“อสัญญสมาบัติ, นิโรธสมาบัติ, สัญญาเวทยิตนิโรธ”
“อารมณ์ที่ทำให้จิตคลายความพอใจในสัญญา(สัญญาขันธ์)” เป็นภาวนาอย่างหนึ่งของผู้ที่บรรลุรูปปัญจมฌานแล้ว น้อมจิตไปในสัญญาวิราคอารมณ์ คืออารมณ์อันเป็นเหตุให้จิตคลายความยินดีพอใจในสัญญา….(นามขันธ์ทั้ง ๔)
-สำหรับพวกมิจฉาทิฏฐิกบุคคล หวังให้นามขันธ์ ๔ ดับ ด้วยเห็นโทษทุกข์ของนามขันธ์ แต่รูปขันธ์ยังเหลืออยู่ เป็นแนวคิดของพวกนอกพุทธศาสนาโดยแท้
ในขณะที่บุคคลเหล่านี้เจริญฌานนี้จนชำนาญ ก็สามารถเข้าสมาบัติที่ท่านเรียกว่า “อสัญญาสมาบัติ” คำนี้ยังกำกวม ถ้าแปลว่า ” สมาบัติที่ไม่มีสัญญา” จะหมายความว่า ”สมาบัตินี้ ดับสัญญา คือไม่มีสัญญาขันธ์เลย หรือว่า คำนี้หมายเอาเพียงแค่ว่า ”มีภาวะที่ไม่มีสัญญา,หรือมีสัญญาแต่เป็นสัญญาที่ละเอียด (ซึ่งคล้ายกับเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งก็คงไม่น่าจะใช่) เป็นอารมณ์, หรือมีเพียงแค่ภาวะที่ไม่ยินดีพอใจ (วิราคะ) ในสัญญา หรือในนามขันธ์ทั้งหมดเป็นอารมณ์ในขณะที่เข้าฌานสมาบัตินี้ แล้วก็เลยเรียกว่า ”อสัญญาสมาบัติ” ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้ดับนามขันธ์ใด ๆ เลยในขณะที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น…
แต่เมื่อฌานลาภีบุคคลเหล่านี้สิ้นชีวิตลง และไปเกิดในอสัญญสัตตภูมิ นามขันธ์จึงดับจริงๆ คงเหลือแต่เพียงรูปขันธ์เท่านั้น.
อนึ่ง เมื่ออสัญญีสัตว์อยู่ในอสัญญสัตตภูมินั้น ก็ไม่จัดว่าอยู่ในฌานสมาบัติ ไม่ได้มีการเข้าฌาน เพราะไม่มีจิตเจตสิกนั่นเอง
-ส่วนแนวคิดของนิโรธสมาบัตินั้น มีความมุ่งหมายที่จะดับนามขันธ์ ๔ โดยตรงด้วยอำนาจธรรมที่เหนือไปจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ แล้วก็ดับนามขันธ์ ๔ ได้จริง ๆ
การกล่าวถึงคำว่า ”สัญญาวิราค (คลายความพอใจในสัญญา), หรือ สัญญาเวทยิตนิโรธ (การดับสัญญา,เวทนา และธรรมที่เหลือที่ประกอบกับสัญญา,เวทนา)” เป็นการกล่าวรวบกันของสภาวะจิตที่จะละหรือดับสัญญา อันเป็นแนวคิดของรูปสัญญาวิราคภาวนาปัญจมฌานลาภีบุคคล (พวกที่จะเป็นอสัญญีสัตว์ในอสัญญสัตตภูมิ แต่จะดับนามขันธ์ ๔ ได้ ก็ต้องสิ้นชีวิตแล้วไปเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ จึงจะได้ชื่อว่า "ดับนามขันธ์ ๔ ที่มีทั้ง เวทนา สัญญา...ได้") และเป็นแนวคิดของพวกที่ได้อากิญจัญญายตนฌานแล้ว เบื่อหน่ายต่อสัญญา จึงเจริญฌานที่คลายความพอใจในสัญญา(สัญญาวิราค) โดยเอาอากิญจัญญายตนฌานจิตที่ตนได้และดับไปแล้วนั่นแหละเป็นอารมณ์
เมื่อเจริญได้สำเร็จ ต่อแต่นั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งมีภาวะคล้ายกับว่า ”มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่” ก็เกิดขึ้น …
ซึ่งพวกเนวสัญญีนาสัญญีนี้ หากเป็นปุถุชนนอกพุทธศาสนา ก็จะเข้าผิดคิดว่า เนวสัญญานาสัญญาตนฌานนี้ ดับสัญญาได้ แต่จริง ๆ คือสัญญายังไม่ดับ เป็นเพียงแค่ว่าสัญญานั้นละเอียดอ่อนเท่านั้นเอง.
นอกจากนี้ เนวสัญญีนาสัญญีสัตว์นี้ยังเข้าใจผิดว่า นี้เป็นอันติมะ เป็นที่สุด และตนได้บรรลุโฆกษะแล้ว
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นว่ายังไม่ใช่ที่สุด ไม่ใช่โมกษะ และทรงค้นพบวิธีดับสัญญานี้ได้จริง ๆ ทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรด้วย
อำนาจของนิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นการดับได้ชั่วคราว และอนุปาทิเสสนิพพาน ซึ่งเป็นการดับได้อย่างถาวร.
