สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติ ปัญหา​(ปัญหา​เกี่ยวกับ​การปฏิบัติ​ชอบแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิต)

ถามว่า​ ในพระไตรปิฏกก็มีกล่าวแสดงยืนยันไว้ว่าคฤหัสถ์​กับบรรพชิต​ต่างก็ล้วนสำเร็จเป็นพรอริยบุคคลได้เช่นกัน​ ​ก็ในเมื่อคฤหัสถ์​ มี​ลูกเมียได้ ดูหนังดูละครได้​ กินอาหารเมื้อเย็นได้​เป็นต้น​ สบายกว่าบรรพชิต​ซึ่งทำไม่ได้​ ยากลำบากเพราะต้องฝืนกิเลส​ แล้วการบวชจักมีประโยชน์อะไรเล่า?

   คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติ ปัญหา​(ปัญหา​เกี่ยวกับ​การปฏิบัติ​ชอบแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิต)

   พระเจ้ามิลินท์​  " พระคุณเจ้านาคเสน​ พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า​  ' คิหิโน​ วาหํ ภิกฺขเว​ ปพฺพชิตสฺส​ ว​า​ สมฺมาปฏิปตฺตึ วณฺเณมิ ฯเปฯ อาราธโก​ โหติ  ญายํ ธมฺมํ​ กุสลํ -​ ดูก่อน​ ภิกษุ​ทั้งหลาย​ เราตถาคตย่อมกล่าวสรรเสริญ​สัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์​ ทั้งของบรรพชิต.​ ดูก่อนภิกษุ​ทั้งหลาย​ คฤหัสถ์ก็ตาม​ บรรพชิต​ก็ตาม​ ย่อมเป็นผู้บรรลุ​ญายธรรม(มรรคผล)​ได้​ เพราะได้ปฏิบัติ​สัมมาปฏิบัติ​ คือ​ การเจริญสติปัฏฐาน​ วิปัสสนา​ญาณ​สะสมไว้  '  (องฺ​ ทุก.20/88 วาศัพท์​ มีอรรถ​สมุจจยะ​ จึงแปลว่า​ทั้ง)​  ดังนี้.​ พระคุณเจ้า​นาคเสน​ ถ้าหากว่า​การปฏิบัติ​ส่วนที่เหลือ(สัมมาปฏิบัติศัพท์​  มีอรรถ​ เป็นปธานนัย​ คือพูดถึงสิ่งที่เป็นปธาน แต่หมายเอาสิ่งที่ไม่ใช่ประธาน​ ในที่นี้​ พูดถึงการเจริญสติปัฏฐานและการเจริญวิปัสสนาญาณ​ เป็นปธานสัมมาปฏิบัติ​ แต่หมายเอา​ สัมมาปฏิบัติ​ส่วนที่เหลือ​ของบรรพชิต​ จึงแปลว่า สัมมาปฏิบัติ​ส่วนที่เหลือ)​ ของพวกคฤหัสถ์​ มีการครองผ้าขาว  มีการบริโภคกาม​ เช่น​การเกลือกกลั้ว​อยู่กับบุตร​ภรรยา​ การเสวยน้ำหมักจันทน์หอมจากแคว้นกาสี​ ทัดทรงพวงดอกไม้ของหอมใช้เครื่องลูบไล้ผิว ยินดีเงินทอง​ ประดับต่างหูและไว้ทรงผม​แปลก​แตกต่างกันไป​ ผู้คนก็สำคัญว่า​ เป็นสัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลือเช่นกัน เพราะมีการบรรลุ​ญายธรรม​คือมรรคผลได้เช่นกัน​ ส่วนสัมมาปฏิบัติที่เหลือของบรรพชิต​ มี​ การครองผ้ากาสาวะ​ อาศัยก้อนข้าวของผู้อื่น​ เป็นผู้บริบูรณ์​ถึงพร้อม​ด้วยจตุปาริสุทธิศีล

4 ประเภท​ สมาทานสิกขาบท​อันเป็นข้อห้าม 150 ข้อ​ ประพฤติอธิกรณสมถุเทศ​(หัวข้อวิธีการสงบระงับอธิกรณ์ 7 วิธี)​นับเป็น​ 1 ข้อ​ ประพฤติกิริยาอันเป็นมรรยาทที่งดงาม​ 75​ ข้อ​ รวมเป็นศีลสิกขาบที่ทรงบัญญัติ​ขึ้น 227 ข้อ​ สมาทานธุดง 13 ข้อ​ ก็ชื่อว่า​ มีสัมมาปฏิบัติ​  เพราะมีการบรรลุญายธรรมคือมรรคผลได้เช่นกัน.พระคุณเจ้า​ เมื่อเป็นเช่นนั้น​ ในบุคคล​ 2​ จำพวก​ ผู้เป็นคฤหัสถ์​ และผู้เป็นบรรพชิต​ จักมีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันเล่า, การบำเพ็ญ​ความเพียรที่กล้าหาญ​ก็เป็นอันไร้ค่า​ การบวชก็เป็นอันหาประโยชน์​มิได้​  การสมาทานสิกขาบทที่ทรงบัญญัติขึ้นก็เป็นอันเป็นหมัน, การสมาทานธุดงค์ก็เป็นอันว่าสูญเปล่า​ ประโยชน์อะไรกับความยากลำบากในการบวชเป็นบรรพชิต​ เพราะความสะดวกสบายอันมีในเพศคฤหัสถ์นั่นแหละ​ ก็สามารถบรรลุญายธรรมคือมรรคผลได้มิใช่หรือ? "

