ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,318)


ศาลพระภูมิ

ตั้งดีหรือไม่ตั้งดี คิดให้ดี

อ่านว่า สาน-พฺระ-พูม

ประกอบด้วยคำว่า ศาล + พระ + ภูมิ

(๑) “ศาล” 

ตามรูปคำรูปความ น่าจะตรงกับคำบาลีว่า “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”

“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”

สาลา > ศาลา > ศาล 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ศาล” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ - 

(๑) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) : องค์กรฝ่ายตุลาการซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี, ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

(๒) (คำนาม) : ที่ชำระความ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา

(๓) (คำนาม) : ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น เช่น ศาลเทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลเจ้าแม่ทับทิม.

ในที่นี้ “ศาล” ใช้ในความหมายตามข้อ (๓)

(๒) “พระ” 

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 

(๑) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ

(๒) พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ

(๓) นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน

(๔) ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี ๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์ ๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ

(๕) อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา

(๖) บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๗) โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.

(๘) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).

ในที่นี้คำว่า “พระ” ใช้ในความหมายตามข้อ (๔) 

(๓) “ภูมิ”

บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า (1) แผ่นดิน, ที่ดิน (2) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ (3) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

ในที่นี้ “ภูมิ” หมายถึง แผ่นดิน, ที่ดิน

การประสมคำ :

๑ พระ + ภูมิ = พระภูมิ แปลว่า “พระ (คือผู้ศักดิ์สิทธิ์ประเสริฐ) ผู้อยู่ที่พื้นที่”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“พระภูมิ : (คำนาม) เทพารักษ์ประจำพื้นที่และสถานที่, พระภูมิเจ้าที่ ก็เรียก.”

๒ ศาล + พระภูมิ = ศาลพระภูมิ แปลว่า “ที่สถิตของพระภูมิ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ศาลพระภูมิ : (คำนาม) ที่สถิตของเทพารักษ์ประจำพื้นที่และสถานที่ ทำด้วยไม้เป็นเรือนหลังคาทรงไทยตั้งอยู่บนเสาเดียว ปัจจุบันทำด้วยปูนเป็นรูปปราสาทก็มี.”

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินคนเก่า ๆ เรียก “ศาลพระภูมิ” ว่า สา-ละ-พูม ถ้าเขียนตามเสียงก็จะได้รูปเป็น “ศาลภูมิ” อ่านว่า สา-ละ-พูม ไม่ใช่ สาน-พูม แปลว่า ศาลของพระภูมิ

คำเดิมอาจจะเขียนว่า “ศาลภูมิ” อ่านว่า สา-ละ-พูม เรียกไปเรียกมามีผู้หวังดีเติม “พระ” เข้าไปตรงกลาง กลายเป็น “ศาลพระภูมิ”

คำที่เติมเข้าไปนี้เกิดจากฟังเสียงเรียก สา-ละ-พูม ไม่ถนัด ได้ยิน สา-ละ-พูม เป็น สาน-พฺระ-พูม “ศาลภูมิ” จึงกลายเป็น “ศาลพระภูมิ”

คำที่เติมเข้าไปเพราะเข้าใจผิดแบบนี้ ที่เห็นคำหนึ่งในปัจจุบันคือคำว่า “ตลอดกาลนานเทอญ” 

“-กาลนาน-” ออกเสียงว่า กา-ละ-นาน หรือ กาน-ละ-นาน คนฟังไม่ถนัด ประกอบกับไม่เข้าใจว่าเสียง -ละ- มาจากไหน ทั้งไม่รู้ความหมาย คิดเอาเองว่าคำนี้คือ “และ” กาน-ละ-นาน จึงกลายเป็น “กาลและนาน” 

ขอให้สังเกตคำแปลคำถวายสังฆทานตามวัดต่าง ๆ ดูเถิด จะได้ยินมรรคนายกรุ่นใหม่หลาย ๆ วัดว่านำคำแปลลงท้ายว่า “ตลอดกาลและนานเทอญ” 

“ตลอดกาลนานเทอญ” กลายเป็น “ตลอดกาลและนานเทอญ” ฉันใด

“ศาลภูมิ” (สา-ละ-พูม) ก็กลายเป็น “ศาลพระภูมิ” ฉันนั้น

ที่ว่ามานี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ท่านทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

..............

ดูก่อนภราดา!

: บ้านใดละเลยการเคารพบูชา

: คนเก่าท่านว่าบ้านนั้นไม่ควรตั้งศาลพระภูมิ 

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,ศาลพระภูมิ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.