โปราณา ปนาหุ จกฺขุ รูปํ น ปสฺสติ อจิตฺตกตฺตา จิตฺตมฺปิ น ปสฺสติ อจกฺขุกตฺตา ทฺวรารมฺมณสงฺฆฏฺเฏ ปน จกฺขุปฺปสาทวตฺถุเกน จิตฺเตน ปสฺสติ อีทิสี ปเนสา ธนุนา วิชฺฌตีติอาทีสุ วิย สสมฺภารกถา นาม โหติ.(วิสุทฺธิมคฺค ข้อ ๑๕)
โบราณาจารย์ทั้งหลาย(มหาอัฏฐกถา)กล่าวไว้ว่า "จักขุ ย่อมไม่เห็น ซึ่งรูป เพราะความไม่มีจิต (อธิบายว่า เพราะความไม่มีจิตผู้อาศัย(นิสสิต)ซึ่งจักขุ ดุจจักขุ ของบุคคลผู้หลับอยู่), แม้จิต ก็ย่อมไม่เห็น ซึ่งรูป เพราะความไม่มีจักขุ(อธิบายว่า เพราะความไม่มีจักขุเป็นที่อาศัย(ด้วยอำนาจวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย) ดุจจิตเหล่าอื่นจากจิตที่อาศัยจักขุ), แต่ ครั้นเมื่อทวาร(จักขุทวาร)และอารมณ์(รูปารมณ์)กระทบกัน(เผชิญหน้ากัน) บุคคลย่อมเห็น(ซึ่งรูป) ด้วยจิต มีจักขุปสาทเป็นที่ตั้ง(คือด้วยจิตมีจักขุปสาทเป็นวัตถุ,ความว่า จิต(ธรรมชาตรู้อารมณ์เป็นลักขณะ) ใด ๆ(ไม่กำหนดแน่นอนว่าจิตใด) เป็นไปอาศัยอยู่ ซึ่งจักขุวัตถุ,จิตนั้นๆ(กำหนดแน่นอน) ย่อมทำ ซึ่งทัสสนกิจ โดยส่วนเดียว เพราะเหตุนั้น จักขุ จึงชื่อว่า จักขุนทรีย์ เพราะอรรถว่า กระทำซึ่งความเป็นใหญ่ ในกิจของตน กล่าวคือทัสสนกิจ ด้วยสามารถแห่งความเป็นปุเรชาตินทริยปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ . สมดังที่จักขุวิญญาณ มีอรรถว่า วิญญาณ อันอาศัย ที่จักขุ, หรือวิญญาณ อันเป็นไป เพราะจักขุ)
ก็ พระดำรัสเหมือนเช่นนี้นั่น(ว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา – เห็นซึ่งรูป ด้วยจักขุ)ชื่อว่า สสัมภารกถา(กถาเป็นไปกับด้วยเหตุ) เหมือน ในกถาทั้งหลายมีอาทิว่า ธนุนา วิชฺฌติ – บุคคลย่อมยิง(ซึ่งเป้า) ด้วยคันธนู”(อธิบายว่า พระบาลีบทว่า จกฺขุนา – ด้วยจักขุ เป็นสสัมภารกถา กล่าวคือ การณูปจาร – คำพูดโดยอ้อมที่กล่าวเหตุคือจักขุปสาท อันเป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย แต่หมายเอาผลคือวิญญาณที่อาศัยจักขุปสาท ที่ทำทัสสนกิจ คือเห็นรูป เพราะอาศัยจักขุปสาท, วิญญาณอื่นมีวิญญาณที่อาศัยโสตวัตถุเป็นต้น ไม่อาจเห็นรูป ดุจในทางโลก กล่าวว่า ธนุนา วิชฺฌติ – ยิง(เป้า) ด้วยคันธนู, บทว่า ธนุนา เป็นสสัมภารกถา กล่าวคือ การณูปจาร – คำพูดถึงคันธนู อันเป็นเหตุให้ลูกศรแล่นไป , แต่หมายเอาผลคือลูกศรที่แล่นไป อันเป็นตัวกิริยายิง ซึ่งเป้า, อีกอย่างหนึ่ง เป็นว่า จกฺขุนาก็ดี บทว่า ธนุนาก็ดี เป็นฐานูปจาร ก็ได้- กล่าวถึงฐานะที่ตั้งคือจักขุ แต่หมายเอาฐานีคือสิ่งมีที่ตั้งได้แก่ จักขุวิญญาณ ดุจ ประโยคว่า มญฺจา อุกกุฏฺฐึ กโรนฺติ – เตียงทั้งหลาย ย่อมกระทำ ซึ่งเสียงโห่ร้อง, บทว่า มญฺจา เป็นฐานูปจาร คือกล่าวถึงเตียงอันเป็นฐานะที่ตั้ง แต่หมายเอาฐานีคือคนที่มีที่ตั้ง ความว่า คนที่อาศัยอยู่บนเตียงนั่นเองโห่ร้อง)
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