ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,730)


วิศวามิตร

มีในบาลีหรือไม่

อ่านตามที่ได้ยินอ่านกันว่า วิ-สะ-หฺวา-มิด

ตามเสียงบาลีสันสกฤตควรจะอ่านว่า วิด-สฺวา-มิด

“วิศวามิตร” เป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิศฺวามิตฺร” บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วิศฺวามิตฺร : (คำนาม) ‘วิศวามิตร์,’ มุนิ, ผู้บุตร์ของคาธิ, เดิมเป็นพวกนักรบ, แต่ได้ประพฤติพรตพรหมจรรย์อยู่ช้ากาลนานปีก็ได้เป็นพรหมรรษิ, และเมื่อได้เป็นพรหมรรษิแล้ว ตามความในเรื่องรามายณะหรือรามเกียรติมีว่า เธอเป็นประถมาจารย์และพุทธิสหายของพระราม; a Muni, the son of Gādhi, originally of the military order, but who became by long and painful austerities a Brahmarshi, in which character he appears in the Rāmāyaṇa as the early preceptor and counsellor of Rāma.”

สันสกฤต “วิศฺวามิตฺร” บาลีเป็น “เวสฺสามิตฺต” อ่านว่า เวด-สา-มิด-ตะ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรากศัพท์ของ “เวสฺสามิตฺต” ว่า เวสฺสามิตฺต + ณ ปัจจัย แสดงรูปวิเคราะห์ไว้ดังนี้ -

เวสฺสามิตฺตสฺส อปจฺจํ เวสฺสามิตฺโต ฤษีผู้เป็นเหล่ากอของเวสสามิตตะ

และแปล “เวสฺสามิตฺต” ว่า ฤษีวิศวามิตร, เวสสามิตตฤษี 

ปัญหาคือ ตัวศัพท์ “เวสฺสามิตฺต” รากศัพท์มาอย่างไร หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ไม่ได้แสดงรากศัพท์ไว้

เท่าที่ตาเห็น “เวสฺสามิตฺต” ควรจะมาจาก เวสฺส + อมิตฺต 

(๑) “เวสฺส” (เวด-สะ) รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาตุ = ไป, เข้าไป) + ส ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ-เป็น เอ (วิสฺ > เวส) 

: วิสฺ + ส = วิสฺส > เวสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ไปทางโน้นทางนี้ด้วยความอยากได้ทรัพย์” (2) “ผู้เข้าไป” ( = เข้าไปติดต่อทำกิจการต่างๆ)

“เวสฺส” เป็นวรรณะหนึ่งในสี่ของสังคมอินเดีย ( = กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร) หมายถึงคนสามัญ (a man of the people) ที่มิได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ และศูทร ตามที่เข้าใจกันก็คือ คนที่ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป เช่น เกษตรกร พ่อค้า แต่มักเน้นที่ “พ่อค้า” (ตามรากศัพท์ที่แสดงข้างต้นก็หมายถึงพ่อค้าหรือคนค้าขาย)

(๒) “อมิตฺต” (อะ-มิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก น + มิตฺต

(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not) 

“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ - 

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ) 

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “มิตฺต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ม จึงแปลง น เป็น อ 

(ข) “มิตฺต” (มิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก -

(1) มิทฺ (ธาตุ = รักใคร่, ผูก) + ต ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (มิ)-ทฺ เป็น ตฺ (มิทฺ > มิต)

: มิทฺ + ต = มิทฺต > มิตฺต แปลตามศัพท์ว่า - 

(๑) “ผู้รักใคร่กัน” คือต่างคนต่างรู้สึกรักใคร่มีไมตรีต่อกัน 

(๒) “ผู้ผูกคนอื่นไว้ในตน” คือมีลักษณะชวนให้คนอื่นรักโดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่ทันได้รู้จักผู้ที่มารักตนนั่นเลยด้วยซ้ำ

(2) มิ (ธาตุ = ใส่เข้า) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ

: มิ + ตฺ + ต = มิตฺต แปลตามศัพท์ว่า - 

(๑) “ผู้ควรแก่การที่จะใส่ความลับเข้าไป” คือคนที่เพื่อนสามารถบอกความลับให้รู้ได้ทุกเรื่อง 

(๒) “ผู้ใส่เข้าข้างใน” คือคนที่เก็บความลับของเพื่อนไว้ได้ (เก็บไว้เพื่อปกป้องและช่วยแก้ไขให้เพื่อน มิใช่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายเพื่อน) 

บาลี “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร” เราใช้ตามสันสกฤตเป็น “มิตร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“มิตร, มิตร- : (คำนาม) เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).”

