วิจารณ์ กรณีพระคึกฤทธิ์จะให้ตัดพระไตรปิฎกในส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎกออก
วิจารณ์ กรณีพระคึกฤทธิ์จะให้ตัดพระไตรปิฎกในส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎกออก
คนเรา มี ๔ ประเภท คือ
– รู้ และชี้
– รู้ แต่ไม่ชี้
– ไม่รู้ แต่ชี้
– ไม่รู้ ไม่ชี้
ชี้ = ชี้แนะ, แนะนำ
จะตัดพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ – ๔๕ ออกไป คือตัดอภิธรรมปิฎกออกไปนั่นเอง…. // พระไตรปิฎก มี ๔๕ เล่ม แบ่งเป็น
๑ – ๘ เป็นวินัยปิฎก (๘ เล่ม)
๙ – ๓๓ เป็น สุตตันตปิฎก (๒๕ เล่ม)
๓๔ – ๔๕ เป็น อภิธรรมปิฎก (๑๒ เล่ม)
แท้จริงแล้ว ในคราวทำปฐมสังคายนา มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน มีพระเถระ ที่เป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา ๕๐๐ ประชุมสังคายนากัน มีพระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากใกล้ชิดพระพุทธเจ้าร่วมด้วย .. ในคราวนั้น ได้จัดแบ่งคำสอนออกเป็น ปิฎก ๓ เรียกว่า พระไตรปิฎก
ซึ่งมีการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่หลายๆ อย่างด้วยกัน … และก็มาจบลงที่ “ธรรมขันธ์” คือหน่วยของการจัดแบ่งคำสอนที่ย่อยออกไปอย่างละเอียดที่สุด มีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แรกเริ่มเดิมที สมัยพุทธกาล ยังไม่จัดเป็นหมวดหมู่อะไร เป็นแต่พระพุทธองค์ทรงแสดงไปเรื่อย ๆ ตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ จนมาถึงก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย, ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงไปแล้ว”
เพราะฉะนั้น ท่านก็เลยถือเอา ธรรม กับ วินัย เป็นหลักคำสอน คู่กันมา… จนมาแบ่งเป็นไตรปิฎก ๓ คราวปฐมสังคายนา…. // แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่จะตรัสว่า “ธรรม กับ วินัย” จริง ๆ พระองค์ทรงใช้คำว่า “ธรรม” คำเดียว…
มีคำว่า ธรรม อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งครอบคลุมเนื้อความได้ทั้งหมด ….
คำว่า “ธรรม, ธรรมะ” คำเดียวนี้ ครอบคลุมหมดทั้งคำสอน ไม่ว่าจะเป็นเรือง วินัย ศีล, สมาธิ ปัญญา….ฯ
ข้อความเหล่านี้ ผมสอนลูกศิษย์และแสดงไว้มานานหลายปีแล้ว ว่า // มีคำถามว่า “เพราะเหตุใด ธรรมขันธ์ในพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก จึงมีจำนวนเท่ากับพระอภิธรรมปิฎก ปิฎกเดียว, หรือ ถามว่า เพราะเหตุใด ธรรมขันธ์ในพระอภิธรรมปิฎก ๆ เดียว จึงมีจำนวนเท่ากับธรรมขันธ์ในพระวินัยและพระสุตตันตปิฎกรวมกัน….???
