ความสัมพันธ์กันของกาย-วาจา-ใจ ที่เป็นกุศลหรืออกุศล
กาย – วาจา ไม่จัดว่าเป็นกุศล หรืออกุศล แต่กาย-วาจา ได้ชื่อว่าเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ก็เพราะจิตที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่กระทำกรรมทางกาย และกระทำทางวาจานั้น ๆ
กาย – วาจา ไม่จัดว่าเป็นสุจริต หรือทุจริต แต่กาย-วาจา ได้ชื่อว่าเป็นสุจริตบ้าง เป็นทุจริตบ้าง ก็เพราะจิตที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่กระทำกรรมทางกาย และกระทำทางวาจานั้น ๆ (กุศลก็เป็นสุจริต,อกุศลก็เป็นทุจริต)
เพราะเหตุที่ใจ ประกอบด้วยกุศล และอกุศลในขณะนั้นส่งผลให้เกิดการกระทำกรรมทางกายและทางวาจา เป็นลักษณะคล้าย ๆ ใจเป็นผู้สั่งให้ทำกรรมทางกายและทางวาจา เพราะฉะนั้นกายและวาจานั้นจึงถูกเรียกว่า เป็นกายกุศลบ้าง เป็นวจีกุศลบ้าง หรือเป็นกายอกุศลบ้าง เป็นวจีอกุศลบ้าง…
*ในคำว่า “กายสุจริต-กายทุจริต, วจีสุจริต-วจีทุจริต ก็ทำนองเดียวกัน”
– ธรรมที่ได้ชื่อว่า เป็นกุศล (กุสลา ธัมมา) นั้น มุ่งหมายเอาจิต และเจตสิกที่ประกอบเท่านั้น (อกุศลจิต ๑๒ เจตสิก ๒๗ ที่ประกอบ)
– ธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นกุศล (กุสลา ธัมมา) นั้น มุ่งหมายเอาจิต และเจตสิกที่ประกอบเท่านั้น (กุศลจิต ๒๑, เจตสิก ๓๘) ธรรมนอกนี้ ไม่จัดว่าเป็นกุศล
ในขณะเดียวกัน จิต ที่จะได้ชื่อว่า กุศลจิต, อกุศลจิต ก็ด้วยอำนาจของเจตสิกที่เข้าประกอบ, คือท่านตั้งชื่อจิต ว่าเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นจิตชื่อนั้นชื่อนี้… ก็ด้วยอำนาจของเจตสิก (ธรรมที่ประกอบหรือปรุงแต่งจิต) เช่นเดียวกับน้ำ และสี
* น้ำบริสุทธิ์มีลักษณะใส ไม่มีสี แต่ถ้าเอาสีแดงใส่ลงไป น้ำก็เป็นสีแดง เรียกว่า น้ำแดง, หรือน้ำสีแดง ฯ ถ้าเอาสีเขียวใส่ลงไป น้ำก็จะเป็นสีเขียว เรียกว่าน้ำเขียวหรือน้ำสีเขียว… ทำนองเดียวกัน จิตก็มีลักษณะผ่องใส มีการรับรู้อารมณ์เท่านั้น แต่เมื่อมีอกุศลเจตสิกเข้าประกอบ ก็เรียกชื่อไปตามอกุศลเจตสิกนั้น ๆ เช่น ถ้ามีโลภะเจตสิกเข้าไปประกอบ จิตนั้นก็ถูกเรียกว่า โลภจิต หรือโลภมูลจิต, ถ้ามีโทสะเจตสิกเข้าไปประกอบ, จิตนั้นก็เรียกว่า โทสจิต หรือโทสมูลจิต… ถ้ามีปัญญาเข้าประกอบ จิตนั้นก็ถูกเรียกว่า ญาณสัมปยุตตจิต (จิตที่ประกอบด้วยปัญญา) ….เป็นต้น
ดังนั้น จิตจึงมีชื่อเรียกไปต่าง ๆ เพราะอำนาจของเจตสิก อำนาจของภูมิ อำนาจของบุคคล อำนาจของอารมณ์ และอำนาจของกิจแห่งจิตนั้น ๆ เช่น
– ชื่อว่า “โลภมูลจิต” เพราะมีโลภเจตสิกเข้าประกอบ
– ชื่อว่า “กามาวจรจิต” ก็เพราะจิตนั้นท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ เป็นส่วนมาก
– ชื่อว่า “โสนัส” เพราะมีเวทนาที่เป็นโสมนัสเวทนาเข้าประกอบ
– ชื่อว่า “มรรคจิต” เพราะเกิดกับมรรคบุคคล
– ชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชนจิต” ก็เพราะทำกิจ คือพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร
– ชื่อว่า “อากาสานัญจายตนจิต” ก็เพราะมีการเพิกอารมณ์คืออากาศกสิณ
– ชื่อว่า “จักขุวิญญาณ” เพราะทำรู้แจ้งในอารมณ์อันเดียวคือ รูปารมณ์
– ชื่อว่า “อสังขาริก” เพราะเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครชักชวน
– ชื่อว่า “ทิฏฐิคตสัมปยุต” เพราะประกอบด้วยทิฏฐิ
– ชื่อว่า “ทิฏฐิคตวิปปยุต” เพราะไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ
– ชื่อว่า “ญาณสัมปยุต” เพราะประกอบด้วยปัญญา
– ชื่อว่า “ญาณวิปปยุต” เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา
– ชื่อว่า “อเหตุกจิต” เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุ
– ชื่อว่า “สเหตุกจิต” เพราะประกอบด้วยเหตุ
– ชื่อว่า “ฌานจิต” เพราะประกอบด้วยองค์ฌานที่มีกำลัง
– ชื่อว่า “มหัคคตจิต” เพราะเข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ
– ชื่อว่า “โลกุตตรจิต” เพราะเป็นจิตที่พ้นจากการเวียว่ายตายเกิด
– ฯลฯ
