สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


หิริ-โอตตัปปะต่างกันอย่างไร?

   ถามว่า หิริ ความละอายบาป กับ โอตตัปปะความเกรงกลัวบาป ฟังดูก็เหมือน ๆ กัน แต่น่าจะต่างกัน มิฉะนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่ใช้คู่กัน กรุณาอธิบายด้วย    

   ตอบว่า เรื่องนี้ก็จริงอย่างที่ผู้ถาม ถามมา คือ คำสองคำนี้ฟังดูความหมายก็คล้าย ๆ น่าจะใช้แทนกันได้ แต่จริงๆ แล้วสภาวะของหิริและโอตตัปปะต่างกัน คือต่างกันทั้งพยัญชนะและอรรถะ พยัญชนะของหิริเป็นอย่างหนึ่ง ของโอตตัปปะเป็นอย่างหนึ่ง แม้อรรถะก็ต่างกัน ในธรรมสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ข้อ ๒๒๐ และอรรถกถาอธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจนมาก ดังนี้

   ชื่อว่า หิริ เพราะเป็นความละอาย หรือเพราะเป็นเหตุละอาย คือละอายต่อความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก

   ชื่อว่า โอตตัปปะ เพราะกลัว คือกลัวสิ่งที่ควรกลัวอันได้แก่ กลัวความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก    

   เพียงเท่านี้ ก็ดูจะไม่ต่างกันใช่ไหม ท่านอรรถกถาอธิบายต่อไปว่า ในหิริและโอตตัปปะทั้งสองนั้น  

   - หิริ เกิดขึ้นในภายใน   

   - โอตตัปปะ เกิดขึ้นในภายนอก

   - หิริ ถือตนเป็นใหญ่  

   - โอตตัปปะ ถือโลกเป็นใหญ่

   - หิริ ตั้งอยู่ในความละอายเป็นสภาพ

   - โอตตัปปะ ตั้งอยู่ในความกลัวเป็นสภาพ

   - หิริ มีลักษณะยำเกรง       

   - โอตตัปปะ มีลักษณะเห็นภัยอันเป็นโทษน่ากลัว

     ในธรรม ๒ อย่างนั้น หิริเกิดขึ้นในภายใน ด้วยเหตุ 4 ประการ คือ ด้วยการนึกถึงชาติ ๑ นึกถึงวัย ๑ นึกถึงความเป็นผู้กล้า ๑ นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน ๑    

   ท่านขยายความต่อไปว่าบุคคลนึกถึงชาติอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำความชั่วไม่ใช่ เป็นการกระทำของคนที่มีชาติเจริญ เป็นการกระทำของคนมีชาติต่ำ อย่างคนมีอาชีพฆ่าสัตว์ เป็นต้น ผู้เจริญด้วยชาติเช่นเรา ไม่ควรทำกรรมชั่วเช่นนี้ ดังนี้แล้ว เกิดหิริความละอายใจไม่ทำชั่ว สำหรับการนึกถึงวัยแล้วเกิดหิริ ท่านอธิบายว่า การกระทำชั่ว เป็นเรื่องของเด็ก ๆ คนที่มีวัยเช่นเรา ไม่ควรทำกรรมชั่วมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ผู้เจริญด้วยวัยเช่นเรา ไม่ควรทำกรรมชั่วเช่นนี้ ดังนี้แล้วเกิดหิริความละอายใจไม่ทำชั่ว เพราะเกิดหิริความละอายใจในวัยของตน ส่วนการไม่ทำกรรมชั่ว เพราะความเป็นผู้กล้านั้น ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า การกระทำความชั่วนี้ เป็นการกระทำของคนอ่อนแอ คนที่กล้าแข็งเช่นเราไม่ควรทำ ดังนี้แล้วเกิดหิริ ไม่ทำความชั่ว มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น สำหรับการนึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียนนั้น ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า การกระทำกรรมชั่วนี้ เป็นการกระทำของอันธพาล ไม่ใช่การกระทำของบัณฑิต ผู้เป็นบัณฑิตคงแก่เรียนเช่นเราไม่ควรทำ ดังนี้แล้ว เกิดหิริละอายบาป ไม่ทำบาป หิริความละอายบาปเกิดขึ้นในภายในใจอย่างนี้ พูดง่ายๆ คือ หิริมีอารมณ์ภายในนั่นเอง

