รำพึงถึง “เพื่อน” ในเฟซบุ๊ก
-----------------------------
เฟซบุ๊ก (Facebook) เข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่ปีไหน ถ้าไม่มีใครบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ต่อไปอาจจะพูดกันเปรอะไปก็ได้ ว่ากันตามหลัก หน่วยงานในกระทรวงที่เรียกกันว่า กระทรวงไอที (IT) ควรมีหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ของเฟซบุ๊กในประเทศไทย ใครอยากรู้เรื่องนี้ ถามไปที่นี่ที่เดียวได้ครบ
แบบเดียวกับ-ใครอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ถามไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่นี่ที่เดียวได้ครบ (อันนี้ฝันไปก่อน เพื่อนผมถามเรื่องกฐินไปที่นั่น ได้รับคำตอบว่า ไม่ใช่หน้าที่ของที่นี่ ฮ่า ฮ่า ฮ่า)
คำว่า “เพื่อน” ในวงการเฟซบุ๊กน่าจะถอดมาจากคำว่า friend ที่เฟซบุ๊กกำหนดว่าใครจะติดต่อถึงกันได้ต้องเป็น friend กันก่อน เราก็ถอดคำว่า friend ออกมาเป็นไทยว่า “เพื่อน”
คนอายุ ๘๐-ถ้ามีเฟซบุ๊ก ต้องการติดต่อสื่อสารกับคนอายุ ๑๐ ขวบ-ถ้ามีเฟซบุ๊ก ก็ต้องเป็น “เพื่อน” กัน
ตามวัฒนธรรมไทย คนอายุ ๘๐ กับคนอายุ ๑๐ ขวบ คบกันในฐาน “เพื่อน” ก็ดูจะพิลึกๆ อยู่ แต่คนสมัยใหม่อาจไม่รู้สึกแบบนี้แล้ว
“เพื่อน” ในเฟซบุ๊กของผมมี ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือที่เป็นพระภิกษุสามเณร หรือ “ชาววัด” กลุ่มหนึ่ง กับที่เป็นคนธรรมดา หรือ “ชาวบ้าน” กลุ่มหนึ่ง
ผมมีปัญหากับ “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กอยู่เรื่องหนึ่ง คือผมถือเป็นกิจวัตรว่าแต่ละวันจะต้องอวยพรวันเกิดให้ “เพื่อน” ที่มีวันเกิดตรงกับวันนั้น เป็นชาววัดคำอวยพรเป็นแบบหนึ่ง เป็นชาวบ้านคำอวยพรก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
ที่เป็นปัญหาก็เพราะ “เพื่อน” บางคน-หลายคนอ่านชื่อดูรูปประจำตัวแล้วรู้ไม่ได้ว่าเป็นชาววัดหรือชาวบ้าน ทั้งนี้เพราะเฟซบุ๊กอนุญาตให้สมาชิกใช้ชื่อใช้รูปประจำตัวได้ค่อนข้างเสรี ซึ่งต่างจากสมัยหนึ่ง ผมใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า “นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย” ใช้ไปพักหนึ่ง วันหนึ่งเปิดเข้าเฟซบุ๊ก แต่เข้าไม่ได้ เฟซบุ๊กบอกว่า “นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย” ไม่ใช่ชื่อจริง ต้องเปลี่ยนใหม่ ผมก็เลยต้องเปลี่ยนเหลือแค่ “ทองย้อย แสงสินชัย” มาจนทุกวันนี้
แต่ ณ วันนี้ เห็นชื่อสมาชิกเฟซบุ๊กแล้ว บอกได้คำเดียวว่าขำกลิ้ง อย่างเช่นรายหนึ่งใช้ชื่อว่า “คันหู ไม่รู้เป็นรัย” เฟซบุ๊กอนุญาตให้ใช้ได้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า
ญาติมิตรลองชำเลืองดูตามหน้าเฟซบุ๊กเถิด จะเห็นชื่อพิลึกๆ ไม่รู้ว่าใครเป็นอะไรเกลื่อนไปหมด
