การนอนเนื่องของ อนุสัยกิเลส และธรรมที่ประหาณ
การนอนเนื่องของ อนุสัยกิเลส นี้มีอยู่ ๒ ประการคือ
….. ๑. กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในการเกิดขึ้นสืบต่อแห่งรูปนาม ชื่อว่า “สันตานานุสยกิเลส”
….. ๒. กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ที่เป็นปียรูป สาตรูป อปียรูป อสาตรูป (โลกียจิต ๘๑,เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘) ชื่อว่า “อารัมมณานุสยกิเลส”
….. ใน ๒ ประการนี้ มรรคทั้ง ๔ ทำการประหาณสันตานานุสยกิเลส วิปัสสนาญาณที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ทำการประหาณอารัมมณานุสยกิเลส ฉะนั้นอนุสัยกิเลสที่อนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ได้ประหาณไปนั้นเป็นอารัมมณานุสยกิเลส ส่วนสันตานานุสยกิเลสนั้นเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด แม้ว่าผู้นั้นจะได้เคยปฏิบัติวิปัสสนามาแล้วหลายครั้งหลายหนหรือกำลังปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือผู้ที่เป็นญานลาภี อภิญญาลาภี ทำฤทธิ์เดชต่างๆ นานาได้กี่ตาม หรือจะได้ไปบังเกิดเป็นพรหมติดต่อกันหลายภพหลายชาติก็ตาม สันตานานุสยกิเลสก็ยังคงมีอยู่เต็มที่เป็นปกติ โดยอาการที่ยังมิได้ถูกประหาณลงเลยแม้แต่เล็กน้อย
….. สำหรับอารัมมณานุสยกิเลสนั้น เมื่อวิปัสสนาญาณของพระโยคีได้เข้าถึงขั้นภังคญาณ อารัมมณานุสยกิเลสก็ถูกประหาณลงทันทีตั้งแต่ญาณนี้เรื่อยๆ ไป ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระวิภังคบาลีว่า :
….. สตฺตานุสยา กามราคานุสโย ปฏิฆานุสโย มานานุสโย ทิฏฺฐานุสโย วิจิกิจฉานุสโย ภวราคานุสโย อวิชฺชานุสโย ยํ โลเก ปียรูปํ สาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ราคานุสโย อนุเสติ, ยํ โลเก อปฺปียรูปํ อสาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ปฏิฆานุสโย อนุเสติ อิติ อิเมสุ ทฺวีสุ ธมฺเมสุ อวิชฺชา อนุปติตา, ตทกฏฺโฐ มาโน จ ทิฏฺฐิ จ วิจิกิจฉา จ ทฏฺฐพฺพา ฯ
แปลความว่า อนุสัยกิเลสมี ๗ อย่าง คือ
….. – กามราคานุสัย ธรรมชาติที่ยินดีพอใจรักใคร่ในกามคุณอารมณ์ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
….. – ปฏิฆานุสัย ธรรมชาติที่ขัดแค้นในอารมณ์นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
….. – มานานุสัย ธรรมชาติที่ถือตัวนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
….. – ทิฏฐานุสัย ธรรมชาติที่เห็นผิดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
….. – วิจิกิจฉานุสัย ธรรมชาติที่สงสัยในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูอาจารย์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
….. – ภวราคานุสัย ธรรมชาติที่ยินดีพอใจในภพชาตินอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
….. – อวิชชานุสัย ธรรมชาติที่หลงอยู่ในเรื่องเห็นผิดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน (นี้เป็นสันตานานุสยกิเลส)
….. ปียรูปสาตรูป สภาพที่น่ารักน่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลก คือสังขารธรรมรูปนามภายในตน กามราคะและภวราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในปียรูป สาตรูป สภาพที่น่ารักน่ายินดีเหล่านี้ อปียรูป อสาตรูป สภาพที่ไม่น่ารักไม่น่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลกคือสังขารธรรมรูปนามภายในตน ปฏิฆานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอปียรูป อสาตรูป สภาพที่ไม่รักไม่น่ายินดีเหล่านี้ เมื่อเป็นดังนี้ อวิชชานุสัยก็ย่อมนอนเนื้องอยู่ในราคะและปฏิฆะ ทั้ง ๒ นี้ด้วย ส่วน มานานุสัย ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัยเหล่านี้ แม้เมื่อจะเกิด ก็ย่อมเกิดตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกันกับจิตที่มีอวิชชา (นี้เป็นอารัมมณานุสยกิเลส) นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบดังนี้
….. สันตานานุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานโคยอาการที่ยังไม่ปรากฏเป็นสภาวปรมัตถ์ คือยังไม่เข้าถึงขณะทั้ง ๓ (เกิด ตั้ง ดับ) นั้นได้ชื่อว่า “สันตานานุสยกิเลส” ดังนั้น ผู้ที่ยังมิได้ทำการประหาฌอนุสัยกิเลสโดยสมุจเฉทนั้นได้ชื่อว่าเป็นปุถุชน และปุถุชนคนเหล่านี้แม้ว่าจะยังเป็นเด็กอยู่ในครรภ์มารคาก็ตาม เป็นเด็กเล็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่แก่เฒ่าลงไปก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ บรรพชิตก็ตาม ได้ฌานอภิญญา เหาะดำดินไปได้ก็ตาม แม้ที่สุดจะได้บังเกิดเป็นพรหมอยู่หลายภพหลายชาติก็ตาม ปุถุชนคนเหล่านี้ก็ยังเป็นผู้ที่มีอนุสัยกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามีแล้วก็ตาม อนุสัยกิเลสอีก ๕ อย่างก็ยังเหลืออยู่ ยังหาได้ประหาณให้หมดไปไม่ คงประหาณได้แต่ทิฏฐิ วิจิกิจฉานุสัย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ครั้นเป็นพระอนาคามี ภวราคะ มานะ อวิชชานุสัย ทั้ง ๓ ก็ยังมีอยู่ หาได้หมดไปเพียงขั้นนี้ไม่
….. ฉะนั้นบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้จึงยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ อุปมาเหมือนกับคนไข้ที่ยังไม่หายไข้ มีผู้มาถามว่าท่านสบายดีหรือ ? แม้ว่าในขณะนั้นจะมิได้เป็นไข้แต่ก็ตอบว่าเป็นไข้อยู่ โดยมาคำนึงนึกถึงไข้ที่เคยเป็นมาแล้วและจักเป็นอีกในวันหน้า หรืออุปมาเหมือนกับผู้ที่ยังมิได้มีการเว้นขาดจากการรับประทานเนื้อ เมื่อถูกถามว่าท่านรับประทานเนื้อหรือเปล่า ? ถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะมิได้รับประทานอยู่ก็จริงแต่ก็ตอบว่าข้าพเจ้ารับประทาน ทั้งนี้ก็เพราะว่ามาคำนึงนึกถึงที่ได้เคยรับประทานมาและจักรับประทานอีกในวันหน้า สมดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในอนุสยยมกว่า :
ยสฺส กามราคานุสโย อุปฺปชฺชติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อุปฺปชฺชตีติ ?
กามราคานุสัยกำลังเกิดแก่บุคคลใดปฏิฆานุสัยก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้นใช่ไหม ?
อามนฺตา ใช่
การที่ทรงวิสัชนาดังนี้ก็เพราะทรงหมายถึงความที่ยังเป็นอนุสัยอยู่ โดยอาการที่เคยเกิดและจักเกิดดังที่ได้ยกอุปมามาเปรียบเทียบให้เห็นแล้วทั้ง ๒ ข้อนั้น แต่ถ้าจะถามว่า
ยสฺส กามราโค อุปฺปชฺชติ ตสฺส ปฏิโฆ อุปฺปชฺชตีติ ?
กามราคะกำลังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆะก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้นใช่ไหม ?
วิสัชนาว่า นุปฺปชฺชติ ไม่ใช่กำลังเกิด
….. อนึ่ง อนุสัยกิเลสทั้ง ๗ ประการนี้เมื่อปรากฏขึ้นโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์ คือเข้าถึงปริยุฏฐานแล้วนั้น ย่อมเกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี (เช่น โลภะ โมหะ), เกิดไม่พร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี (เช่น โลภะ โทสะ) แต่เมื่อยังเป็นอนุสัยอยู่นั้น ได้นอนเนื่องอยู่พร้อมกันทั้ง ๗ อย่าง สำหรับปุถุชน, นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของพระโสดาบัน,สกทาคามี ๔, นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของพระอนาคามี ๓, และไม่มีนอนเนื่องในขันธสันดานของพระอรหันต์เลย) เหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงแสดงในอนุสยยมกว่า :
ยสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อนุเสตีติ ?
กามราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันคานของบุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลนั้นใช่ไหม ?
