สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ผู้ดูแล
ทำไมความเห็นต่างระหว่างคัมภีร์ที่แสดงไตรสิกขาด้วยกัน คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค กับคัมภีร์วิมุตติมรรค ไม่ปรากฏความชัดเจน ยิ่งนานก็ยิ่งเป็นการเลือกข้าง มีชอบฝ่ายวิสุทธิมรรคบ้าง ฝ่ายวิมุตติมรรคบ้าง (ตอนที่ 2)
1.ความเห็นต่างสภาวะลักษณะของศีล (ลักษณะจำเพาะของศีลไม่ใช่ " สีลนะ "(ความเป็นพื้นฐาน)
กิมตฺถํ สีลํ. สีตลตฺถํ เสฏฺฐตฺถํ สีลนตฺถํ สภาวตฺถํ สุขทุกขาภาวสมฺปยุตฺตตฺถํ สิรตฺถํ ปติฏฺฐานตฺถํ.(วิมุตติมรรค ข้อ 7 หน้า 2 เป็นฉบับบาลีอักษรพม่าที่ปริวรรตมาจากฉบับบาลีอักษรสิงหลจากใบลาน พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช 2506 โดยมหาวิทยาลัยสงฆ์พม่าแห่งเมืองย่างกุ้งซึ่งเนื้อความสั้นกว่าฉบับภาษาอังกฤษ The Path of Freedom ที่แปลมาจากฉบับภาษาจีน และหัวข้อที่อธิบายความก็น้อยกว่า สันนิษฐานว่าฉบับภาษาอังกฤษ คงเพิ่มเติมที่หลัง จนทำให้มีหัวข้อที่ตั้งประเด็นอธิบายซ้ำซ้อน เช่น สภาวะลักษณะของศีล เป็นต้น คือ ไม่ใช่การขยายความ แต่เป็นการอธิบายคนละประเด็นกัน)
แปลว่า ศีลมีสภาวะลักษณะเป็นไฉน? สภาวะลักษณะของศีล มีสภาวะลักษณะที่เย็น ที่ดีเลิศ มีสภาวะลักษณะที่เป็นปกติ ที่ประกอบด้วยสุขไม่มีทุกข์ มีสภาวะลักษณะเป็นศรีษะ เป็นที่ตั้งมั่นแห่งกุศล.
วิสุทธิมรรคกล่าวแย้งว่า
เอตเทว เหตฺถ อตฺถทฺวยํ สทฺทลกขณวิทู อนุชานนฺติ. อญฺเญฺ ปน สิรตฺโฐฺ สิลตฺโฐฺ, สีตลตฺโถ สีลตฺโถติ เอวมาทินาปิ นยเนตฺ อตฺถํ วณฺณยนฺติ.(วิสุทธิมรรค 1/7/8) แปลว่า อนึ่ง ผู้รู้สภาวะลักษณะของศัพท์เห็นชอบในความหมายทั้ง 2 นี้เท่านั้น(หมายความว่ายอมรับว่า อรรถของสีลนะศัพท์(ความเป็นพื้นฐาน) มี 2 อาการ คือ เป็นฐานที่ทรงความดีไว้ได้(สมาธานะ) และเป็นฐานที่รองรับคุณธรรมที่สูงขึ้นได้ (อุปธารณะ) ซึ่งฐานทั้ง 2 อาการ เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนพื้นฐานตึก ถ้าฐานไม่แข็งแรง ก็รองรับน้ำหนักไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นพื้นฐานตึกเดียวกันแต่แยกกล่าวเป็น 2 อาการ เพื่อให้เห็นอาการความเป็นฐานต่างกัน และให้รู้ความเนื่องกันว่า ถ้าอาการฐานใดฐานหนึ่งพังอีกอาการฐานก็พังไปด้วย เหมือนกรณีพระเทวทัต พอละโมบโลภมากคิดเป็นใหญ่แทนพระพุทธเจ้า อภิญญาก็เสื่อมทันที่) แต่สภาวะลักษณะของศีลเป็นวิเสสลักษณะใช้บ่งบอกสถานภาพความเป็นศีลต้องมีลักษณะจำเพาะอย่างเดียว อาจารย์อื่นกลับอธิบายความหมายในศัพท์ว่า สีลนะ นี้ แม้นกระทั่งว่าด้วยทำนองว่า สภาวะลักษณะของศีล เป็นศรีษะ เป็นความเย็น สภาวะอื่นๆก็เป็นเหมือนเช่นทำนองนี้นั่นแหละ.(เพราะวิเสสลักษณะของศีล มี สีลนะ เป็นลักษณะจำเพาะเพียงอย่างเดียว) ความเห็นต่างข้อนี้เกิดขึ้นเพราะไม่ให้ความสำคัญข้อ 6.นั่นเอง
2.ความเห็นต่างว่า ธุดงค์เป็นบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ พบในคัมภีร์วิมุตติมรรค แต่ความเห็นนี้ถูกคัดค้านในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ดังนี้
เยสมฺปิ กุสลตฺติกวินิมุตตํ ธุตงฺคํ, เตสํ อตฺโถ ธุตงฺคเมว นตฺถิ. อสนฺตํ กสฺส ธุนนโต ธุตงฺคํ นาม ภวิสฺสติ. ธุตคุเณ สมาทาน วตฺตตีติ วจนวิโรโธปิ จ เนสํ อาปชฺชติ, ตสฺมา ตํ น คเหตพฺพํ. แปลว่า ธุดงค์แม้นของของภิกษุเหล่าใดก็ตาม ที่พ้นไปจากกุสลติกะ ธุดงค์ของภิกษุเหล่านั้นนั่นแหละ ย่อมไม่มีโดยสภาวะ สิ่งที่ไม่มีสภาวะจักชื่อว่าธุดงค์ เพราะกำจัดสิ่งใดเล่า? ฉะนั้นการสมาทานธุดงค์ของภิกษุเหล่านั้น ย่อมต้องประสบเจอกับคำพูดที่เป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกันว่า " ย่อมสมาทานบำเพ็ญเพื่อธุดงค์คุณ " ดังนั้นคำพูดเรื่องธุดงค์เช่นนี้ บัณฑิตจึงไม่ควรถือเอาแล.
