ปกิณกะเรื่อง “กรรม”
เข้าใจคำว่า “กรรม” ก่อน
โดยความมุ่งหมาย ท่านหมายเอา “เจตนา” (เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา… อํ.ฉกฺก, ๑๒๘)
“เจตนา” เป็นเจตสิกธรรม ประกอบได้ในจิตทั้งหมด (๘๙/๑๒๑) ทั้งที่เป็น อกุศล กุศล วิบาก กริยา
“เจตนา” ว่าโดยกิจ เป็นอย่าง ๒ อย่าง คือ
๑) “สํวิธานกิจ” กิจ คือการจัดแจงให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตน ให้ทำหน้าที่ของตน ๆ
ใน “สํวิธานกิจ” นี้ เจตนาจึงเป็นปัจจัยให้แก่สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตัวเจตนาได้ในจิตทั้งหมด โดยได้อำนาจความเป็นปัจจัยตามกลุ่ม “สหชาตชาติ” (ซึ่งเป็นไปตามสภาวธรรม) (คัมภีร์มหาปัฏฐาน)
๒) “พีชนิธานกิจ” กิจ คือการสร้างพืชพันธุ์ ได้แก่ การก่อวิบาก (วิปากจิต, เจตสิก, กัมมชรูป) ให้เกิดทั้งในปัจจุบันชาตินี้ (ผลจิต) และในภพที่สองเป็นต้นไป (ตามสมควร)
*ปริยายผล (ผลโดยอ้อม) ของเจตนา ยังเป็นปัจจัยให้แก่ จิต,เจตสิก ในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปกตูปนิสสยปัจจัย แก่จิต เจตสิก…ที่เกิดหลัง ๆ (คัมภีร์มหาปัฏฐาน)
เมื่อเจตนา ทรงตรัสเรียกว่า “กรรม”
คำว่า “กรรม” มีนัย ๒ อย่าง คือ
๑) “มุขยนัย” นัยที่ตรง ได้แก่ ตัวเจตนา ที่เป็นตัวกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลธรรมโดยตรง คือเจตนากรรม ๓๓ ในอกุศลจิต ๑๒, มหากุศลจิต ๘, รูปาวจรกุศล ๕, อรูปาวจรกุศล ๔, มรรคจิต ๔/๒๐) *(พีชนิธานกิจ)
๒) “อุปจารนัย” นัยโดยอ้อม ตรัสหมายเอาผลหรือวิบากที่ใกล้ต่อกรรม เรียกว่าเป็นผลูปจารนัย เช่น ตรัสว่า “จักขุ โสตะ…. กาย” ชื่อว่า “กรรมเก่า” แท้จริงแล้ว จักขุ,โสต..กาย…เป็นผลที่เกิดมาจากกรรมเก่า (อดีตกรรม), เป็นตัวผล หรือวิบาก ซึ่งไม่ใช่เป็น “กรรม” แต่ตรัสว่า “กรรม” เพราะตรัสผลที่ใกล้ต่อเหตุ คือกรรม ฯ
* ในข้อที่ ๒ นี้ เป็นเรื่องของผล หรือ วิบาก ซึ่งไม่ใช่กรรมจริง ๆ แต่เป็นโวหารโดยอุปจารนัยเท่านั้น ฯ
————-
“กรรม” กับธรรมที่เป็น “ผลของกรรม” มีความเกี่ยวพันกันใน ๒ นัย คือ
๑ กรรม (เจตนา) เกิดขึ้นพร้อมกันกับผล คือเจตนา กับผลของเจตนาเกิดขึ้นพร้อมกัน (ปัจจัยกับกับปัจจยุปบันธรรม เกิดพร้อมกัน) ได้แก่เจตนาที่ทำหน้าที่ “สํวิธานกิจ” ซึ่งจะได้เจตนาที่ในจิตทั้งหมด (๘๙/๑๒๑)
๒ กรรม (เจตนา) ที่ให้ผลหลังจากเจตนากรรมนั้นดับไปแล้ว แต่สร้างวิบากให้เกิดต่างขณะจิตกัน หรือให้ผลในภพต่อไป (พีชนิธานกิจ) ได้แก่ เจตนากรรม ๓๓ คือ
– อกุศลกรรม ๑๒ (เจตนาที่ในอกุศลจิต ๑๒)
– มหากุศลกรรม ๘ (เจตนาที่ในมหากุศลจิต ๘)
– รูปาวจรกุศลกรรม ๕ (เจตนาที่ในรูปาวจรกุศลจิต ๕)
– อรูปาวจรกุศลกรรม ๔ (เจตนาที่ในอรูปาวจรกุศลจิต ๔)
– มรรคกุศลกรรม ๔/๒๐ (สร้างผลจิตให้เกิดติดต่อกัน และต่างขณะที่ไม่ติดต่อกันก็ได้)
————
ความมุ่งหมายที่พระองค์ทรงแสดงเรื่องกรรม มุ่งหมายเอาหลัก ๆ ๒ ชาติ
๑) อกุศลกรรม (อกุศลชาติ) เป็นกรรมที่เป็นไปในวัฏฏะอย่างเดียว
๒) กุศลกรรม (กุศลชาติ) ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง หลัก ๆ คือ
– วัฏฏคามีกุศลกรรม ๑๗ (กามาวจรกุศลกรรม ๘, รูปาวจรกุศลกรรม ๕, อรูปาวจรกุศลกรรม ๔)
– วิวัฏฏคามีกุศลกรรม (ในมรรคจิต ๔ /๒๐)
*วัฏฏคามีกุศลกรรม คือ กุศลกรรมที่ก่อวิบากที่ให้เป็นไปในวัฏฏะ (ก่อปฏิสนธิวิญญาณ,กัมมชรูป…)