ทีนี้ เมื่ออ่านชื่อดูรูปประจำตัวแล้วรู้ไม่ได้ว่าเป็นชาววัดหรือชาวบ้าน ก็เกิดปัญหา เพราะผมไม่รู้ว่าจะอวยพรแบบชาววัดหรือแบบชาวบ้าน เว้นไว้แต่บางท่านที่จำได้แน่ว่าชื่อนี้เป็นชาววัดก็พ้นทุกข์ไป
ก็เลยมาคิดต่อไปว่า ทำไมหนอ “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กที่เป็นชาววัดจึงไม่ใช้ชื่อใช้รูปประจำตัวที่บ่งบอกสถานะชาววัดชัดๆ มันขัดข้องตรงไหนหรือ
สาเหตุหนึ่งที่พอจะคาดเดาได้ก็คือ เฟซบุ๊กเป็นสนามสื่อสารที่อิสระเสรี สมาชิกไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสถานะที่แท้จริงของตัวเอง คือสามารถอำพรางตัวตนได้ตามสบาย เปิดช่องให้แสดงบทบาทต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง-ซึ่งถ้าเปิดเผยสถานะว่าเป็นชาววัดแล้วไปพูดอย่างนั้นทำอย่างนั้นก็จะดูไม่เหมาะสม
ใช้ภาษาตามป้ายประกาศที่ผมเขียนไปเมื่อวาน (๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ เรื่อง ทำไมไม่คิดอย่างนี้กันบ้าง) ก็ต้องบอกว่า -
“สมณเพศ หรือเพศบรรพชิต อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธให้ความเคารพกราบไหว้ ไม่ควรมีอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์”
เมื่อไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์ ก็เป็นช่องทางที่จะแสดง “อาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์” ได้เต็มที่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใคร
สมัยบวชอยู่ ผมก็เคยใช้นามแฝงหรือนามปากกา แต่ใช้เฉพาะลงชื่อท้ายบทกลอนเท่านั้น ไม่ได้ใช่เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับใครไม่ว่าจะทางส่วนตัวหรือส่วนรวม ช่องทางที่จะแสดง “อาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์” จึงแทบจะไม่มี
สมัยนี้ ความง่ายและความกว้างขวางของระบบสื่อสารเปิดช่องให้แสดงอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์ได้อย่างน่ากลัว-ครับ น่ากลัวมากๆ ด้วย
เมื่อสมัยที่โทรศัพท์แบบมีสายเริ่มมีในวัด เคยมีการยกปัญหาขึ้นมาถกเถียงกันข้อหนึ่งว่า พระภิกษุพูดโทรศัพท์กับสตรีจะถือว่าเป็นการอยู่ในที่ลับสองต่อสองหรือไม่
อีกข้อหนึ่ง มีพระวินัยกำหนดว่า ภิกษุพูดกับสตรีได้ไม่เกิน ๖ คำ (ขอแรงผู้สนใจช่วยสืบค้นให้หน่อยว่าต้นบัญญัติอยู่ที่ไหน) กรณีพระภิกษุพูดโทรศัพท์กับสตรี พูดติดพันกันไปยาวเกิน ๖ คำ จะว่าอย่างไรกัน
แต่วันนี้ เครื่องมือสื่อสารล้ำหน้าไปหลายขุมแล้ว โทรศัพท์ไร้สายมีกันทุกคน ไม่ใช่ได้ยินเสียงอย่างเดียว เห็นหน้าตากันสดๆ ด้วยเลย พูดคุยกันที่มุมลี้ลับที่ไหนได้ทุกที เขียนข้อความคุยกันได้ทุกรูปแบบ ช่องทางที่จะแสดง “อาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์” เปิดกว้างไร้ขีดจำกัด
ถามว่า-แล้วจะควบคุมกันอย่างไร ใครจะควบคุมใครได้ ใครประพฤติล่วงข้อห้ามใครจะรู้ได้อย่างไร
กลายเป็น “สุญญากาศทางพระวินัย” ทำผิดก็ปลอดจากการรู้เห็น
แล้วจะว่าอย่างไรกัน?
…………………..