   ต่อไปอรรถกถาท่านอธิบายถึง โอตตัปปะที่ว่าเกิดในภายนอก นั่นว่าเกิดได้อย่างไร เกิดได้อย่างนี้คือ บุคคลนึกอยู่ว่า หากว่าเราทำกรรมชั่ว เราจักได้รับคำติเตียนจากคนทั้งหลายดังนี้แล้ว ไม่ทำชั่ว เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าโอตตัปปะ เกิดขึ้นในภายนอกคือมีอารมณ์ภายนอกตนเอง

   ที่ว่า หิริถือตนเป็นใหญ่ นั้นก็คือนึกถึงตนเองเป็นสำคัญ เป็นต้นว่า เราเป็นคนมีชาติตระกูลสูง เป็นต้น แล้วละอายใจไม่ทำชั่ว ส่วนโอตตัปปะถือโลกเป็นใหญ่ คือปรารภคนอื่น กลัวคนอื่นติเตียน กลัวท่านผู้มีฤทธิ์เช่นเทวดาเป็นต้นจะเห็น จึงไม่กล้าทำชั่ว ดังนี้เป็นต้น

   อีกประการหนึ่งท่านอธิบายไว้ว่า หิริ นั้นตั้งอยู่โดยอาการแห่งความละอาย ส่วนโอตตัปปะ ตั้งอยู่ในสภาพที่กลัวภัยในอบายเป็นต้น อุปมาเหมือนก้อนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งเย็น แต่ก็เปื้อนอุจจาระ แต่อีกก้อนหนึ่งร้อนจัด ท่านผู้รู้ทั้งหลายรังเกียจก้อนเย็นเพราะเปื้อนอุจจาระจึงไม่จับ ส่วนก้อนร้อนก็ไม่จับ เพราะกลัวความร้อนจะเผามือ ข้อนี้ ฉันใด บัณฑิตเกลียดไม่ทำความชั่ว เพราะละอายแก่ใจ ไม่ทำความชั่วเพราะเกรงกลัวอบาย ก็ฉันนั้น หิริ จึงตั้งอยู่ในสภาพที่ละอายโอตตัปปะ ตั้งอยู่ในสภาพเกรงกลัว

   จากนั้น ท่านตั้งคำถามว่า หิริ มีลักษณะยำเกรงโอตตัปปะ มีลักษณะเห็นภัยอันเป็นโทษน่ากลัวนั้น อย่างไร คำตอบก็คือ จริงอยู่ บุคคลยังหิริอันมีลักษณะยำเกรงให้เกิดขึ้น ด้วยความเคารพในผู้นั้น โดยอาการ ๔ อย่าง คือ นึกถึงความเป็นใหญ่โดยชาติ ๑ นึกถึงความเป็นใหญ่โดยเป็นผู้สอน ๑ นึกถึงความเป็นใหญ่ในมรดก ๑ นึกถึงนึกถึงความเป็นใหญ่ในทางประพฤติพรหมจรรย์ ๑ แล้วไม่ทำความชั่ว

      แต่บางคนกล้วโดยความเป็นโทษด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ กลัวตนเองติเตือน ๑ กลัวผู้อื่นติเตือน ๑ กลัวถูกลงทัณฑ์คือกลัวถูกลงโทษ ๑ กลัวทุคติภัย มีการเกิดในอบายเป็นต้น ๑ แล้วเกิดโอตตัปปะ อันมีลักษณะเห็นภัย อันมีโทษน่ากลัวแล้วจึงไม่ทำชั่ว

