฺยสนํ วิกฺเขโป วิทฺธํสนํ วินาโสติ สพฺพเมตํ เอกตฺถํฯ
(วิ.อฏฺ.๑/๔๓-๔๔.วชฺชิปุตฺตกวตฺถุวณฺณนา)
ในคำบาฬีว่า ญาติพฺยเนนปิ นี้ คำเหล่านี้ทั้งหมดคือ อสนํ, พฺยสนํ, วิกฺเขโป, วิทฺธํสนํ, วินาโส มีความหมายเดียวกัน
...
วิยสตีติ พฺยสนํ, หิตสุขํ ขิปติ วิทฺธํเสตีติ อตฺโถฯ (ปฏิสํ.อฏฺ. ๓๓โสกนิทฺเทสวณฺณนา)
บาฬีที่ว่า พฺยสนํ วิเคราะห์ว่า วิยสติ ธรรมชาติที่เหวี่ยงทิ้ง, ความหมายคือ ซัดไป ทำลายซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุข.
...
(๒) พฺยสน มีความหมายเท่ากับ อนตฺถ สิ่งอันมิใช่ประโยชน์
...
จากหลักฐานดังกล่าวมานั้น
เราสรุปความหมายแบบเข้าใจได้เลยว่า
พฺยสน คือ เรื่องหรือสถานการณ์หรือสภาพการณ์ที่ไม่มีประโยชน์ ทั้งทำประโยชน์และความสุขให้พินาศไป ได้แก่ ความพินาศ
ก็ พฺยสน อันมีความหมายว่า ความพินาศ ที่หาประโยชน์มิได้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ๕ ประการ ด้วยกัน คือ
ญาติพยสนะ (ญาติพฺยสนํ) ความเสื่อมญาติ
โภคพยสนะ (โภคพฺยสนํ) ความเสื่อมแห่งของกินของใช้สอย
โรคพยสนะ (โรคพฺยสนํ) ความเสื่อมคือโรค
สีลพยสนะ (สีลพฺยสนํ) ความเสื่อมแห่งศีล
ทิฏฐิพยสนะ (ทิฏฺฐิพฺยสนํ) ความเสื่อมคือมิจฉาทิฏฐิที่ทำลายสัมมาทิฏฐิ
....
ก็ พยสนะทั้ง ๕ นี้ มากระทบผู้ใด เขานั้นจึงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จึงกล่าวได้ว่า เป็นเหตุแห่งความโศก (โสก),ความคร่ำครวญ (ปริเทว), ความรำพัน (อุปายาส) ดังข้อความส่วนหนึ่งในพระบาฬีวิภังค์ อภิธรรมปิฎก ความว่า
ตตฺถ กตโม โสโก? ญาติพฺยสเนน วา ผุฏฺฐสฺส โภคพฺยสเนน วา ผุฏฺฐสฺส โรคพฺยสเนน วา ผุฏฺฐสฺส สีลพฺยสเนน วา ผุฏฺฐสฺส ทิฏฺฐิพฺยสเนน วา ผุฏฺฐสฺส อญฺญตรญฺญตเรน พฺยสเน. (แม้ในปริเทวนิทเทสและอุปายาสนิทเทสก็มีนัยนี้) อภิ.วิ.๓๓/๑๖๔
ในทุกขอริยสัจนั้น โสกะ เป็นไฉน
ความโศกของบุคคล ผู้ถูกความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความเสื่อมแห่งสมบัติกระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความเสื่อมคือโรคกระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความเสื่อมแห่งศีลกระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความเสื่อมแห่งทิฏฐิกระทบเข้าก็ดี ผู้ประจวบกับความเสื่อมอื่น ๆ ก็ดี ผู้ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่น ๆ กระทบเข้าก็ดี นี้เรียกว่าโสกะ
...
ด้วยเหตุนี้ แม้พยสนะจึงเป็นชื่อของความทุกข์ โดยเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น ดังที่คัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกาได้แสดงว่าเป็นชื่อของความทุกข์ร่วมกับศัพท์อื่นๆ อีก ๕ ศัพท์ อีกด้วย (ธาน.๘๙- ทุกฺขญฺจ กสิรํ กิจฺฉํ, นีโฆ จ พฺยสนํ อฆํ ความทุกข์, ความลำบาก ๖ ศัพท์ คือ ทุกฺข, กสิร, กิจฺฉ, นีฆ, อฆ, พฺยสน)
...