ถามว่า รู้สภาวะลักษณะของธุดงค์ (ลักษณะจำเพาะของธุดงค์) ซึ่งก็คือ สมาทานเจตนา(ความตั้งใจรักษาด้วยความเคารพ) มีประโยชน์อะไรบ้าง?
ตอบว่า มี ประโยชน์ช่วยจำแนกสภาวะธุดงค์ของบุคคลได้ เช่น พระภิกษุถึงแม้นได้ผ้าบังสกุลมานุ่งห่ม แต่ไม่มีความตั้งใจสมาทาน ก็เป็นแต่เพียงภิกษุผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล หาใช่พระภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลไม่ แม้นองค์บริวารของธุดงค์ มี
1.อัปปิจฉตา ความมักน้อย
2.สันตุฏฐิตา ความสันโดษ
3 สัลเลขตา ความประพฤติขูดเกลากิเลส
4.ปวิเวกตา ความสงัด
5.อิทมัตถิตา ความรู้องค์คุณของธุดงค์
ซึ่งก็เป็นอริยธรรมที่กระตุ้นเตือนผู้คนให้ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ก็ช่วยอนุมานบุคคลว่ามัวเมาลาภสักการะ และฐานะหรือไม่ เช่น พระโปฐิละ ท่านแตกฉานพระไตรปิฏก สอนศิษย์ให้บรรลุมรรคผลขั้นต่าง ๆ ได้ ท่านมัวเมาลาภสักการะ และชื่อเสียงความเป็นอาจารย์ จนพระพุทธองค์ทรงกระตุ้นเตือนท่าน ด้วยการเรียกท่านว่า " พ่อใบลานเปล่า "
ความเห็นต่างข้อนี้เกิดขึ้นเพราะไม่ให้ความสำคัญข้อ 6. นั่นเอง
3.ความเห็นต่างว่า ความหมดจดแห่งไตรสิกขา 3 อยู่ที่ สมาธิ 3 ขณะ คือ
1.ปฏิปทาวิสุทฺธิ อาทิ สสมฺภาริโก อุปจาโร.
2.อุเปกฺขานุพฺรูหนา มชฺเฌ อปฺปนา.
3.สมฺปหํสา ปริโยสานํ ปจฺจเวกฺขณา(วิมุตติมรรค ข้อ 51 หน้า 29)แปลว่า
1.อุปจารสมาธิ พร้อมทักษะที่สะสมไว้ อันเป็นส่วนเบื้องต้น เรียกว่า ความหมดจดแห่งปฏิปทา.
2.อัปปนาสมาธิ อันเป็นส่วนท่ามกลาง เรียกว่า ความหมดจดแห่งอารมณ์ ที่ยิ่งด้วยความวางเฉย.
3.ขณิกสมาธิ ขณะพิจารณา มรร ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ อันเป็นส่วนเบื้องปลาย เรียกว่า ความหมดจดแห่งความยินดีปรีดา
ส่วนวิสุทธิมรรคค้านว่า
ตตฺร ปฏิปทาวิสุทฺธิ นาม สสมฺภาริโก อุปจาโร. อุเปกฺขานุพฺรูหนา นาม อปฺปนา. สมฺปหํสนา นาม ปจฺจเวกฺขณาติ เอวเมเก วณฺณยนฺติ.(วิสุทฺธิ.1/75/164) แปลว่า ในบรรดาความหมดจดทั้ง 3 ประการนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งอธิบายว่า อุปจารสมาธิ พร้อมทักษะที่สะสมไว้ ชื่อว่า ความหมดจดแห่งปฏิปทา.
อัปปนาสมาธิ ชื่อว่า ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่ยิ่งด้วยความวางเฉย.ขณิกสมาธิที่พิจารณาธรรมหลังบรรลุมรรคผลแล้ว ชื่อว่า ความหมดจดแห่งความยินดีปรีดา. ซึ่งผู้ศึกษาจะเห็นวิสัยความเป็นปราชญ์และความเป็นผู้มีมรรยาทงามของท่านพุทธโฆษาอารย์ ด้วยความฉลาดปฏิเสธอันดับก่อนหลัง มีอาทิศัพท์(ส่วนเบื้องต้น) มัชฌศัพท์(ส่วนท่ามกลาง) ปริโยสานศัพท์(ส่วนเบื้องปลาย) ตามที่อธิบาย มีไม่ได้เลยทั้งสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน เพราะหน้าที่สมาธิทั้ง 3 นั่นแหละขัดกันเอง
(โปรดติดตามตอนที่3)
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