: น + มิตฺต = นมิตฺต > อมิตฺต แปลว่า “ผู้ไม่ใช่มิตร”

เวสฺส + อมิตฺต = เวสฺสามิตฺต แปลตามประสงค์ว่า “ผู้ไม่เป็นมิตรกับพ่อค้า”

เมื่อแปลเช่นนี้ก็ต้องอธิบายลากเข้าความ คืออธิบายว่า ไม่ใช่เป็นศัตรูกับพ่อค้า เพียงแต่อาชีพต่างกัน พ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ฤษีแสวงหาบุญ อยู่คนละขั้วกัน จึงเรียกว่า “ผู้ไม่เป็นมิตรกับพ่อค้า”

ถ้าแปลอย่างนี้ไม่สมเหตุสมผล ทำให้เห็นไปได้ว่าฤษีเป็นศัตรูกับพ่อค้า ไม่สมกับฐานะนักพรตที่ไม่เป็นศัตรูกับใคร ก็ต้องแสดงรากศัพท์ใหม่เป็นตรงกันข้าม คือ

เวสฺส + มิตฺต ทีฆะสระหน้า คือ อะ ที่ -ส เป็น อา (เวสฺส > เวสฺสา) เพื่อความสละสลวยในการออกเสียง ได้รูปเป็น “เวสฺสามิตฺต” แปลตามประสงค์ว่า “ผู้เป็นมิตรกับพ่อค้า” คือแนะนำสั่งสอนพ่อค้าให้ประกอบอาชีพโดยสุจริต

ที่ว่ามานี้เป็นการสันนิษฐานโดยสุจริต ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบที่มาของศัพท์ที่แสดงความหมายไว้ชัดๆ จึงได้แต่สันนิษฐาน ซึ่งอาจผิดมากกว่าถูก จึงขอเชิญนักเรียนบาลีผู้รักความรู้เข้ามาช่วยกันบูรณาการด้วยเทอญ

บาลี “เวสฺสามิตฺต” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “วิศวามิตร”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -

“วิศวามิตร : ครูผู้สอนศิลปวิทยาแก่พระราชกุมารสิทธัตถะ.”

อภิปรายขยายความ :

มีผู้แสดงความเห็นว่า ชื่อ “วิศวามิตร” มาจากวรรณคดีสันสกฤต ดังจะให้เข้าใจเป็นนัยๆ ว่า ที่ว่าพระราชกุมารสิทธัตถะมีครูชื่อวิศวามิตรมาสอนศิลปวิทยานั้น เราเอาเรื่องนี้มาจากสันสกฤตหรือมหายาน ในบาลีไม่มีชื่อ “วิศวามิตร”

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในคัมภีร์บาลีพบว่า มีคำว่า “เวสฺสามิตฺต” ปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่น วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 86, อัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 169, จังกีสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 13 ข้อ 653 เป็นต้น

คำว่า “เวสฺสามิตฺต” ที่ปรากฏในบาลีเป็นฤษีก็มี เป็นชื่อยักษ์ก็มี เป็นชื่อภูเขาก็มี 

ที่เป็นชื่อฤษีที่มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้แต่งมนตร์และสอนมนตร์เป็นแบบแผนสืบมา ในบาลีแสดงรายชื่อไว้เป็นชุดดังนี้ 

(1) อฏฺฐโก = ฤษีอัฏฐกะ

(2) วามโก = ฤษีวามกะ

(3) วามเทโว = ฤษีวามเทพ

(4) เวสฺสามิตฺโต = ฤษีวิศวามิตร

(5) ยมตคฺคิ = ฤษียมตัคคิ

(6) องฺคีรโส = ฤษีอังคีรสะ

(7) ภารทฺวาโช = ฤษีภารทวาชะ

(8 ) วาเสฏฺโฐ = ฤษีวาเสฏฐะ

(9) กสฺสโป = ฤษีกัสสปะ

(10) ภคุ = ฤษีภคุ

คำว่า “เวสฺสามิตฺโต” (หมายเลข 4) หรือ “เวสฺสามิตฺต” เป็นชื่อที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์บาลี และชื่อนี้เรานิยมทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า “วิศวามิตร”

ถ้าชื่อ “เวสฺสามิตฺต” มีในคัมภีร์บาลี เรื่องที่พระราชกุมารสิทธัตถะมีครูชื่อวิศวามิตรมาสอนศิลปวิทยาก็ควรมาจากคัมภีร์มาบาลี 

แต่ใครจะว่าคัมภีร์บาลีเอามาจากคัมภีร์อื่นใดอีก ใครสนใจก็เชิญศึกษาสืบค้นดู ได้ความว่าอย่างไรก็นำมาบอกกล่าวสู่กันฟังต่อไป

..............

ดูก่อนภราดา!

: น่าเสียดายที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิต

: คือคนที่เลือกเป็นมิตรกับเฉพาะบางคน

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.