อามนฺตา ใช่
….. ฉะนั้น การประหาณสันตานานุสัยกิเลสได้โดยเด็ดขาดนั้น ก็มีแต่มรรคญาณอย่างเดียว สำหรับวิปัสสนาญาณนั้นคงประหาณได้ด้วยตทังคปหานเท่านั้น ส่วนฌานสามารถประหาณด้วยวิกขัมภนะคือด้วยการข่มไว้เป็นเวลานานๆ คือหลายวันหลายเดือนหลายปีหลายมหากัป อารัมมณานุสัยกิเลส การเกิดขึ้นของกิเลส โดยไม่สิ้นสุดในอารมณ์ที่ยังมิได้มีการพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยวิปัสสนาญาณ มรรคญาณ กิเลสนี้ชื่อว่า “อารัมมณานุสัยกิเลส” ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานโอวาทแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า :-
….. สุขาย ภิกฺขเว เวทนาย ราคานุสโย ปหาตพฺโพ ทุกฺขาย เวทนาย ปฏิฆานุสโย ปหาตพโพ, อทุกฺขมสุขาย เวทนาย อวิชฺชานุสโย ปหาตพฺโพ ฯ (มาในเวทนา สังยุตตพระบาลี)
….. แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายควรละราคานุสัยในการเสวยสุข ควรละปฏิฆานุสัยในการเสวยทุกข์ ควรละอวิชชานุสัย ในการเสวย ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ พระโอวาทนี้ทรงมุ่งหมายถึง “อารัมมณานุสัยกิเลส” ทั้งพระอรรถกถาจารย์ ก็ยังได้กล่าวไว้ว่า : – อิมสฺมึ สุตฺเต อารมฺมณานุสโย กถิโต ในสูตรที่มี สุขาย ภิกฺขเว เวทนาย เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสคงอารัมมณานุสัยกิเลส แต่ก็หาได้ทรงชี้แจงถึงข้อปฏิบัติที่จะทำการละ “อารัมมณานุสัยกิเลส” นี้แต่ประการใดไม่ เพียงแต่ทรงเตือนให้ทำการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ เท่านั้น เพราะว่าถ้าภิกษุทั้งหลายมิได้ทำการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ แล้วก็ไม่มีทางอื่นใดที่จะทำการประหาณอารัมมณานุสัยกิเลสนี้ได้ ถ้าว่าได้ทำการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฎฐานทั้งนี้อยู่โดยเคร่งครัดแล้ว ก็จะกล่าวได้ว่ามีการละกิเลสในการเสวยอารมณ์นั้นๆ ได้ ดังที่พระฎีกาจารย์ได้แสดงไว้ในอานาปานัสสติกรรมฐานแห่งวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า :
….. อนิจฺจานุปสฺสนา ตาว ตทงฺคปฺปหานวเสน นิจฺจสญฺญํ ปริจฺจชติ ปริจฺจชนฺตี จ ตถา อปฺปวตฺติยํ เย นิจฺจนฺติ คหณวเสน กิเลสา ตมฺมูลกา อภิสงฺขารา ตทุภยมูลกา จ วิปากา ขนฺธา อนาคเต อุปฺปชฺเชยฺยุํ เต สพฺเพ อปฺปวตฺติกรณวเสน ปริจฺจชติ ตถา ทุกฺขานุปสฺสนาทโย เตนาห วิปสฺสนา หิ ตทงฺควเสน สทฺธึ ขนฺธาภิสงฺขาเรหิ กิเลเส ปริจฺจชตีติ ฯ
….. แปลความว่า อนิจจานุปัสสนาที่แสดงในอันดับแรกนี้ย่อมสละละทิ้งนิจจสัญญาด้วยอำนาจแห่งตทังคประหาณ เมื่ออนิจจานุปัสสนาได้สละละทิ้งนิจจสัญญาได้แล้ว ถ้าหากว่ามิได้มีการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงโดยอาการดังที่กล่าวนี้ กิเลสต่างๆ อาจเกิดได้ในภายหลังด้วยอำนาจแห่งความยึคถือว่ารูปนามนี้เที่ยง และอภิสังขารคือ อกุศลโลกียกุศลกรรมที่มีกิเลสเป็นมูลก็ดี วิบากนามขันธ์อันเป็นตัวภพใหม่ที่มีกรรมและกิเลสทั้ง ๒ นี้เป็นมูลก็คีอาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง อนิจจานุปัสสนาที่สละละทิ้งนิจจสัญญาได้นั้น ย่อมสละละทิ้งกิเลสกรรมวิบาก แม้เหล่านี้ทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้นได้พร้อมกันอีกด้วย ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปีสสนา ที่สละละทิ้งสุขสัญญา อัตตสัญญาเป็นต้นได้นั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้นพระมหาพุทธ โฆษาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคว่า วิปัสสนาญาณย่อมสละกิเลสพร้อมด้วยวิบากนามขันธ์และอภิสังขารด้วยอำนาจตทังคปหาน เมื่อ “อนิจจานุปัสสนา” เกิด “ทุกขานุปัสสนา และอนัตตานุปัสสนา” ก็ย่อมเกิดขึ้นตาม