   โดยปกติแล้ว หิริและโอตตัปปะต่างก็เป็นเจตสิกธรรมฝ่ายดี หรือฝ่ายขาว แต่ก็ไม่พรากจากกัน คือเกิดพร้อมกันกับธรรมฝ่ายดี เพราะถ้าความละอายไม่มี ความกล้วย่อมมีไม่ได้ หรือถ้าความกลัวต่อบาปไม่มี ความละอายต่อบาปย่อมมีไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมขาว ๒ ประการนี้คือหิริและโอตตัปปะย่อมรักษาโลก ถ้าธรรมขาว ๒ ประการนี้ไม่พึงรักษาโลกแล้วไซร้ ในโลกก็ไม่พึงปรากฏว่ามารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือว่าภรรยาของครู โลกก็จะถึงความปะปนกันเหมือนอย่างแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข เป็นต้น ฉะนั้น แต่ก็เพราะธรรมขาว ๒ ประการนี้ยังรักษาโลกอยู่ ฉะนั้น จึงปรากฏว่า มารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าสัตว์เหล่าใดไม่มีหิริ และโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อไซร้ สัตว์เหล่านั้นมีธรรมขาวเป็นมูลปราศไปแล้ว เป็นผู้ถึงชาติและมรณะส่วนสัตว์เหล่าใด เข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบในกาลทุกเมื่อ สัตว์เหล่านั้น มีพรหมจรรย์งอกงามเป็นผู้สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว 

   พระพุทธดำรัสนี้ อรรถกถาชี้แจงว่า สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายย่อมไม่รู้จักทำความเคารพยำเกรงว่า นี้มารดา นี้น้า นี้อา เป็นต้น จึงปฏิบัติผิดต่อมารดา มีการสมสู่แม้กับมารดาของตน เป็นต้น ทั้งนี้เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีหิริโอตตัปปะ ส่วนมนุษย์นั้นมีหิริโอตตัปปะ จึงให้ความเคารพว่า ผู้ที่เป็นมารดา เป็นน้า แล้วไม่ล่วงเกิน หากว่าโลกนี้ไม่มีหิริและโอตตัปปะแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็จะทำลายประเพณีอันดีงามเสีย แล้วพึงสมสู่แม้กับมารดาของตนได้ทุกหนทุกแห่ง หิริโอตตัปปะจึงเป็นธรรมที่รักษาโลกให้ พ้นจากความพินาศด้วยอกุศลธรรมนั่นเอง(เนื้อหาจากธรรมสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ข้อ ๒๒๐ และอรรถกถา)

   ในอภิธรรม แสดงลักษณะของหิริและโอตตัปปะไว้ดังนี้


   ลักขณาทิจตุกะของหิริ

ปาปโต ชิคุจฺฉน ลกฺขณา - มีความรังเกียจบาปเป็นลักขณะ

ปาปานํ อกรณ รสา - มีการไม่ทำบาปเป็นกิจ

ปาปโต สงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานา - มีการถอยจากบาปเป็นผล

อตฺตคารว ปทฏฺฐานา - มีความเคารพตนเป็นเป็นเหตุใกล้

      ลักขณาทิจตุกะของโอตตัปปะ

อุตฺตาส ลกฺขณํ - มีความสะดุ้งกลัวเป็นลักษณะ

ปาปานํ อกรณ รสํ - มีการไม่ทำบาปเป็นกิจ

ปาปโต สงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานํ - มีการถอยจากบาปเป็นผล

ปรคารว ปทฏฺฐานํ - มีความเคารพผู้อื่นเป็นเหตุใกล้

   จริงอยู่ หิริ มีความเคารพตน จึงไม่ทำบาปด้วยความละอาย เหมือนหญิงสาวมีสกุลรังเกียจสิ่งปฏิกูล ส่วน โอตตัปปะ มีความเคารพผู้อื่น จึงไม่ทำบาป เพราะความเกรงกลัวผู้อื่น เหมือนหญิงแพศยามีความเกรงกลัวผู้อื่น

   เพราะฉะนั้น หิริและโอตตัปปะจึงเป็นธรรมคุ้มครองโลก ให้อยู่อย่างสงบเป็นสุข ก็หิริโอตตัปปะเป็นธรรมฝ่ายขาว จัดเป็นเทวธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ผู้ที่เกิดเป็นเทวดา หากขาดหิริและโอตตัปปะ ๒ อย่างนี้แล้ว ย่อมไม่อาจเกิดเป็นเทวดาได้ ที่จริงแล้ว การเกิดในสุคติภูมิไม่ว่าเป็นมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ล้วนต้องอาศัยหิริและโอตตัปปะทั้งสิ้น ในฐานะเป็นเหตุใกล้ของศีล เพราะขึันชื่อว่าสุคติภูมิบุุคคลผู้ไม่มีศีลย่อมเข้าไม่ถึงทั้งปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลแล.


[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.