ผู้ที่เข้ามาถือเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนานั้น มีคำพูดว่า “เข้ามาอยู่ในอริยวินัย”
“อริยวินัย” หมายถึงพระสัทธรรมคำสอนทั้งมวลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันจำแนกเป็นพระธรรมและพระวินัย “อริยวินัย” คือระบบวิถีชีวิตหรือระบบการฝึกฝนอบรมตนเองเยี่ยงอารยชน
ลักษณะเด่นของอริยวินัย คือ
(๑) ควบคุมตนด้วยตนเอง ความชั่วจะมีใครรู้เห็นหรือไม่รู้เห็น ก็ไม่ทำ ความดีจะมีใครรู้เห็นหรือไม่รู้เห็น ก็ทำ บุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเสริม
(๒) อริยวินัยเป็นระบบที่ให้เกียรติมนุษย์ด้วยกันอย่างยิ่ง เป็นระบบที่หวังว่าผู้เข้ามาเป็นสมาชิกของระบบย่อมเป็นบุคคลที่มีเกียรติ รู้จักผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตนเอง กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง ยอมรับผิดได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครพิพากษา
(๓) ในระบบอริยวินัย ไม่มีกลไกตรวจจับผิดแบบตำรวจไล่จับผู้ร้าย หรือซุ่มซ่อนสอดแนมดูว่าใครละเมิดกฎ เพราะให้เกียรติสมาชิกของระบบว่า-เมื่อรู้ว่าอะไรผิดย่อมไม่ทำ จึงไม่จำเป็นต้องมีการจ้องจับผิดกัน คนทำผิดย่อมจะเปิดเผยตัวเองไม่ต้องรอให้ใครโจท
นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของอริยวินัยก็คือ เป็นระบบที่ใช้วัดใจสมาชิกได้ด้วยตัวเองว่า รักพระศาสนามากกว่า หรือว่ารักตัวเองมากกว่า
อริยวินัยนี่แหละที่เป็นความหวังว่า จะช่วยรักษาชาววัดให้รอดพ้นจากอิทธิพลของระบบสื่อสารไฮเทคไร้ขีดจำกัดไปได้
แต่ทั้งนี้ ชาววัดเองจะต้องรักษาอริยวินัยไว้ให้ได้ด้วย ดังสำนวนที่พูดกันว่า ถ้าเรารักษาศีล ศีลก็จะรักษาเรา
มีสุภาษิตบทหนึ่งที่ช่วยยับยั้งชั่งใจได้ดีมากๆ ขอนำมาอภินันทนาการดังนี้ -
.....................................
อหํ รโห น ปสฺสามิ สุญฺญํ วาปิ น วิชฺชติ
ยตฺถ สุญฺญํ น ปสฺสามิ อสุญฺญํ โหติ ตํ มยา.
ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี
ที่ใดว่างเปล่า ข้าพเจ้าไม่เห็นใคร ที่นั้นก็ไม่ว่างเปล่าจากข้าพเจ้า
ที่มา: สีลวีมังสชาดก จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๑๙
.....................................
ถ้า “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กที่เป็นชาววัดจะกรุณาใช้ชื่อหรือภาพประจำตัวที่เปิดเผยให้รู้ว่าเป็นชาววัดชัดแจ้งไปตั้งแต่ต้น ในความเห็นของผม มองว่านั่นคือปุ่มเตือนสติที่จะช่วยป้องกันตัวอย่างดีที่สุด
พอจิตดวงหนึ่งคิดจะแสดง “อาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์” จิตอีกพันดวงก็จะกระตุกให้ฉุกคิดได้ทันท่วงทีว่า “บัดนี้ เรามีเพศต่างคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”
ความข้อนี้ เรียนกันมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี อาจจะหลงลืมไปบ้าง แต่ชื่อและรูปประจำตัวในเฟซบุ๊กที่เปิดเผยให้รู้ว่าเป็นชาววัดชัดแจ้ง จะเป็นแรงหนึ่งที่ช่วยให้ระลึกได้แม่นที่สุด รับรองได้
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๗:๕๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