คำตอบ (ตรงนี้สำคัญมาก) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า “ธรรมขันธ์หนึ่ง ๆ ที่ทรงแสดงในวินัยก็ดี ในพระสูตร ก็ดี จะมีเนื้อหาของอภิธรรมอยู่ในนั้นด้วยเสมอ”
คือย่างไร ยกอุทาหรณ์ อย่างสิกขาบทในพระวินัยที่ว่า ” ภิกษุใด ทำสัตว์มีปาณให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์) ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตย์” ในสิกขาบทข้อนี้ (สมมติว่าเป็นพระธรรมขันธ์หนึ่ง) จะมีเนื้อหาของพระอภิธรรมอยู่ในนั้นด้วย คืออย่างไร – คำว่า ภิกษุ ก็ดี คำว่า สัตว์มีปาณ ก็ดี แท้จริงแล้ว เป็นบัญญัติธรรม ที่เกิดมาจากการรวมกันเข้าของขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จะหนีไปจากขันธ์ ๕ ไม่ได้ ถ้าไม่มีขันธ์ห้าแล้ว จะเอาอะไรมาบัญญัติว่า เป็น สัตว์ มาเป็นมนุษย์ มาเป็นคน… แม้คำว่า “ภิกษุ” ก็บัญญัติซ้ำจากคำว่า “คน” ไปอีก…
คำว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นแหละ คือเนื้อหาที่เป็นอภิธรรม เนื้อหาที่เป็นปรมัตถธรรม… และคำว่า รูป เวทนา…. นี้ท่านเรียกว่า ขันธ์ ๕ บ้าง, เรียกว่า รูป-นามบ้าง, เรียกว่า อายตนะบ้าง, เรียกว่าธาตุบ้าง… คำเหล่านี้ มีปรากฏตั้งแต่ปฐมเทศนากัณฑ์แรก (ธรรมจักรกัปวัตนสูตร) เลยทีเดียว … หรือเทศนากัณฑ์ที่สอง อนัตตลักขณะสูตร ยิ่งชัดเจนไปใหญ่ อนัตตลักขณสูตร พูดเรื่องขันธ์ ๕ โดยเฉพาะ …
หรือกัณฑ์ที่สาม อาทิตตปริยายสูตร ก็ว่าด้วยเรื่องของอายตนะ ๑๒ … เนื้อหาอภิธรรม เนื้อหาปรมัตถธรรมล้วน ๆ …
พระคึกฤทธิ์ ไม่เคยได้เรียน ไม่เคยได้ศึกษา ไม่รู้ ไม่เข้าใจ…. คนเหล่านี้แหละที่ทำลายพุทธศาสนา อย่างถึงรากถึงโคน… //
เอาสิ….!! จะยกพระสูตรไหนก็ได้…ยกสิกขาบทในวินัยปิฎก อันใดก็ได้…จะชี้ให้ดูว่า ข้อความนั้น ๆ ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่เป็นอภิธรรม ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจากปรมัตถธรรม…
เนื้อหาในอภิธรรมปิฎก แม้จะมีถึง ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ว่าสรุปโดยย่อ ก็ได้แก่ รูป -นาม, จิต, เจตสิก, รูป นิพพาน และบัญญัติ ก็มีด้วย // คัมภีร์อภิธรรม มี ๗ คัมภีร์ คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ฯ
สัง = ธัมมสังคณี,
วิ = วิภังค์,
ธา = ธาตุกถา,
ปุ = ปุคคลบัญญัติ,
ก = กถาวัตถุ,
ย = ยมก,
ป = ปัฏฐาน ….
