เจตนากรรมที่ก่อให้เกิดวิบาก
“เจตนา” (หมายเอา เจตนาเจตสิก) ประกอบได้ในจิต ๘๙/๑๒๑ ดวง แต่ที่ก่อให้เกิดวิบากได้ ตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ…”, ได้แก่เจตนาที่อยู่ใน
– โลกียชวนะ ๒๙ (อกุศลจิต๑๒, มหากุศลจิต๘, มหัคคตกุศลจิต๙)
– ส่วนเจตนาที่ในมรรคจิต ๔ /๒๐ ก่อให้เกิดวิบากได้เช่นกัน คือผลจิต ทั้งที่เกิดต่อจากมรรคจิตในมรรควิถี และเกิดภายหลังมรรควิถีนั้นดับลงแล้ว คือเกิดในขณะที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ (ผลสมาปัตติวิถี).
*เจตนาที่อยู่ในจิตนอกจากที่กล่าวมานี้ ได้แก่เจตนาที่อยู่ใน วิปากจิต ๓๖, กริยาจิต ๒๐ ไม่ก่อให้เกิดผลในลักษณะที่เป็นผลพิเศษดุจเจตนาในจิต ๓๓ (๒๙+๔) ดวงที่กล่าวมา (ไม่ขอกล่าวในที่นี้)
“เจตนา” ที่ในจิต ๓๓ ดวงนั้น (โลกียะชวนะ ๒๙ + มรรคจิต ๔) ให้ผลชนิดพิเศษ ได้เหมือนกัน ก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ คือ
๑) เจตนาในโลกียชวนะจิต ๒๙ นั้น ย่อมก่อวิบาก หรือผล ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒, เจตสิก ๓๕, กัมมชรูป ๑๘ ให้เป็นไปใน ๒ กาล คือ
– “ในปฏิสนธิกาล” คือ โลกียวิปากจิต ๓๒ ส่วนหนึ่งจัดเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ ดวง คือ สามารถทำหน้าที่ปฏิสนธิสืบต่อภพใหม่ ในขณะแห่งปฏิสนธิกาลได้ ก่อให้เกิดสัตว์ขึ้นในภพภูมิต่าง ๆ ๓๐ ภูมิ, และกัมมชรูปบางส่วน (ชีวิตนวกกลาป) ก็ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับอสัญญีสัตว์ในอสัญญสัตตภูมิได้อีก ๑ ภูมิ รวมเป็นภูมิทั้งหมด ๓๑ ภูมิ
– “ในปวัตติกาล” นอกจากนี้ โลกียวิบาก ๓๒, เจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป ยังเกิดได้ในปวัตติกาลอีก เช่น จักขุวิญญาณจิต, จักขุปสาท เป็นต้น…
๒) เจตนา ที่ในมรรคจิต ๔ หรือ ๒๐ ย่อมก่อให้เกิดผล หรือวิบากได้เช่นกัน ได้แก่ ผลจิต ๔ หรือ ๒๐ เจตสิก ๓๖, ซึ่งผลจิต ๔ หรือ ๒๐ นี้ เกิดได้ ๒ ลักษณะ คือ
– เกิดติดกันกับมรรคจิตในมรรควิถี คือ เมื่อมรรจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับลง ผลจิตก็เกิดติดต่อกันทันที่ ๒ หรือ ๓ ขณะ แล้วแต่มันทะหรือติกขบุคคล, ผลจิตในมรรควิถีนี้ ต้องเกิดต่อจากมรรคจิต
– เกิดภายหลังแต่มรรควิถีนั้น ดับลงแล้ว คือ เกิดคนละวิถีกับมรรคจิต เป็นการเกิดภายหลังที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ, ผลจิตของพระอริยบุคคลนั้น ๆ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันจำนวนมากมาย…ซึ่งผลจิตที่เกิดในผลสมาบัติวิถีนี้ เป็นการเกิดขึ้นโดยลำพังไม่ต้องอาศัยมรรคจิตเกิดก่อนเหมือนอย่างในมรรควิถี
อนึ่ง ผลจิต ๔ /๒๐ ทีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในมรรควิถี หรือในผลสมาบัติวิถีก็ดี ผลจิตนั้นทำหน้าที่อย่างเดียว คือ “ชวนะ” ซึ่งแตกต่างจากโลกียะวิบาก ๓๒ ที่เกิดจากกามชวนะ ๒๙, คือ ในโลกียวิบาก ๓๒ นั้น ไม่มีดวงใดทำหน้าที่ชวนะได้เลย มีแต่ทำหน้าที่อื่น ๆ คือ ทัสสนกิจ, สวนกิจ, ฆายนกิจ, สายนกิจ, ผุสนกิจ, สัมปฏิจฉนกิจ, สันตีรณกิจ, ตทารัมมณกิจ หรือทำหน้าที่นอกวิถี ได้แก่ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, และจุติกิจ ฯ
ความแตกต่างกันอีกอย่างหนึ่ง ของโลกียะเจตนากรรม ๒๙ กับ โลกุตตรมรรคเจตนา ๔ หรือ ๒๐ ได้แก่
๑) โลกียเจตนากรรม ๒๙ ได้ชื่อว่า “วัฏฏคามีอกุศลกรรม” บ้าง “วัฏฏคามีกุศลกรรม” บ้าง เพราะเป็นกรรมที่เป็นไปในวัฏฏะ หรือก่อผลให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ เหตุเพราะถูกกำหนดด้วยตัณหา ๓ คือ กามตัณหา, รูปตัณหา, อรูปตัณหา
๒) ส่วนเจตนาในมรรคจิต ๔ หรือ ๒๐ ได้ชื่อว่า “วิวัฏฏคามีกุศลกรรม” เป็นกรรมที่ไม่เป็นไปในวัฏฏะ เพราะไม่ถูกกำหนดด้วยตัณหาทั้ง ๓ คือไม่เป็นอารมณ์ของตัณหาทั้ง ๓ นั่นเอง ฯ
-------------------
VeeZa
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