   พระนาคเสน  " ขอถวายพระพร​ มหาบพิตร​ พระผู้มีพระภาค​ทรงภาสิตความข้อที่ว่า​  ' ดูก่อน​ ภิกษุ​ทั้งหลาย​ เราตถาคตย่อมกล่าวสรรเสริญสัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์​ ทั้งของ​บรรพชิต.​ ดูก่อน​ ภิกษุ​ทั้งหลาย​ คฤหัสถ์​ก็ตาม​ บรรพชิตก็ตาม​ ย่อมเป็นผู้บรรลุญายธรรม(มรรคผล)​ได้​ เพราะได้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติ​ คือการเจริญ​สติปัฏฐาน​ วิปัสสนาญาณสะสมไว้   '  ดังนี้​ ก็จริง.​ ขอถวายพระพร​ แต่บรรดาบุคคลผู้ปฏิบัติส่วนนี้ด้วยกันนั้น​ บรรพชิตผู้ปฏิบัติ​สัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือ​ มี​ การสมทานศีลสิกขาบทบัญญัติ​ สมาทานธุดงค์​ เป็นต้น​ ย่อมเป็นผู้​ประเสริฐ​สุด​ เพราะเมื่อบวชแล้ว​ ไม่ปฏิบัติ​สัมมาปฏิบัติ​ส่วนที่เหลือก็จะเป็นผู้ห่างไกล​ความเป็นบรรพชิต​แม้ชื่อสมัญญา​อันเป็นชื่อเรียกขานกัน​ ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ​แห่งพุทธบริษัทด้วยกัน​เลย​ ป่วยการที่จะพูดถึงคฤหัสถ์​ทั่วๆไป​ ขอถวายพระพร​ คำว่า​ เป็นผู้ประเสริฐ​สุด​ ก็คือผู้เป็นใหญ่​ แห่งสามัญ​ผล​อันเป็นสถานภาพความเป็นอริยบุคคล​นั่นเอง​ เพราะ​การบวช มีคุณมากมายเป็นอเนกประการ​ ประเมิน​ค่ามิได้​ ด้วยว่าบรรพชิต​ผู้จะปฏิบัติ​สัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลือ​ มีการสมาทานศีลสิกขาบทบัญญัติ​  การสมาทานธุดงค์​เป็นต้น​ ได้บริบูรณ์​ต้องเป็นผู้ประกอบพร้อม​ด้วย​ ความมักน้อย​ ความสันโดษ​ ความสงบเสงี่ยม​ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ​ ความปรารภความเพียร​ ความไม่ติดที่อยู่​ ความไม่มีเรือน​ ความมีศีลสังวร​ 5​ ครบบริบูรณ์ ความประพฤติ​ขูดเกลากิเลส​ ความฉลาดในข้อที่เป็นองค์คุณ​กำจัดกิเลส

   ขอถวายพระพร​ ผู้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติ​ในส่วนที่เหลื่อได้บริสุทธิ์​บริบูรณ์​ จึงเปรียบได้กับพระเจ้า​จักรพรรดิที่มีแก้วมณี​ ชื่อว่า​ ' กามททัสสะ '​ อำนวยประโยชน์​ทุกอย่างให้พระองค์​ได้​ ตามพระประสงค์

   ขอถวายพระพร​ บุคคลไม่สามารถ​นับระลอกลูกคลื่นในมหาสมุทร​ได้​ว่า​ มีจำนวนเท่าใด​ ฉันใด, ขอถวายพระพร​ แม้คุณ​ประโยชน์​การบวช​ ซึ่งมีคุณประโยชน์​มากมายเป็นอเนกประการ​ บุคคล​ก็ไม่สามารถนับจำนวนได้ว่า มีเท่าใด​ ฉันนั้นเหมือนกัน.

   ขอถวายพระพร​ เพราะคุณประโยชน์​การบวช​ มีมากมายเป็นอเนกประการจนนับไม่ถ้วน​ อีกทั้งก็มีอานุภาพเยี่ยมยอดด้วย​ กิจที่พึงทำทุกอย่าง​ ย่อมสำเร็จได้โดยพลัน​ คือ​ ง่ายดาย​แก่บรรพชิตผู้ปฏิบัติ​สัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลือ​ ไม่ใช่สำเร็จโดยพลัน​ คือง่ายดายแก่คฤหัสถ์ที่ไม่ได้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติ​ส่วนที่เหลือ.

   ขอถวายพระพร​ มหาบพิตร​ เปรียบเหมือนว่า​ ลูกศรที่ปราศจากปม​ เพราะขัดเรียบดี​ ดัดตรงดี​ ไม่มี​สนิม​ เวลานายขมังธนูยิงไป ก็ย่อมพุ่งตรงไปไดัดี​ ฉันใด, ขอถวายพระพร​  กิจที่พึงทำทุกอย่างของบรรพชิตที่ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติ​ส่วนที่เหลือได้ครบบริบูรณ์​ดี ย่อมเป็น​ไปด้วยดี​ ฉันนั้นเหมือนกัน."

   พระเจ้า​มิลินท์​ " ลึกซึ้ง​ดีจริง​ พระคุณ​เจ้านาคเสน​ ข้าพเจ้า​ขอยอมรับรายละเอียด​ตามที่ท่านกล่าวมานี้."


แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.