แม้เจตสิก (ธรรมที่ประกอบปรุงแต่งจิต) จะมีภาวะคล้าย ๆ กับเป็นตัวกำหนดให้จิตเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่โดยภาวะที่เป็นใหญ่ เป็นประธานแล้ว ต้องถือว่าจิตเป็นใหญ่ อุปมาเหมือนหัวหน้าโจร แม้บางครั้งโจรที่เป็นลูกน้อง จะแนะนำให้หัวหน้าโจรทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความล่ำลือ ความกระฉ่อนแห่งชื่อ ก็ต้องถือว่าหัวหน้าโจรเป็นผู้กระฉ่อนกว่า คือเป็นผู้ถูกกล่าวถึงก่อน คือเป็นผู้นำนั่นเอง … จิตก็ทำนองเดียวกัน…ฯ
ลักษณะความเกี่ยวเนื่องกันของธรรมต่าง ๆในคำสอนพุทธศาสนา
– เมื่อพูดถึงจิต ก็จะเกี่ยวโยงถึงเจตสิก (ธรรมที่ประกอบหรือปรุงแต่งจิต) ด้วย (ขาดไม่ได้) เพราะจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยจิต ก็ไม่ได้…ฯ
– เมื่อพูดถึงจิต ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับวัตถุ (คือที่เกิด ที่ตั้งของจิต) ด้วย อย่างเช่น จักขุวิญญาณจิต ก็ต้องอาศัยจักขุวัตถุ คือจักขุปสาทเกิดขึ้น, โสตวิญญาณก็ต้องอาศัยโสตวัตถุ คือโสตปสาทเกิดขึ้น…เป็นต้น
– เมื่อพูดถึงจิต ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ (สิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้) ด้วย เพราะจิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากอารมณ์ ไม่ได้ เช่นจักขุวิญญาณจะเกิดขึ้น ก็ต้องรับรูปารมณ์ คือสีต่าง ๆ….ฯ
– เมื่อพูดถึงจิต ก็จะต้องเกี่ยวโยงกับบุคคลด้วย (บุคคล ๔, บุคคล ๘, บุคคล ๑๒) คืออบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม, พระอริยบุคคล เช่น เราจะเรียกว่าผู้นี้เป็นโสดาปัตติมรรคบุคคล เราเรียกได้ ก็เพราะท่านได้บรรลุโสดาปัตติมรรคจิต หรือเพราะโสดาปัตติมรรคจิตเกิดกับท่าน เราจึงเรียกท่านว่า เป็นโสดาปัตติมรรคบุคคล, ถ้าโสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้น เราก็เรียกว่า โสดาปัตติผลบุคคล…. ดังนี้เป็นต้น
– เมื่อพูดถึงจิต ก็จะเกียวโยงถึงภพ-ภูมิต่าง ๆ ด้วย เพราะว่า สัตว์ทั้งหลาย มีอบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม ก็ต้องมีภพ-ภูมิของตนอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องเกี่ยวเนื่องกับภพ-ภูมิ ของสัตว์นั้น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น โทสมูลจิต จะเกิดได้เฉพาะในกามภูมิ ๑๑ เท่านั้น เกิดในรูปภูมิ, อรูปภูมิ ไม่ได้…ดังนี้เป็นต้น
– …ฯลฯ…
นอกจากนี้จิตที่เกิดขึ้นยังต้องเกี่ยวเนื่องกับธรรมอีกมากมาย เช่น เวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร วิถี…ความเป็นต่าง ๆ เช่น เป็นโลกียะ, เป็นมหัคคตะ, เป็นโลกุตตระ . อีกเยอะแยะ
อุปมาเหมือนเราพูดถึงครอบครัว ๆ หนึ่ง จะต้องเกี่ยวโยงกัน ระหว่าง สามี-ภรรยา บุตร, ธิดา บ้านเรือน, ที่อยู่ เป็นตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ… ต้องเกี่ยวข้องกับ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน อาชีพการงาน….ของครอบครัวนั้น…
ในส่วนของธรรมที่เป็นจิต – เจตสิก ทั้งหมดจะเป็นไปตามธรรมดา ธรรมชาติของจิต ซึ่งไม่มีใคร ๆ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าจะไปกำหนดบังคับ ธรรมนิยาม ธรรมฐีติ…ของสภาวธรรมคือจิต นั้นได้…พระพุทธเจ้าทรงทราบความเป็นไปนั้น ๆ แล้วจึงทรงนำมาตรัสบอก – สอน เท่านั้น .ฯ
นอกจากนี้ ธรรมอื่น ๆ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้จะยกเอาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมากล่าว ก็จะต้องมีความสัมพันธ์กับธรรมที่มิได้กล่าวด้วย เช่น ยกเอาศีลขึ้นมาแสดง ภาวะความเป็นศีลนั้น ก็จะต้องเกี่ยวเนื่องกับสมาธิ และปัญญา เพราะศีล เป็นบาทฐานให้แก่สมาธิ และปัญญา…ศีลจะสมบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัยปัญญาเข้าไปประกอบด้วยเสมอ…ดังนี้เป็นต้น ในธรรมนอกนี้ก็เช่นเดียวกัน…
-------------------
By… VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