ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,293)


พหูสูต

พูดก็พอเนียน แต่พอเขียนก็เข้าป่าไปทุกที

คำว่า “พหูสูต” ถ้าฟังเสียงพูดหรืออ่านก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าให้เขียนเป็นตัวหนังสือ ส่วนมากจะสะกดผิด คือเขียนเป็น “พหูสูตร” -สูตร มี ร เรือด้วย 

อ้างกันว่า เคยมือ ติดตาติดมือมาจากคำว่า “สูตร” ทำนองเดียวกับว่า “นิมิต” (ไม่มี ร เรือ เป็นคำที่ถูกต้อง) คนก็มักเขียนเป็น “นิมิตร” (มี ร เรือ เป็นคำที่เขียนผิด) ก็อ้างกันว่า เคยมือมาจากคำว่า “มิตร”

โปรดช่วยกันจำไว้ “พหูสูตร” -สูตร มี ร เรือ เป็นคำที่เขียนผิด อย่าเขียนตาม

คำที่ถูกต้องคือ “พหูสูต” -สูต ไม่มี ร เรือ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“พหูสูต : (คำนาม) ผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก. (ป. พหุสฺสุต).”

ขยายความ :

“พหูสูต” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “พหุสฺสุต” อ่านว่า พะ-หุด-สุ-ตะ ประกอบขึ้นจาก พหุ + สุต 

(๑) “พหุ” 

บาลีอ่านว่า พะ-หุ รากศัพท์มาจาก พหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อุ ปัจจัย

: พหฺ + อุ = พหุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เจริญขึ้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มาก, หลาย, ใหญ่, ล้นเหลือ; อุดมสมบูรณ์; อย่างมาก, ยิ่งใหญ่ (much, many, large, abundant; plenty; very, greatly)

(๒) “สุต” 

บาลีอ่านว่า สุ-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ต ปัจจัย

: สุ + ต = สุต แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาฟังแล้ว”

“สุต” ในบาลีใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ -

(1) ได้ยิน; เรียนรู้; ได้ฟัง (heard; learned; taught) 

(2) มีชื่อเสียง (renowned) 

พหุ + สุต ซ้อน สฺ ระหว่างศัพท์ ที่ต้องเป็น สฺ เพราะศัพท์หลังขึ้นต้นด้วย ส และ ส ซ้อนตัวเองได้

: พหุ + สฺ + สุต = พหุสฺสุต แปลตามศัพท์ว่า “ได้ฟังมาก” หมายถึง มีความรู้มาก, พหูสูต, ได้สดับมาดี, คงแก่เรียน (having great knowledge, very learned, well-taught) 

แต่พึงทราบว่า “พหุสฺสุต” บางแห่งไม่ซ้อน สฺ สะกดเป็น “พหุสุต” ก็อาจมีได้

สังเกตเล่นเป็นความรู้ -

เฉพาะคำนี้

-หุสฺ- หรือ -หุ- ในบาลี เราเอามาแปลงเป็น -หู- : พหุสฺ > พหู

-สุ- ในบาลี เราเอามาแปลงเป็น -สู- : สุต > สูต

“พหุสฺสุต” (พหุสุต) ในบาลี จึงแปลงเป็น “พหูสูต” ในภาษาไทย

นอกจากจำเป็นคำ ๆ แล้ว การสังเกตอย่างนี้จะช่วยให้สะกดไม่ผิดได้ดียิ่งขึ้น

โปรดจำ “พหูสูต” ไม่ต้องมี ร เรือ 

ยังไม่เข้าป่า อย่าเข้า

ที่เข้าไปแล้ว พยายามหาทางออกจากป่า-อย่าเขียนผิดอีก

..............

ดูก่อนภราดา!

: ความรู้ที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ

: เหมือนรู้จักยาสารพัด แต่มีโรคเต็มตัว

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,พหูสูต

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.