*วิวัฏฏคามีกุศลกรรม คือ กุศลกรรมที่ไม่ก่อวิบากที่เป็นไปในวัฏฏะ (ไม่ก่อปฏิสนธิวิญญาณ,กัมมชรูป…)
* เจตนาในจิตที่เป็น วิปากชาติ, และกริยาชาติ ไม่จัดเข้าเป็นกรรมในที้นี้ เพราะไม่ทำพีชนิธานกิจ กิจคือการก่อพืชพันธุ์ …ฯ
————
พระดำรัสที่พระพุทธองค์ ตรัสหมายถึงกรรม โดยชื่อ ๒ ชื่อ (ในปฏิจจสมุปบาท) คือ
๑) สังขาร (อภิสังขาร ๓ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร,อปุญญาภิสังขาร,อาเนญชาภิสังขาร) (ในพระสูตร มุ่งหมายเอาเจตนากรรมที่เป็นไปในวัฏฏะเท่านั้น)
๒) กัมมภวะ (กัมมภว ๓ ได้แก่ ปุญญกัมมภว,อปุญญกัมมภว,อาเนญชกัมมภว)
โดยปริยายอื่น ทรงตรัสไปตามกัมมทวาร (ทวารที่ทำให้กรรมสำเร็จ) ๓ คือ
๑) กายกรรม หรือ กายสังขาร (เจตนาใน อกุศลจิต ๑๒, มหากุศลจิต ๘ ที่ให้สำเร็จกรรมทางกายทวารได้)
๒) วจีกรรม หรือ วจีสังขาร (เจตนาใน อกุศลจิต ๑๒, มหากุศลจิต ๘ ที่ให้สำเร็จกรรมทางวจีทวารได้)
๓) มโนกรรม หรือ มโนสังขาร (เจตนาใน อกุศลจิต ๑๒, มหากุศลจิต ๘, มหัคคตกุศลกรรม ๙ ที่ให้สำเร็จกรรมทางมโนทวารได้)
กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ…. กรรมที่ทรงตรัสโดยนัยต่าง ๆ ว่า กรรม ๑๒, กรรม ๑๖ …ฯลฯ…
ทั้งหมด โดยความมุ่งหมาย ทรงหมายเอากรรมที่เป็นโลกียะ และกรรมที่เป็นโลกียะนี้ จะถึงการนับว่าเป็น “กรรม” (ที่จะก่อผล คือ โลกียวิบาก ๓๒,เจตสิก ๓๕, กัมมชรูป ๒๐) ได้ ก็เพราะมี อวิชชา, ตัณหา เป็นปัจจัยอันสำคัญ เพราะถ้าไม่มี อวิชชา, ตัณหา เป็นปัจจัยแล้ว, “กรรม” ก็มีไม่ได้ ฯ
ผู้ที่ไม่มี อวิชชา ตัณหา ก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น และบุคคลที่เป็นพระอรหันต์ กระทำสิ่งใด ๆ เช่นแสดงธรรม, เดินบิณฑบาต, ทำฌาน, อภิญญา, สมาบัติ… สิ่งนั้นเป็นกิริยา ไม่เรียกว่า “กรรม” เพราะไม่ก่อวิบากอันเป็นเหตุให้ถือปฏิสนธิในภพภูมิต่าง ๆ ฯ
(ผลจิตของพระอรหันต์ หรือของพระอริยบุคคลเบื้องต่ำ ๓ ไม่ทำหน้าที่ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ทำหน้าที่เป็น ชวนะ เท่านั้น)
***หมายเหตุ : ความมุ่งหมายของคำว่า “กรรม” ในคำว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ…” ทรงมุ่งหมายเอากรรม คือเจตนาที่ใน อกุศล, และโลกียกุศล
————–
หมายเหตุ : ปริยายของคำว่า “กรรม” มีอีกมากมายเยอะแยะ… เช่นในวินัยปิฎก กัมมขันธกะ, (สังฆกรรม, จีวรกรรม, อปโลกนกรรม, ตัชชนียกรรม…ปริวาสกรรม, อปโลกนกรรม, ญัตติกรรม…ฯลฯ…จัดเป็นบัญญัติกรรมตามพระวินัย) แต่ทั้งหมด มาจบลงตรงที่ “เจตนา, จิต, กาย, วาจา” (ต้องนำองค์ธรรมปรมัตถ์ในอภิธรรมไปกำหนดเสมอ)
—————-
กรรมที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือกรรมอะไร?
“กรรมที่เป็นสัมมาทิฏฐิ” (เบื้องต้น, บุรพภาค) หมายเอาเจตนากรรม ที่เป็นไปในโลกียกุศลจิต ๑๗ โดยอาศัยสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ๔ อย่างคือ
๑) ตถาคตโพธิสัทธา
๒) กัมมสัทธา
๓) วิปากสัทธา
๔) กัมมัสสกตาสัทธา
เกิดขึ้นโดยอาศัย บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง…
โดย “อันติมะ” (นัยสูงสุด) มุ่งหมายเอา “เจตนากรรมในมรรคจิต” ที่เป็นตัวทำลายภพชาติ
– เจตนาที่ในโลกียกุศล ยังเป็นไปในวัฏฏะ
– เจตนาที่ในมรรคกุศล ไม่เป็นไปในวัฏฏะ
———–
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