ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,278)
ลหุภาโว
“ความเป็นคนผลุนผลัน” หมายความว่าอย่างไร
อ่านว่า ละ-หุ-พา-โว
ประกอบด้วยคำว่า ลหุ + ภาโว
(๑) “ลหุ”
อ่านว่า ละ-หุ รากศัพท์มาจาก ลงฺฆฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลบ งฺ แล้วแปลง ฆฺ เป็น หฺ (ลงฺฆฺ > ลฆฺ > ลหฺ)
: ลงฺฆฺ + อุ = ลงฺฆุ > ลฆุ > ลหุ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นไปอย่างเบา” หมายถึง เบา, เร็ว (light, quick)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ลหุ : (คำวิเศษณ์) เบา; เร็ว, ฉับไว; ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น จะ มิ ดุ, ใช้เครื่องหมาย (สระ อุ) แทน, คู่กับ ครุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน.”
(๒) “ภาโว”
รูปคำเดิมเป็น “ภาว” อ่านว่า พา-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลว่า ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”
ลหุ + ภาว = ลหุภาว (ละ-หุ-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นสิ่งที่เบา” “ความเป็นผู้เบา” หรือ “ความเบา”
“ลหุภาว” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ลหุภาโว”
ขยายความ :
คำว่า “ลหุภาโว” ที่นักเรียนบาลีรู้จักกันดีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 เรื่องพระโลฬุทายี (โลฬุทายิตฺเถรวตฺถุ เรื่องที่ 124 ชราวรรค)
พระโลฬุทายีเป็นพระที่มักสวดมนต์ผิดงานอยู่เรื่อย เช่นงานมงคลสวดบทอวมงคล งานอวมงคลสวดบทมงคล พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อชาติก่อนพระโลฬุทายีก็พูดผิด ๆ ถูก ๆ แบบนี้มาแล้ว แล้วตรัสเล่าอดีตชาติ
เรื่องในอดีตชาติ พระโลฬุทายีเป็นพ่อ พระพุทธเจ้าเป็นลูก ลูกชายรับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระราชา พ่อทำนา อยู่มาวัวที่ใช้ไถนาซึ่งมีอยู่ 2 ตัวตายไปตัวหนึ่ง พ่อบอกให้ลูกไปทูลขอวัวกับพระเจ้าแผ่นดิน
ลูกมีเหตุผลบางประการ บอกว่าพ่อควรไปทูลขอด้วยตัวเอง แล้วก็ซักซ้อมระเบียบการเข้าเฝ้า ฝึกคำพูดกราบทูลให้พ่อ เนื่องจากพ่อหัวทึบหน่อยต้องใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งปีหนึ่งจนพอจะแน่ใจว่าสามารถเข้าเฝ้ากราบทูลขอวัวได้
เหตุผลของลูกที่ไม่ทูลขอวัวให้พ่อปรากฏอยู่ในข้อความที่เป็นความคิดของลูก ดังนี้
...........................
โสมทตฺโต "สจาหํ ราชานํ ยาจิสฺสามิ, ลหุภาโว เม ปญฺญายิสฺสตีติ จินฺเตตฺวา ...
โสมทัต (คือลูก) คิดว่า “ถ้าเราจักขอพระราชทานไซร้ ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา”
...........................
“ลหุภาโว เม ปญฺญายิสฺสติ”
แปลตามสำนวนแปลเดิมว่า “ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา”
“ความเป็นคนผลุนผลัน” คำบาลีว่า “ลหุภาโว” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นคนเบา” หมายถึง มีใจเบา, เบาความคิด, ไม่ใช้ความคิดในเรื่องสำคัญ (light-minded)
พิจารณาในเรื่องพ่อ-ลูกที่พระพุทธองค์ตรัสเล่า “ลหุภาโว” ก็คือ ความเห็นแก่แต่จะได้ คือจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนลืมนึกถึงความควรไม่ควร
ลูกเกรงว่า สังคมจะมองอย่างนั้น (ลหุภาโว เม ปญฺญายิสฺสติ = ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา) จึงไม่ยอมทูลขอวัว แต่ให้พ่อไปทูลขอเอง
ผลของการที่พ่อเข้าเฝ้าทูลขอวัวเองเป็นอย่างไร ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ว่า -
วันเข้าเฝ้า ลูกไปอยู่ในที่เฝ้าก่อนตามตำแหน่งหน้าที่ ถึงเวลาพ่อก็เข้าเฝ้าตามระเบียบที่ซักซ้อมไว้
คำกราบทูลตามที่ซักซ้อมไว้เป็นดังนี้ -
...........................
เทฺว เม โคณา มหาราช เยหิ เขตฺตํ กสาม เส
เตสุ เอโก มโต เทว ทุติยํ เทหิ ขตฺติย.
ขอเดชะ
โคสำหรับไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว
ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งล้มเสียแล้ว
ขอสมมุติเทพจงพระราชทานตัวที่ ๒ เถิดพระเจ้าข้า
...........................
แต่ครั้นถึงเวลากราบทูลจริง พ่อกลับกราบทูลไปเสียอีกอย่างหนึ่ง
คำกราบทูลจริงเป็นดังนี้ -
...........................
เทฺว เม โคณา มหาราช
เยหิ เขตฺตํ กสาม เส
เตสุ เอโก มโต เทว
ทุติยํ คณฺห ขตฺติย.
ขอเดชะ
โคสำหรับไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว
ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งล้มเสียแล้ว
ขอสมมุติเทพจงทรงรับเอาตัวที่ ๒ มาเสียเถิดพระเจ้าข้า
...........................
แทนที่จะทูลขอโค กลับทูลถวายโค
พระราชารู้ว่าตาพ่อพูดผิด ตรัสให้พูดใหม่ ก็ยังพูดผิดเหมือนเดิม จึงทรงเย้าไปทางลูกว่า ที่บ้านมีวัวมากหรือ
ลูกมีปฏิภาณดีกราบทูลว่า ถ้าพระราชทานไปก็จะมีมากพระเจ้าข้า
คำตอบนี้พระราชาทรงโปรดมาก พระราชทานวัว ๑๖ ตัว มากกว่าที่ขอหลายเท่า นอกจากนี้ยังพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ อีกมาก
พ่อมาเป็นพระโลฬุทายี ลูกมาเป็นพระพุทธเจ้า
เรื่องนี้น่าขบขันในความเขลาของผู้เป็นพ่อ น่าชมปฏิภาณของผู้เป็นลูก แต่ที่ควรชมเป็นพิเศษก็คือ หลักการครองตนของผู้อยู่ใกล้ชิดนายและเป็นคนโปรดของนาย
เท่าที่ประพฤติกันทั่วไป คนประเภทนี้มักอาศัยอำนาจหรือบารมีของนายแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันอย่างเต็มที่
ความประพฤติเช่นนี้ท่านเรียกว่า “ลหุภาโว” = “ความเป็นคนผลุนผลัน” คือความเห็นแก่แต่จะได้จะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนลืมนึกถึงความควรไม่ควร
..............
ศึกษาเรื่องพระโลฬุทายีในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=21&p=7
..............
ดูก่อนภราดา!
: ยอมอด มักจะได้
: เห็นแก่ได้ มักจะอด
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