แนวคิดเรื่องการเข้านิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธ เพื่อดับสัญญาหรือดับนามขันธ์ ๔ ของพระอริยบุคคล คือพระอนาคามีและพระอรหันต์นี้ มิได้มีอารมณ์คือสัญญาวิราคภาวนา เหมือนพวกปุถุชนที่ได้รูปปัญจมฌานแล้วเจริญสัญญาวิราคฌานเพื่อให้ไปเกิดในอสัญญสัตตภูมิ และไม่เหมือนแนวคิดของพวกเนวสัญญีนาสัญญีสัตว์. เพราะแนวคิดของปุถุชนเหล่านี้เจือด้วยมิจฉาทิฏฐิแน่นอน
"นิโรธสมาบัติ" หรือสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ ผู้ที่จะกระทำได้ก็ต้องเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ ที่ได้รูปฌานอรูปฌานทั้งหมด และมีความชำนาญในวิปัสสนาญาณ…
นิโรธสมาบัตินี้ เมื่อเริ่มนับแต่วิถีที่เรียกว่า ”นิโรธสมาบัติวิถี” มีความระคนกันในหลายลักษณะ คือ
-จิตที่ทำหน้าที่ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู เป็นกามชวนะ คือ มหากุศลญาณสัมปยุตตอุเบกขา๒, มหากริยาญาณสัมปยุตตอุเบกขา ๒
-จิตที่ทำหน้าที่ ฌ (ฌาน) ๒ ขณะ เป็นอัปปนาชวนะ ได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต๑, กริยาจิต๑
-จิตทั้งหมดที่กล่าวมา มีมหัคคตปฏิภาคนิมิตของอากิญจัญญายตนฌานจิต เป็นอารมณ์
ช่วงของจิตและอารมณ์ที่กล่าวมานี้นับว่าเป็นโลกียธรรม
-หลังจากเนวสัญญานาสัญญายตนกุศลหรือกริยาขณะที่ ๒ ดับลง จากนั้นไม่มีจิตดวงใดเกิด (มีบัญญัติคำกล่าวว่า "นามขันธ์ ๔ ดับลง, จิตตชรูปก็ดับ" จริง ๆ แล้ว ไม่มีจิตเกิดต่อจากการที่เนวสัญญานาสัญญายตนะดับลงเท่านั้นเอง ...ซึ่งหากจะมีจิตเกิด ก็จะได้แก่ อนาคามิผล หรืออรหัตตผลเกิดขึ้นติดต่อจากเนวสัญญานา...แต่จิตทั้ง ๒ นั้น กลับไม่เกิดติดต่อกันทันทีที่เนวสัญญานา...ดับลง กลับมาเกิดหลังจากทิ้งระยะห่างไปนาน คือตั้งแต่วินาทีนั้นไปจนถึง ๗ วัน ตามสมควรแก่การอธิษฐานของผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติอธิษฐานไว้) ส่วนรูปที่เหลือ คือกัมมชรูป กัมมปัจจยอุตุชรูป อัชฌัตตาหารรูป ยังเกิดอยู่ยังไม่ดับ ช่วงนี้ว่าโดยสมาบัติ ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นโลกียะหรือโลกุตตระ เพราะไม่มีจิตเจตสิกที่จะให้กล่าวได้
ถ้าจะกล่าวว่า ขณะนั้นมีภาวของอนุปาทิเสสนิพพาน ก็อาจจะกล่าวได้ไม่เต็มนัก เพราะอนุปาทิเสสนิพพานนั้นดับขันธ์ ๕ ทั่งหมด หรือจะกล่าวว่าเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะนามขันธ์ดับ แต่รูปขันธ์บางส่วนยังมีอยู่ / แต่ว่า ภาวะของสอุปาทิเสสนิพพานนั้น ท่านก็ให้ความหมายว่า ดับกิเลสคือตัณหา นามขันธ์อื่น ๆ และกัมมชรูป จิตตชรูป...ก็ยังเกิดได้อยู่
(ข้อสังเกิด "นิโรธสมาบัติ" ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นอุปาทิเสสนิพพาน คือดับนามขันธ์และจิตตชรูปได้ แต่กัมมชรูปอันเป็นผลมาแต่อดีตกรรม ยังเหลืออยู่, เหนือกว่าการดับอนุสัยกิเลส ที่เป็นสมุจเฉทปหาณของพระอริยบุคคล, ซึ่งการดับอนุสัยนั้น ดับได้เพียงเจตสิกธรรมที่เป็นอนุสัย, แต่นิโรธสมาบัติ ดับได้ทั้งจิต - เจตสิกทั้งหมดด้วย ฯ
-ส่วนเมื่อออกจากนิโรธนั้น มีผลจิต คือ อนาคามิผลจิต หรืออรหัตตผลจิต เกิดต่อ ๑ ขณะ ช่วงนี้จัดว่าเป็นโลกุตตระ และมีนิพพานเป็นอารมณ์
นิโรธสมาบัติ จึงมีความระคนกันด้วยจิตและอารมณ์ ดังกล่าวมานี้
______
นิติเมธี
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