ส่วนที่เป็นบัญญัติ ก็มี ใน ปุคคลบัญญัติ, กถาวัตถุ …
อันที่จริงจะกล่าวว่า “ถ้าไม่มีอภิธรรมปิฎก” ก็ไม่มีพุทธศาสนา ก็ว่าได้…. เพราะอะไร? ก็เพราะว่า
– พระพุทธเจ้าที่บอกว่า “ตรัสรู้” นั้น คือการบรรลุธรรมในส่วนที่เป็นปรมัตถ์ นะ ไม่ใช่บรรลุสิ่งที่เป็นบัญญัติ, สิ่งที่พระพุทธเจ้าบรรลุ คือ นิพพาน, การละกิเลส มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่เรียกว่า “อาสวักขยญาณ” ก็เป็นส่วนที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นบัญญัติ…. บรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ ก็ดี, บรรลุ จุตูปปาตญาณก็ดี คำว่า “ญาณ” ในที่นี้ หมายถึงปัญญา ซึ่งเป็นตัวปรมัตถ์ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นบัญญัติ…
– อีกอย่างหนึ่ง การที่เราจะบัญญัติสิ่งต่าง ๆ ได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เป็นบุคคล เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่าง ๆ….ได้นั้น ต้องอาศัยส่วนที่เป็นปรมัตถ์ คือเนื้อแท้แห่งสภาวะนั้น ๆ รวมกันอยู่หรือประกอบกันอยู่ เราจึงจะบัญญัติได้ ฯ เหมือนกับการบัญญัติ สัตว์ บุคคล…ก็ต้องอาศัยขันธ์ ๕ รวมกันอยู่… จะบัญญัติคำว่า “รถ” คำว่า “เรือ” คำว่า “เกวียน…..” ก็ต้องอาศัยองคาพยพต่าง ๆ ประกอบกันเข้า จึงบัญญัติได้
ในสิกขาบทพระวินัยที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์ “ภิกษุใด ทำสัตว์มีปาณให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์) ภิกษุนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์” ในข้อนี้ ยังมีส่วนที่บ่งถึงปรมัตถ์อย่างอื่นอีก คือ สิกขาบทข้อนี้เป็น “สจิตตกะ” คำว่า สจิตตกะ แปลว่า ประกอบด้วยความจงใจ คือมีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนา อาบัติไม่ถึงปาจิตตีย์ อาจจะแค่ ทุกกฎ…. จะเห็นว่า มีคำว่า จิต มีคำว่า เจตนา ซึ่งเป็นตัวปรมัตถ์ ตัวที่เขาสอนกันในอภิธรรมปิฎกนั่นเอง มาประกอบด้วย… ตัวเจตนา เป็นเจตสิก อย่างหนึ่งซึ่งประกอบกับจิต และจิตนั้น เป็นโทสะมูลจิต คือจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ไอ้ตัวโทสะนี่ ก็เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง …. จะเห็นได้ว่า ปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม มาเป็นแถบเลย…ทั้งจิต ทั้งเจตสิก… ในขณะเดียวกัน การฆ่าสัตว์ ก็ต้องอาศัยร่างกาย การกระทำทางกาย หรืออาวุธที่เกี่ยวเนื้องด้วยกาย ร่างกายก็คือ รูปปรมัตถ์…หรือบางทีก็สั่งฆ่าด้วยทางวาจา, วาจาหรือคำพูด ก็เป็นวจีวิญญัติ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ที่ท่านแสดงไว้ในอภิธรรมปิฎก… การฆ่าสัตว์ก็ต้องมีความพยายาม (อุปักกมะ, ปโยคะ) หรือตัววิริยะ นั่นเอง…. ตัววิริยะ ความพยายาม ก็เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง ในอภิธรรม…
จึงกล่าวได้ว่า ไม่เห็นมีอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาในอภิธรรมปิฎก …. //
ยกตัวอย่างในพระสูตรก็ได้ ในธรรมจักรกัปวัตนสูตรนี่แหละ ที่อ้างหนักอ้างหนาว่าเป็นพุทธพจน์ เป็นพระสูตรแรกด้วยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกับพระปัญจวัคคีย์ … เนื้อหาในธรรมจักรฯ กล่าวถึง
* ธรรมที่บรรพชิตไม่ควรเสพสองอย่าง คือ อัตตกิลมถานุโยค, กามสุขัลลิกานุโยค
– การประกอบตนให้ลำบาก เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค คือประพฤติตนด้วยวิธีทรมานต่าง ๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำทุกกรกิริยา ด้วยความเข้าใจว่า จะเป็นหนทางเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น
– การหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ด้วยความเข้าใจว่า จะเป็นหนทางเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น //
