ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,296)


บาลีไม่มีสิบเก้า

ไม่เรียนบาลีไม่มีวันรู้

ภาษาบาลีไม่มีตัวเลขใช้ในการนับ แต่ใช้คำบอกจำนวน เรียกว่า “สังขยา” 

“สังขยา” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺขฺยา” ออกเสียงว่า สัง-เคีย ภาษาไทยออกเสียงว่า สัง-ขะ-หฺยา เหมือนชื่อขนมชนิดหนึ่ง

“สังขยา” คำบอกจำนวนในภาษาบาลีมี 2 อย่าง คือ -

1 “ปกติสังขยา” แปลว่า “นับตามปกติ” คือนับเรียงตัวไปตามจำนวน เช่น เอก ทฺวิ ติ จตุ ปญฺจ ... 1 2 3 4 5 ... = ระบุจำนวนหมดทั้ง 5

2 “ปูรณสังขยา” แปลว่า “นับจำนวนที่ครบ” คือนับเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ เช่น ปฐม ทุติย ตติย จตุตฺถ ปญฺจม ...ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ... = ระบุเฉพาะลำดับที่นับลำดับเดียว

ตัวอย่างเช่นนับว่า “สิบสามวัน” อย่างนี้คือปกติสังขยา = ทั้ง 13 วันรวมอยู่ในการนับ

แต่ถ้านับว่า “วันที่สิบสาม” อย่างนี้คือปูรณสังขยา = อยู่ในการนับเฉพาะวันที่ 13 วันเดียว

คำนับเรียงไปตามจำนวน หรือ “ปกติสังขยา” 1 ถึง 18 ว่าดังนี้ -

หนึ่ง (1) = เอก (เอ-กะ)

สอง (2) = ทฺวิ (ทุ้ย)

สาม (3) = ติ (ติ)

สี่ (4) = จตุ (จะ-ตุ)

ห้า (5) = ปญฺจ (ปัน-จะ)

หก (6) = ฉ (ฉะ)

เจ็ด (7) = สตฺต (สัด-ตะ)

แปด (8 ) = อฏฺฐ (อัด-ถะ)

เก้า (9) = นว (นะ-วะ)

สิบ (10) = ทส (ทะ-สะ)

สิบเอ็ด (11) = เอกาทส (เอ-กา-ทะ-สะ)

สิบสอง (12) = ทฺวาทส, พารส (ทัว-ทะ-สะ, พา-ระ-สะ)

สิบสาม (13) = เตรส (เต-ระ-สะ)

สิบสี่ (14) = จตุทฺทส, จุทฺทส (จะ-ตุด-ทะ-สะ, จุด-ทะ-สะ)

สิบห้า (15) = ปญฺจทส, ปณฺณรส (ปัน-จะ-ทะ-สะ, ปัน-นะ-ระ-สะ)

สิบหก (16) = โสฬส (โส-ละ-สะ)

สิบเจ็ด (17) = สตฺตรส (สัด-ตะ-ระ-สะ)

สิบแปด (18) = อฏฺฐารส (อัด-ถา-ระ-สะ)

จะสังเกตได้ว่า ตั้งแต่ 11 เป็นต้นมา ก็ใช้คำว่า เอก ทฺวิ ติ ... นั่นเองประสมกับ ทส (10) เพียงแต่เมื่อประสมแล้วบางคำรูปคำเปลี่ยนไป แต่ก็ยังพอเห็นเค้า เช่น เอกาทส ก็คือ เอก (1) + ทส (10) = เอกาทส > 11

ถ้าจับหลักได้อย่างนี้ จำนวน 19 ก็ต้องเป็น นว (เก้า) + ทส (10) = นวทส > 19

แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด 

เพราะ “บาลีไม่มีสิบเก้า” ดังหัวข้อที่ตั้งไว้

จำนวน 19 ในบาลีไม่ใช่ “นวทส” (9 + 10) ดังที่ควรจะเป็น

จำนวน 19 ในบาลี ใช้คำนับว่า “เอกูนวีสติ” (เอ-กู-นะ-วี-สะ-ติ) และ “อูนวีส” (อู-นะ-วี-สะ)

“เอกูน” แปลว่า “หย่อนหนึ่ง” หมายถึง ขาดจำนวนไป 1

“อูน” แปลว่า “หย่อน” หมายถึง ขาดไป ไม่เต็มจำนวน

“วีสติ” หรือ “วีส” แปลว่า ยี่สิบ (20)

“เอกูนวีสติ” จึงแปลว่า “ยี่สิบหย่อนหนึ่ง” หมายถึง จำนวนเต็ม 20 แต่ขาดไป 1 คือ 20-1 = 19

“อูนวีส” แปลว่า “ยี่สิบหย่อน” หมายถึง ไม่เต็ม 20 จำนวนเต็ม 20 แต่ขาดไป ไม่เต็มจำนวน ก็หมายถึง 19 นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า จำนวน 19 บาลีไม่ได้เรียกว่า “สิบเก้า” (9 + 10) แต่เรียกว่า “ยี่สิบหย่อนหนึ่ง” (20-1) หรือ “ยี่สิบหย่อน” (20-)

ดังนี้แหละ จึงบอกว่า “บาลีไม่มีสิบเก้า”

จำนวนอื่นที่ลงท้ายด้วย 9 คือ 29 39 49 59 69 79 89 99 ก็ใช้คำนับว่า “หย่อนหนึ่ง” โดยหลักการเดียวกันนี้

29 = สามสิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนตึส)

39 = สี่สิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนจตฺตาฬีส)

49 = ห้าสิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนปญฺญาส)

59 = หกสิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนสฏฺฐิ)

69 = เจ็ดสิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนสตฺตติ)

79 = แปดสิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนาสีติ)

89 = เก้าสิบหย่อนหนึ่ง (เอกูนนวุติ)

99 = ร้อยหย่อนหนึ่ง (เอกูนสต)

แถม :

คำนับจำนวนครบสิบในภาษาบาลีเป็นดังนี้ -

ยี่สิบ (20) = วีส, วีสติ (วี-สะ, วี-สะ-ติ)

สามสิบ (30) = ตึส, ตึสติ (ติง-สะ, ติง-สะ-ติ)

สี่สิบ (40) = จตฺตาฬีส, ตาฬีส (จัด-ตา-ลี-สะ, ตา-ลี-สะ)

ห้าสิบ (50) = ปญฺญาส (ปัน-ยา-สะ)

หกสิบ (60) = สฏฺฐิ (สัด-ถิ)

เจ็ดสิบ (70) = สตฺตติ (สัด-ตะ-ติ)

แปดสิบ (80) = อสีติ (อะ-สี-ติ)

เก้าสิบ (90) = นวุติ (นะ-วุ-ติ)

ร้อย (100) = สต (สะ-ตะ)

..............

ภาษาบาลีมีอะไร ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ทั้งในแง่ภาษา และในแง่หลักธรรมที่อาศัยอยู่ในภาษา

..............

ดูก่อนภราดา!

: นับเลขไม่ครบสิบ 

ไม่ได้แปลว่าเป็นเศรษฐีพันล้านไม่ได้

: อ่านหนังสือไม่ออก

ไม่ได้แปลว่าบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลไม่ได้


[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,บาลี,เอกูนวีสติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.