….. ในเรื่องนี้ เมื่อมีการพิจารณาเห็นว่าเป็นอนิจจะแล้วกิเลสที่เกี่ยวกับนิจจสัญญาก็เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นไม่”ได้ อันนี้เห็นได้โดยแจ้งชัดไม่มีข้อที่จะต้องสงสัย แต่ปัญหามีอยู่ว่าที่เกี่ยวกับสุขสัญญาและอัตตสัญญานั้นจะเกิดขึ้นในอารมณ์อันเดียวกันนี้ได้หรือไม่ ? แก้ว่า เกิดไม่ได้เพราะว่า ผู้ปฏิบัติที่ได้พิจารณาเห็นในอารมณ์ โดยความเป็นของไม่เที่ยงด้วยอำนาจการปรากฏแห่งอนิจจลักขณะคือเกิดดับๆ นั้น ครั้นได้หวนกลับไปพิจารณาดูในอารมณ์นั้นอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่เห็นว่าเป็นสุข คงเห็นว่าเป็นทุกข์ โดยการเกิดขึ้นดับไปไม่หยุดยั้ง ทั้งมิได้เห็นว่ามีตัวตนเป็นแก่นสารแต่อย่างใดเลยในอารมณ์นั้นอีกด้วย คงเห็นแต่ว่าไม่ได้อยู่ภายใต้บังกับบัญชา ไม่เป็นไปตามประสงค์ คงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ดังนั้น กิเลสที่เกี่ยวกับสุขสัญญาและอัตตสัญญา จึงเกิดขึ้นไม่ได้ในอารมณ์ที่มีการพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงดังนี้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ใน อังคุตตรพระบาลี ว่า :
….. “อนิจฺจสญฺญา ภาเวตพฺพา อสฺมิมานํ สมุคฺฆาตาย, อนิจฺจสญฺญิโน ภิกฺขเว อนตฺตสญฺญา สณฺฐาติ, อนตฺตสญฺญี อสฺมิมานสมุคฺฆาตํ ปาปุณาติ ทิฏเฐว ธมฺเม นิพฺพานํ” แปลความว่า พึงเจริญอนิจจสัญญาคือความจำหมายว่าไม่เที่ยง เพื่อถอนออกเสียซึ่งอัสมิมานะที่มีอาการถือตนว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนัตตสัญญาความจำหมายว่าไม่ใช่ตน เรา เขา ย่อมตั้งขึ้นเองอยู่ด้วยดีแก่ผู้ที่มีการพิจารณาเห็นเป็นอนิจจะ ผู้ที่พิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตะ คือไม่ใช่ตน เรา เขานั้น ย่อมเป็นผู้ที่เข้าถึงซึ่งการถอนออกแห่งอัสมิมานะที่มีอาการยกตนว่า เรา แล้วเข้าถึงนิพพาน คือความสงบแห่งกิเลสในภพที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้านี้นั่นเทียว
….. ในพระบาลีนี้คำรับรองที่เป็นพยานหลักฐานอย่างสำคัญในเรื่องนี้ ก็อยู่ตรงพระบาลีที่กล่าวว่า อนิจฺจสญฺญิโน ภิกฺขเว อนตฺตสญฺญา สณฺฐาติ และพระอรรถกถาจารย์ก็ยังได้กล่าวคำอธิบายขยายความตามพระบาลีนี้ไว้ใน อังคุตตรอรรถกถาอีกว่า :-
….. อนตฺตสญฺญา สณฺฐาตีติ อนิจฺจลกฺขเณ ทิฏฺเฐ อนตฺตลกฺขณํ ทิฏฺฐเมว โหติ, เอเตสุ หิ ตีสุ ลกฺขเณสุ เอเกกสฺมึ ทิฏฺเฐ อิตรทฺวยํ ทิฏฺฐเมว โหติ, เตน วุตฺตํ อนิจฺจสญฺญิโน ภิกฺขเว อนตฺตสญฺญา สณฺฐาตีติ ฯ แปลความว่า ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า อนตฺตสญฺญา สญฺญาติ (อนัตตสัญญาความจำหมายว่า ไม่ใช่ตน เรา เขาย่อมตั้งขึ้นเองอยู่ด้วยดี) นั้น อธิบายว่า เมื่อพิจารณาเห็นการเกิดดับที่เป็นอนิจจลักขณะแล้ว ก็จักห็นอนัตตลักขณะ คือไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชามีแต่เกิดดับเป็นไปตามเหตุปัจจัยสำเร็จไปด้วย เป็นความจริงดังนั้นเมื่อได้เห็นลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาลักษณะ ๓ อย่างนั้นก็จะต้องได้เห็นลักษณะทั้ง ๒ ที่เหลืออีกด้วยอย่างแน่แท้ เหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า อนิจฺจสญฺญิโน ภิกฺขเว อนตฺตสญฺญา สณฺฐาติ ดูกรภิกยุทั้งหลายอนัตตสัญญาความจำหมายว่าไม่ใช่ตน เรา เขา ย่อมตั้งขึ้นเองอยู่ด้วยดี แก่ผู้ที่มีการพิจารณาเห็นเป็นอนิจจะ.
——–///———
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