หนทาง ๒ อย่างนี้ เป็นหนทางที่ไม่ควรดำเนิน ไม่ใช่ปฏิปทาให้บรรลุโมกขธรรม ว่าโดยองค์ธรรมก็ได้แก่ ทิฏฐิ ความเห็นผิด คือเห็นว่า ถ้าบุคคลจะได้บรรลุ ต้องประพฤติธรรมสองอย่างนี้เท่านั้น ถ้าไม่ประพฤติสองอย่างนี้ จะบรรลุโมกขธรรมไม่ได้ // ข้อนี้สำคัญ คือการประพฤติในแนวทางสองอย่างนี้ จะต้องเป็นไปด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ
ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ยังติดอยู่ในข้อปฏิบัติคือ อัตตกิลมถานุโยคนี้ ซึ่งเรียกกันว่า สีลัพตปรามาส การยึดติดในศีลวัตรที่ปฏิบัติแบบเคร่งครัดด้วยอำนาจแห่งความเห็นผิด, ตัวสีลพตปรามาสนี่เองต้องถูกกำจัดไปจึงจะบรรลุโสดาปัตติมรรค-ผลได้, ตัวความเห็นผิด (ทิฏฐิ) นั้นแหละ จัดเป็น กิเลสตัวหนึ่ง เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง… มีสอนในอภิธรรมปิฎก ในส่วนของ อกุศลเจตสิก
– ในธรรมจักรฯ ยังกล่าวถึงเรื่อง อริยสัจจ์ ๔, และมรรค มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ…เป็นต้น จนถึง สัมมาสมาธิ
อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ…ซึ่งก็ได้แก่ รูปขันธ์, โลกียะจิต, และเจตสิกที่ประกอบ
สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็ได้แก่ ตัณหาทั้ง ๓ คือ โลภะ
นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ นิพพาน
มรรค หนทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ องค์มรรค ๘ มีปัญญาเจตสิก, วิตกเจตสิก, วิรตีเจตสิก ๓, วิริยะ, สติ, เอกัคคตา ซึ่งก็ล้วนเป็นปรมัตถธรรมทั้งสิ้น …
– สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก
– สัมมสังกัปปะ องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก
– สัมมาวาจา องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาวิรตีเจตสิก
– สัมมากัมมันตะ องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตะวิรตีเจตสิก
– สัมมาอาชีวะ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาอาชีวะวิรตีเจตสิก
– สัมมาวายามะ องค์ธรรมได้แก่ วิริยะเจตสิก
– สัมาสติ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก
– สัมมาสมาธิ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก
ในธรรมจักรกัปวัตนสูตร ก็ไม่เห็นมีอะไรที่นอกเหนือไปจากปรมัตถธรรม ที่กล่าวไว้ในอภิธรรมปิฏก…. //
ในพระสุตตันตปิฎกทั้งหมด ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมข้อใด ๆ หมวดใด ๆ จะไม่หนีไปจากองค์ธรรมในอภิธรรมปิฎก ซึ่งก็คือ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘, นิพพาน … หรือถ้าจะพูดถึงบัญญัติ ก็บัญญัติไปจากสิ่งที่เป็นปรมัตถ์นี่แหละ…
เพราะเหตุนี้เอง…. ธรรมขันธ์ในพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎกรวมกัน จึงเท่ากับธรรมขันธ์ในอภิธรรมปิฎก // เพราะมันไม่ได้แยกจากกันเลย…. เพียงแต่ว่าเราจะยึดเอาในส่วนที่เป็นบัญญัติหรือปรมัตถ์มาพูด… หรือแท้ที่จริงแล้ว เราก็พูดถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่รู้เองว่า สิ่งนี้คือปรมัตถธรรม // เหมือนกับเรากินอาหารลงไป เป็นข้าว เนื้อสัตว์ นม ผัก ผลไม้ลงไป… เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้กิน แป้ง น้ำตาล ไขมัน คาร์โบไฮเดรท โปรตีน วิตามิน…ลงไป….
เอาเข้าจริง พระคึกฤทธิ์ เผลอ ๆ กำลังปฏิเสธตนเองด้วยซ้ำไป…. คือปฏิเสธ รูปขันธ์ เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ… ที่ประกอบเป็นรูปร่างของตนเอง…ความรู้สึก นึกคิด คำพูด กิริยา อาการต่าง ๆ ล้วนเป็นสภาวะปรมัตถ์ คือเป็นอาการ ความเป็นไปของสภาวะปรมัตถ์ ทั้งสิ้น …ฯ
———————————
VeeZa
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