เทคนิคการแต่งฉันท์บาลี
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ...
(มีคำแปลโดยพยัญชนะท้ายบทความ)
หนึ่งในคำถามอมตะหรือคำถามที่มีคนถามบ่อยเกี่ยวกับฉันท์บาลี คงไม่พ้นบทว่า ภวตุ ในคาถา “พาหุง” ด้วยถามว่า ภวตุ เป็นเอกวจนะ แต่ประธานเป็น ชยมงฺคลานิ เป็นพหุวจนะ อย่างนี้จะเข้ากันได้หรือ หรือจะเป็น วจนวิปลฺลาส
ภวตุ (ภวนฺตุ) ในคาถาพาหุงศัพท์นี้ ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียน ป.ธ.๘ แล้ว เหมือนครูบาอาจารย์จะบอกว่าใช้เป็น ภวตุ นั่นหละถูกแล้ว เพื่อรักษาคณะฉันท์จึงลบ นฺ พยัญชนะสังโยค จาก ภวนฺตุ เป็น ภวตุ นัยว่าผู้รู้หลายท่านก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันด้วย คือ ลบ นฺ พยัญชนะเพื่อรักษาฉันท์
ยังมีคำถามปลีกย่อยไปอีกว่า ในเมื่อกิริยาเป็น ภวตุ ซึ่งเป็นเอกวจนะอยู่แล้ว จะเปลี่ยนประธานเป็น ชยมงฺคลคฺคํ (ชยมงฺคลํ-อคฺคํ) ด้วยได้หรือไม่ (เหมือนได้ยินเรื่องเล่าว่า มีบางวัดสวดเป็น ..ชยมงฺคลคฺคํ ด้วย) ขอตอบว่า ใช้ประธานเป็น ชยมงฺคลคฺคํ (อ.ชัยชนะอันเป็นมงคลสูงสุด) ก็คงได้หละครับ มองดูง่ายดีแถมเหมือนถูกไวยากรณ์ด้วย แต่ทราบได้อย่างไรว่า ชยมงฺคลานิ ผิดวจนะหรือผิดไวยากรณ์จริง ๆ ได้พิจารณาดูโทษข้อห้ามและข้ออนุญาตเกี่ยวกับฉันทลักษณ์ดีแล้วหรือไม่ ก็ในเมื่อบทพาหุงบทนี้ ได้รับการยกย่องในหมู่กวีว่า “เป็นฉันท์ชั้นครู” มิใช่หรือ แถมเป็นฉันท์เก่าแก่มีอายุหลายร้อยปี ด้านความหมายก็ดีเยี่ยม การใช้ศัพท์ก็สละสลวย เมื่อสวดแล้วมีจังหวะเสียงสิถิล ธนิต โฆสะ อโฆสะ อย่างไพเราะเสนาะโสตทั้งรู้สึกขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก แต่กลับมาติดตรงไวยากรณ์ เหมือนตายน้ำตื้นหรือเปล่า
เพื่อมาแก้ข้อสงสัย คงต้องตามหาตัวอย่างการลบพยัญชนะที่เหมือนหรือคล้ายการลบ นฺ ใน ภวตุ ที่ปรากฏในบาลีและอรรถกถาด้วย เท่าที่หาได้ พบว่ามีการลบพยัญชนะเพื่อรักษาฉันทลักษณ์อยู่ ๓-๔ แบบ และการลบพยัญชนะลักษณะนี้ เรียกว่า ลบพยัญชนะจากศัพท์สำเร็จรูป คือ ศัพท์ที่ผ่านการทำตัวผ่านเครื่องปรุงมาแล้ว ที่เรารู้จักกันดี คือ ศัพท์พวก นาม คุณนาม กิริยาทั่วไป เช่น กุมาโร กุสโล จินฺเตตฺวา กโรตุ เป็นต้น มาดู ๓-๔ ตัวอย่างว่าเป็นอย่างไรบ้าง
๑. ลบพยัญชนะสังโยค (พยัญชนะที่ซ้อนกันอยู่)
อปสฺสนฺตี ลบ นฺ พยัญชนะสังโยค เป็น อปสฺสตี ดังในคาถาว่า
สกุณี หตปุตฺตาว สุญฺญํ ทิสฺวา กุลาวกํ
จิรํ ทุกฺเขน ฌายิสฺสํ ภูริทตฺตํ อปสฺสตี (ขุ.ชา. ๗๓๒/๑)
“เราเมื่อไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมเป็นทุกข์อย่างยาวนาน
ดังแม่นกพลัดพรากจากลูก ตรอมใจอยู่เพราะเห็นแต่รังเปล่า”
อรรถกถาแก้ อปสฺสตี เป็น อปสฺสนฺตี (ขุ.ชา.อฏฺฐ.)
