สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ผู้ดูแล
ทำไมความเห็นต่างระหว่างคัมภีร์ที่แสดงไตรสิกขาด้วยกัน คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค กับคัมภีร์วิมุตติมรรค ไม่ปรากฏความชัดเจน ยิ่งนานก็ยิ่งเป็นการเลือกข้าง มีชอบฝ่ายวิสุทธิมรรคบ้าง ฝ่ายวิมุตติมรรคบ้าง
( ตอนที่ 1.)
เหตุ ก็เพราะ ดังนี้ :-
1.เพราะไม่ให้ความสำคัญประวัติภาคส่วนพื้นหลังที่ก่อประเด็นแตกแยกเป็นนิกาย มี สำนักมหาวิหาร เป็นวัดแรกที่นิกายเถรวาทแพร่ขยายเข้าไปตั้งมั่นในสิงหล ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะอุปถัมภ์ปี พ.ศ.293-333 ต่อมาก็แยกเป็นสำนักอภัยคีรีวิหาร เพราะรับเอาลัทธิอาจาริยวาท เป็นวัดที่พระเจ้าวัฏฏะคามณีอุปถัมภ์ ปี พ.ศ.454-466 และแยกย่อยเป็นสำนักเชตวันวิหารอีกครั้ง เป็นวัดที่พระเจ้ามหาเสนะอุปถัมภ์ ปี พ.ศ.817-884 ยุคที่พระพุทธโฆษาจารย์เข้าไปสิงหล เพื่อแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษามคธ(บาลี)จึงเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของนิกายเถรวาท เพราะทั้งที่อินเดียและที่สิงหลกำลังเสื่อมถอย ถ้าไม่มีท่านนิกายเถรวาทคงหมดสิ้นแล้ว(คัมภีร์มหาวงศ์ บทที่ 15 มหาวิหารปฏิคคหนะ การรับมอบมหาวิหาร, บทที่ 76 วิหารการาปนะ การสร้างมหาวิหาร)
2.เพราะไม่ให้ความสำคํญสถานภาพของคัมภีร์ทั้งสองว่าเป็นชั้นอรรถกถาที่อธิบายขยายความพระไตรปิฏก ดังนั้นข้อมูลเหตุผล และหลักฐาน พึงนำสืบจากพระไตรปิฎก ไม่พึงใส่ความเห็นของตน เพราะอยู่ในฐานะผู้ศึกษา
3.เพราะไม่ให้ความสำคัญเนื้อความที่ควรนำเสนอทั้ง 2 ฝ่าย คือของฝ่ายตนกับของฝ่ายตรงกันข้าม แต่กลับเสนอของฝ่ายตนฝ่ายเดียว ผิดหรือถูกควรให้ผู้ศึกษาพิจารณาเอง
4.เพราะไม่ให้ความสำคัญลำดับก่อนหลัง ทั้ง 5 ประเภท คือ 1.ลำดับการละ(ปหานกมะ) 2.ลำดับภูมิ(ภูมิกมะ) 3.ลำดับการเกิดขึ้น(อุปัตติกมะ) 4.ลำดับการปฏิบัติ(ปฏิปัตติกมะ) 5.ลำดับการแสดง ว่ามี หรือไม่มี ถ้ามีเป็นลำดับได้กี่ประเภท
5.เพราะไม่ให้ความสำคัญวินยปริภาษา คือ หลักภาษาที่เป็นข้อกำหนดทางพระวินัย ซึ่งเป็นข้อควรปฏิบัติ อันจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย เช่น มรรยาทของคู่เห็นต่างเป็นต้น จะไม่มีการกล่าวชื่อกันให้เกิดความกระทบกระทั่งกัน โดยอาศัยสำนวนโวหารที่นิยมใช้กัน ดังนี้
วทนฺติ(อาจริยา) อาจารย์ของท่าน
สมาน ความเห็นที่พ้องกันของอาจารย์โดยส่วนมาก
เอเก,เอกจฺเจ อาจารย์ท่านหนึ่งที่ผู้กล่าวถึงยกย่อง เป็นผู้อยู่ในระดับเดียวกับตน
อญฺเญ อาจารย์รูปอื่นที่มีความรู้ทัดเทียมกับผู้กล่าว(ตีเสมอ)
อปเร อาจารย์ที่ผู้กล่าวเคารพยกย่อง,อาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่,อาจารย์ของอาจารย์
เกจิ ในอรรถกถา/ฏีกา ใช้ข่มหรือตำหนิ(ไม่เห็นด้วย) ในภาษาไทยกลับใช้ยกย่องสรรเสริญเวลาแปลพึงควรจับความให้ตรงกับวินยปริภาสา ส่วนชั้นฏีกาเอ่ยชื่อได้ เพราะเป็นการอธิบายขยายความอรรถกถา
6.เพราะไม่ให้ความสำคัญ วินยปริภาสา ส่วนที่เป็นการใช้ความหมายศัพท์(อรรถ)อันเป็นตัวสภาวะลักษณะ กับส่วนที่เป็นการใช้พยัญชนะ อันเป็นตัวอักษร สมดังคาถาที่กล่าวไว้ใน กงฺขา.140 ว่า
อตฺถํ หิ นาโถ สรณํ อโวจ
น พฺยญฺชนํ โลกหิโต มเหสี
ตสฺมา อกตฺวา มติมกฺขเรสุ
อตฺเถ นิเวเสยฺย มตึ มุตึมา.
แปลว่า เพราะเหตุที่พระนาถผู้ทรงเกื้อกูลชาวโลก ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ตรัสความหมายศัพท์เป็นหลัก มิใช่ตรัสรูปศัพท์เป็นหลัก ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงไม่กระทำความเพลิดเพลินในอักษร พึงประกอบปัญญาไว้ที่ความหมายศัพท์เถิด
ซึ่งความสำคัญทั้ง 6 ข้อนี้ ผู้ศึกษาจะเห็นได้จากความเห็นต่างในคัมภีร์ทั้งสอง ดังนี้
(โปรดติดตามตอนที่ 2)
--------------------
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