ก็ พยสนะ ๕ มีความหมายว่า อย่างไร
อรรถกถาทั้งหลาย พรรณนาความว่า
พฺยสตีติ พฺยสนํ, (บางแห่งเป็น วิอสติ, วิยสติ)
พยสนะ คือ สภาวะซัดไป ความหมายคือ กำจัดประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
(หิตสุข นี้ หิตะ หมายถึง เหตุของความสุข ดังคัมภีร์วิภังคมูลฏีกาแสดงไว้ว่า
สุขการณํ หิตํ, ตสฺส ผลํ สุขํฯ (วิภงฺค.มูล.๑๙๔)
หิตะ คือ เหตุของความสุข, ความสุข เป็นผลของหิตะ นั้น
หิต ศัพท์ มีรูปวิเคราะห์ว่า
สุขํ หิโนติ ปวตฺตติ เอเตนาติ สุขการณํ หิตํ
หิตะ คือ ธรรมชาติที่ทำให้ความสุขดำเนินไป คือ เหตุแห่งความสุข (วิภงฺ.อนุ๑๙๔)
อย่างไรก็ตาม หิต ศัพท์ นิยมแปลว่า ประโยชน์เกื้อกูล จึงถือเอาความได้ว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ความสุข
อนึ่ง ในพระบาฬีก็มีคำว่า หิตสุข นี้เช่นกัน เช่น ในลกฺขณสุตฺต ที.ปา.๑๑/๑๑๔๑, นาลกสุตฺต ขุ.สุ.๒๕/๓๘๘ เป็นต้น.)
๑.ญาติพยสนะ หมายถึง ความเสื่อมแห่งญาติ (ญาตีนํ พฺยสนํ ญาติพฺยสนํ) หมายถึง ความสิ้นญาติ (ญาติกฺขย) ความพินาศแห่งญาติ ความพินาศแห่งญาติ (ญาติวินาส) เพราะประสบกับโจรภัยและโรคเป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงมรณภัยด้วย
๒. โภคพยสนะ คือ ความเสื่อมแห่งโภคะ, ความสิ้นโภคะ, ความพินาศแห่งโภคะ เพราะประสบราชภัย (ถูกปรับ, ริบ) และโจรภัยเป็นต้น
ก็ ของใช้ของกิน เช่น มีข้าวน้ำผ้ายานเป็นต้น ซึ่งท่านเรียกโดยรวมๆว่า โภคะ อนฺนปานวตฺถยานาทิ ปริภุญฺชิตพฺพโต โภโคติ อธิปฺเปโต, โส จ ธมฺมสมูหภาเวนฯ (วิภงฺค.อนุ.)
๓. โรคพยสนะ คือ ความเสื่อมคือโรค หรือความเสื่อมอันเป็นโรค ซึ่งทำความไม่มีโรคให้พินาศไป.
๔. สีลพยสนะ ความเสื่อมไปแห่งศีล หมายถึง ความเป็นผู้ทุศีล
๕. ทิฏฐิพยสนะ ความเสื่อมคือมิจฉาทิฏฐิ ที่เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกให้พินาศไป
...
