การศึกษาเพื่อใช้งาน (๓)
---------------------
โอวาทปาติโมกข์วรรคแรก คือ “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” (สับ-พะ-ปา-ปัด-สะ อะ-กะ-ระ-นัง) แปลว่า “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง”
การไม่ทำความชั่วคืออะไร
การไม่ทำความชั่วก็คือการไม่ทำทุจริต
การไม่ทำความชั่วคือหัวใจของโอวาทปาติโมกข์ (เพราะยกขึ้นเป็นข้อแรก)
โอวาทปาติโมกข์คือหัวใจของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาคือพระธรรมวินัย
ที่ว่า “หัวใจของพระธรรมวินัยคือการไม่ทำทุจริต” มีที่มาที่ไปอย่างนี้
........................
การศึกษาของคณะสงฆ์คือการศึกษาพระธรรมวินัย
หัวใจของพระธรรมวินัยคือการไม่ทำทุจริต
การเรียนพระธรรมวินัยก็คือการเรียนวิธีไม่ทำทุจริต
แต่ผู้เรียนพระธรรมวินัยใช้วิธีทำทุจริตในการสอบเพื่อให้สอบได้ตามเกณฑ์
.........................................................
ทำทุจริตในการเรียนวิธีไม่ทำทุจริต
นี่เป็นความวิปริตสุดขั้วโลกจริง ๆ!!
.........................................................
เหตุผลมีเพียงอย่างเดียวคือ เพื่อให้จบการศึกษาตามเกณฑ์ที่กำหนด
เห็นหรือยังว่า อำนาจอิทธิพลของค่านิยม “ศึกษาเพื่อให้จบ” รุนแรงร้ายกาจขนาดไหน
ผู้ที่จบการศึกษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง
มีศักดิ์และสิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นจากวิธีที่ไม่ถูกต้อง
ได้รับสิทธิประโยชน์ไปแล้วและยังได้รับอยู่จากวุฒิการศึกษาที่จบมาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง
เชื่อได้ว่ายังมีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย
สรุปให้ชัด ๆ ก็คือ -
สมัยก่อน ศึกษาเพื่อใช้งาน
สมัยนี้ ศึกษาเพื่อให้จบ
จบเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์
เคยได้ฟังมาว่า เจ้าของกิจการบางแห่ง-หลายแห่ง เมื่อประกาศรับคนเข้าทำงาน
เขาไม่ได้ถามว่า คุณจบอะไรมา
แต่ถามว่า คุณทำอะไรเป็น
จบปริญญาเอกมา ไม่แน่ว่าจะทำงานเป็น
แต่ถ้าทำงานเป็น ไม่ได้จบอะไรเลยก็ทำงานได้แน่
นี่คือการเจาะทะลุเข้าไปถึงหัวใจของการศึกษา คือต้องการคนที่ศึกษาเพื่อใช้งาน ไม่ได้ต้องการคนที่ศึกษาเพื่อให้จบ จบเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์
สมัยก่อน เอาความรู้จากการศึกษาไปใช้งานจริง ๆ
สมัยนี้ เอาศักดิ์และสิทธิ์ไปสมัครงานหรือไปรับสิทธิ์ แต่ไม่ได้คิดถึงการเอาความรู้จากการศึกษาไปใช้งานจริง
การเรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทยที่กำลังเป็นไปอยู่ทุกวันนี้ก็ตกอยู่ในอิทธิพลนี้ด้วย
ผู้บริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ผ่านการศึกษาตามระบบ-ศึกษาเพื่อให้จบ ทั้งผู้เรียนก็เรียนด้วยความมุ่งหมาย-เรียนเพื่อให้จบ (จบ-เพื่อให้ได้สิทธิ์-ละไว้ฐานเข้าใจ)
เดิมทีเราเรียนบาลีเพื่อใช้งาน จบประโยคไหนไม่สำคัญ สำคัญที่มีความรู้พอใช้งานได้แล้วก็จับคัมภีร์ แปลคัมภีร์ก็มี ชำระคัมภีร์ก็มี
แต่พอเกิดการศึกษาตามระบบใหม่ เรียนวิชาต่าง ๆ ในฐานะเป็น “ศาสตร์” แขนงหนึ่ง เรียนจบก็ได้ศักดิ์และสิทธิ์ เราก็เอาการเรียนบาลีเข้าไปอยู่ในระบบใหม่ เรียนบาลีให้จบเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์เหมือนที่ชาวบ้านเขาเรียนวิชาการต่าง ๆ กันทั่วไป
ทิ้งความคิดที่จะเอาบาลีไปใช้งานหมดสิ้น
ฝรั่งเรียนบาลีทีหลังเรา แต่เขาเรียนเพื่อใช้งานจริง ๆ พอมีความรู้ก็ลงมือใช้งาน ทำงานบาลีทันที งานบาลีที่ฝรั่งทำจึงมีมากมาย
พจนานุกรมบาลีเล่มเดียวที่ฝรั่งทำก็นำหน้าเราไปไกลถึงไหน ๆ
เวลานี้ ถ้าสมมุติว่าทางการประกาศยกเลิกศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดจากการสอบบาลีได้ทั้งหมด เปรียญตรี-โท-เอกไม่นับเป็นวุฒิใด ๆ ประโยค ๙ ไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ใด ๆ อีกต่อไป
เชื่อได้เลยว่า นักเรียนบาลีจะหายวับไปกับตา
จะหาคนเรียนบาลีได้ยากที่สุด หรือหาไม่ได้อีกเลย
เราทิ้งการศึกษาเพื่อใช้งานไว้เบื้องหลัง และทิ้งห่างมาไกล จนไม่มีใครนึกถึงการศึกษาเพื่อใช้งานอีกต่อไปแล้ว และคิดไม่เห็นว่าจะต้องศึกษาเพื่อใช้งานไปทำไม ในเมื่อศึกษาเพื่อให้จบก็จะได้ศักดิ์และสิทธิ์เป็นประโยชน์เห็น ๆ อยู่ตรงหน้านี่แล้ว
อุปมาเหมือนตกอยู่ในบ่อแห่งค่านิยมแบบนี้ และไม่มีใครคิด- ไม่มีใครเห็นประโยชน์- ไม่มีใครเห็นความจำเป็น-ที่จะต้องปีนขึ้นจากบ่อ
เพราะฉะนั้น เมื่อขอให้เรากลับไปสู่การศึกษาเพื่อใช้งาน-ขอให้เรียนบาลีเพื่อใช้งาน --
จึงไม่มีใครขานรับ
ไม่มีใครเข้าใจ
และไม่มีใครเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น
เพราะเราเอาการเรียนบาลีไปขึ้นกับค่านิยม-ศึกษาเพื่อให้จบ จนเข้าใจไปว่า การศึกษาพระธรรมวินัย-รวมทั้งในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็คือศึกษาเพื่อให้จบ เพื่อให้ได้วุฒิตามเป้าหมายหรือตามระบบการศึกษาที่จัดกันอยู่ทั่วโลก
........................
ขอเชิญชวนให้ถอยไปตั้งหลักคิดอีกทีว่า บาลีคืออะไร
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗
๑๐:๕๓
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