ศัพท์ว่า มาตุ สำเร็จมาอย่างไร?
มานาทีหิ ราตุ (กัจจายนสูตร)
– ลง ราตุ (อาตุ ปัจจัย ที่มี รฺ อนุพันธ์) หลัง มานฺ ธาตุ เป็นต้น
เช่น – ธมฺเมน ปุตฺตํ มาเนตีติ มาตา (มานฺ + ราตุ=มาตุ , ปัจจัยที่เนื่องด้วย ร ให้ลบทุกครั้ง)
หญิงใด ย่อมนับถือบุตร ด้วยธรรม เหตุนั้น หญิงนั้น ชื่อว่ามารดา
คำว่า ”มาเนติ” แปลว่า ”ย่อมนับถือ” นี้ หมายความว่า ”หญิงนั้นให้ความยอมรับนับถือว่าเด็กทารกนี้เป็นบุตรของตนโดย
ธรรม คือให้การเลี้ยงดูอุปถัมภ์ คุ้มครอง…
หญิงใด คลอดแล้วทิ้ง ไม่เลี้ยงดู อุปถัมภ์ คุ้มครอง…อาการแห่งหญิงนั้น ชื่อว่า ”ไม่นับถือโดยธรรม” ไม่ชื่อว่า มาตุ เพียงแต่
ให้กำเนิด(ชนนี) เท่านั้น
ดังนั้น องค์คุณของความเป็นแม่ (มาตุ) ต้องถึงพร้อมด้วยคุณ คือ ความนับถือ การเลี้ยงดู อุปถัมภ์ คุ้มครอง…ฯ
ดังนั้น องค์ประกอบในความเป็นแม่ในทางพุทธศาสนา จึงกำหนดความหมายของคำว่า ”มาตุ,แม่” ตามลำดับดังนี้ คือ-
1. อุตุนี หญิงมีระดู (เริ่มต้นหญิงที่จะมีบุตรได้)
2. โทหฬินี หญิงมีครรภ์,หรือหญิงมีหทัยสอง คือหทัยของตนเอง และหทัยของเด็กที่อยู่ในครรภ์
3. สุหทา หญิงมีใจดี เพราะอาศัยความรักเมตตาต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์
4. ชนนี, ชนยันตี, ชเนตฺตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด คือคลอดบุตร
5. โปเสนตี, โคตตี หญิงผู้เลี้ยงดู คุ้มครองบุตร
6. โตเสนตี หญิงผู้ปลอบโยนบุตรทำให้บุตรยินดี
7. ปุพพาจารี หญิงผู้เป็นอาจารย์คนแรก ฝึกให้พูด..ยืน..เดิน..นั่ง…นอน…ฝึกอาจาระต่าง ๆ คนแรก…
8. ปุพพเทวี หญิงผู้เป็นดุจเทพองค์แรก เพราะเป็นผู้ให้อภัยแก่บุตรได้ เมื่อบุตรทำผิดพลาดแก่ตนเอง
9. พรหม หญิงที่เป็นดุจพรหม (มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร) เพราะประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔
10. อรหันต์ มารดาบิดาเป็นดุจอรหันต์ เพราะเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ,บูชา,บำรุงเลี้ยงดูคนแรก (หากในที่นั้นไม่มีอรหันต์
ขีณาสพอยู่)
คำว่า ”อรหันต์” ในที่นี้ หมายความว่า ”ควร” (อรห+อนฺต, ควร) ไม่ใช่อรหันต์ ที่หมายถึงผู้เป็นขีณาสพ ฯ
ชื่อทั้งหมดนี้ รวมลงอยู่ในคำว่า ”มาตุ” ผู้ให้การยอมรับนับถือบุตรโดยธรรม…ฯ
_______
นิติเมธี
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๔
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