บรรดาพยสนะ ๕ นี้
พยสนะ ๒ อย่างแรก คือ ญาติพยสนะ และ โภคพยสนะ ไม่มีสภาวปรมัตถ์ เพราะเป็นเพียงบัญญัติที่เรียกชื่อโดยอาศัยความพินาศแห่งญาติและโภคะ
ส่วนพยสนะ ๓ อย่างหลัง คือ โรคพยสนะ สีลพยสนะ และทิฏฐิพยสนะ เป็นความเสื่อมที่มีสภาวปรมัตถ์ คือ เป็นความเสื่อมที่มีอยู่จริง จัดเป็นกลุ่มขันธ์ ๕ (ขันธปัญจกะ) ประเภทสำเร็จหรือเกิดขึ้นจากสมุฏฐาน ๔ มีกรรมเป็นต้น
จริงอย่างนั้น โรค ย่อมทำให้ความไม่มีโรคพินาศไป, ศีลทำศีลให้พินาศไป, ทิฏฐิทำความเห็นถูกให้พินาศไป จึงเรียกว่า ความเสื่อมคือโรค เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ พยสนะ ๓ นี้ จึงจัดเป็นกลุ่มธรรมมีสภาวปรมัตถ์รับรอง สามารถยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์เจริญวิปัสนากัมมัฏฐานได้
(หมายเหตุ ในอรรถกถาเรียก นิปผันนะ และในอนุฏีกาอธิบายว่า ได้แก่ ขนฺธปญฺจก ที่สำเร็จคือเกิดจากปัจจัยหรือสมุฏฐาน อันได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร โดยตรง มีสภาวลักษณะของมันเอง มี ๑๘ สามารถยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้ จัดเป็นรูปขันธ์ ต่างจาก ญาติ และ โภคะ หาได้เป็นสภาวะไม่ เพราะเป็นบัญญัติเรียกชื่อ จากภาวะที่ญาติและโภคะนั้นเสื่อมไปเท่านั้น แต่โรคพยสนะ นี้ก็คือขันธ์ที่ถูกความเสื่อมคือโรคเบียดเบียน)
ส่วนญาติพยสนะและโภคพยสนะ ไม่มีสภาวปรมัตถ์รับรองเป็นเพียงบัญญัติที่สมมุติขึ้นจากความพินาศแห่งญาติและโภคะ จึงไม่อาจยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้
แต่เมื่อว่าโดยกุศลเป็นต้น พยสนะ ๓ อย่างแรก คือ ญาติพยสนะ โภคพยสนะ และโรคพยสนะ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล (เพราะเป็นอัพยกตะ ประเภทวิบาก) ส่วน ๒ อย่างหลัง คือ ศีลพยสนะ และทิฏฐิพยสนะ เป็นอกุศล เหตุที่มีสภาวะเศร้าหมองและทำให้เร่าร้อนในภายหลัง
...
เมื่อกล่าวถึงพยสนะแล้ว สัมปทา ก็มีอรรถาธิบายเหมือนกับพยสนะ เพราะสามารถถือเอาโดยนัยตรงข้าม ดังนี้
สัมปทา คือ ความบริบูรณ์ มาจากคำบาฬีว่า สมฺปทา ประกอบรูปศัพท์จากสามส่วน เช่นกัน คือ
สํ อุปสัค = พร้อม
ปท ธาตุ = ถึง
อ ปัจจัย
สามคำรวมเป็น สมฺปทา แปลว่า ความถึงพร้อม, ความหมายคือ บริบูรณ์ (ปาริปูรี), มีมาก (พหุภาว), พรั่งพร้อมด้วยคุณทั้งหลาย (คุเณหิ สมิทฺธภาว)
...
ความถึงพร้อมที่ตรัสไว้ ๕ ประการ มีญาติสัมปทาเป็นต้น คือ
๑. ความถึงพร้อมแห่งญาติ คือ ความมีญาติบริบูรณ์หรือมีญาติมาก
๒. ความถึงพร้อมแห่งโภคะ คือ ความมีโภคะบริบูรณ์หรือมีมาก
๓. ความถึงพร้อมแห่งความไม่มีโรค คือ ความไม่มีโรคอย่างบริบูรณ์ คือ ตลอดกาลนาน
๔.ความถึงพร้อมแห่งศีล คือ สมบูรณ์ด้วยศีล
๕. ทิฏฐิ ก็มีนัยเดียวกัน คือ สมบูรณ์ความเห็นถูก
บรรดาสัมปทา ๕ นั้น
ความถึงพร้อมแห่งญาติและความถึงพร้อมแห่งโภคะและความถึงพร้อมแห่งความไม่มีโรค ไม่ใช่เป็นกุศล ไม่เป็นทั้งอกุศล, ส่วนศีลและทิฏฐิสัมปทา เป็นกุศล
(เรียบเรียงจากอรรถกถาแและฏีกาสังคีติสูตร ที.ปา.อ.และที.ปา.ฏี.๓๑๖)
...
จบ สาระจากพระสูตร “พยสนสูตร” เพียงเท่านี้
ขออนุโมทนา
สมภพ สงวนพานิช
---------------
// ขอขอบคุณ อาจารย์สมภพ สงวนพานิช -
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