๒. ลบพยัญชนะเพียว ๆ เลย
วมฺหมยํ (อิว-อมฺหมยํ) วมฺหมยํ ลบ ม พยัญชนะ เป็น วมฺหยํ (อิว-อมฺหยํ) ดังในคาถาว่า
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตชํ อตฺตสมฺภวํ
อภิมตฺถติ ทุมฺเมธํ วชิรํ วมฺหยํ มณึ ฯ (ขุ.ธ. ๒๒/๒๖๑)
“อมฺหยํ มณึ อภิมตฺถนฺตํ วชิรํ อิว ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณีอันเกิดแต่หิน”
อรรถถาเป็นแก้ วมฺหยํ เป็น อมฺหมยํ (ขุ.ธ.อฏฺฐ. ภาค ๖/๑๘)
๓. ลบทั้งพยัญชนะตัวหน้าและพยัญชนะสังโยคตัวหลัง
สกฺกาเร ลบทั้ง ส พยัญชนะตัวหน้า และ กฺ พยัญชนะสังโยคตัวหลัง เป็น กาเร ดังในคาถาว่า ..อปฺปเกปิ กเต กาเร (ขุ.ธ.อฏฺฐ. ภาค ๖/๘๖) “ครั้นเมื่อสักการะแม้น้อยอันท่านกระทำแล้ว”
๔. เอวํส (วิ.จุล. ๔๐๑) เอวํ-อสฺส, ปุปฺผํสา (วิ.มหาวิ. ๑๗) ปุปฺผํ-อสฺสา ทั้งสองตัวอย่างนี้ เมื่อลบ สฺ พยัญชนะสังโยคตัวหลังแล้ว พยัญชนะที่เหมือนสระตัวหน้าคือ อ จะหายไปโดยอัตโนมัติ อ ตัวนี้มาจาก ต สัพพนามนั่นเอง ลง ส จตุตถี-ฉัฏฐีวิภัตติ แปลง ต เป็น อ แล้วซ้อน สฺ จึงเป็น อสฺส ๒ ตัวอย่างนี้มาในกฎข้อว่า พฺยญฺชโน จ วิสญฺโญโค (กจฺ.๔๑) นิคฺคหีตมฺหา ปรสฺส ปเร ลุตฺเต พฺยญฺชโน สญฺโญโค เจ, วิสญฺโญโคว โหตีติ สํโยเคกเทสสฺส ปุริมพฺยญฺชนสฺส โลโป. (รูป.๕๖) (รายละเอียดนิมนต์ไปดูในปทรูปสิทธิ)
เอวํส, ปุปฺผํสา ๒ ศัพท์นี้ คล้ายตัวอย่างข้อ ๓ เพียงแต่ สกฺกาเร ลบพยัญชนะทั้ง ๒ ทิ้งเลย มีรูปเป็น กาเร ไม่เข้ารูปสนธิเหมือน เอวํ อสฺส เป็น เอวํส, ปุปฺผํ-อสฺสา เป็น ปุปฺผํสา
มีการลบพยัญชนะสังโยคที่ไม่เหมือนการลบพยัญชนะแบบ ภวตุ (ภวนฺตุ) ขอเรียกว่า “การลบพยัญชนะสังโยคจากศัพท์ที่เป็นคำสนธิ เช่น ติสฺสตฺเถโร ลบ ตฺ เป็น ติสฺสเถโร, อุปฺปนฺโน ลบ ป เป็น อุปนฺโน แบบนี้พบเห็นทั่วไปและไม่เข้าตามแบบการลบพยัญชนะสังโยคของ ภวตุ (ภวนฺตุ) ตรงนี้ต้องระวังด้วย คนละแบบกับตัวอย่าง ๔ ข้อข้างบน อย่านำไปปนกัน
จึงสรุปได้ว่า การลบพยัญชนะเพื่อรักษาฉันท์มีตัวอย่างเทียบจริง ดังที่ยกแหล่งอ้างอิงมา โดยเฉพาะตัวอย่างที่ ๑ ลบ นฺ จาก อปสฺสนฺตี เป็น อปสฺสตี ดังนั้น การลบ นฺ ที่ ภวนฺตุ เป็น ภวตุ ก็ควรเทียบได้ด้วย และ ภวตุ ศัพท์ในคาถาพาหุง จึงถูกต้องแล้วด้วยประการฉะนี้
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
“อ.พระผู้เป็นจอมแห่งมุนี (อ.พระผู้เป็นใหญ่กว่ามุนี) ผู้ทรงชนะแล้ว (ซึ่งพญามาราธิราช) ผู้เป็นไปกับเสนามารผู้ร้ายกาจผู้ขึ้นแล้วสู่ช้างชื่อว่า คิริเมขละ ผู้มีแขนพันหนึ่งอันเนรมิตแล้วและผู้เป็นไปกับด้วยอาวุธ ด้วยวิธีแห่งธรรมมีทานบารมีเป็นต้น
ด้วยเดชแห่งพระผู้เป็นจอมแห่งมุนีผู้ทรงชนะพญามาราธิราชนั้น อ.ชัยชนะอันเป็นมงคลทั้งหลาย (อ.ชัยชนะและมงคลทั้งหลาย, อ.มงคลคือชัยชนะทั้งหลาย) ขอจงมีแก่ท่าน”
พาหุํ สามารถเขียนติดเป็น พาหุํสหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ (พาหุสหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ) น่าจะแปลความได้สนิทกว่า ในบทความนี้ใช้คำแปลแบบเขียนติด และเมื่อเป็นรูปเขียนติดนี้ มีคำถามว่า อํ นิคคหิตที่ พาหุ มายังไง ตอบว่า อํ นิคคหิตที่ พาหุ นี้คือ อํ นิคคหิตอาคมนั่นเอง จาก พาหุ จึงเป็น พาหุํ ลงนิคคหิตอาคมเพื่อรักษาฉันท์และเพื่อสะดวกในการสวด
ตัวอย่างเทียบ เช่น อวสิโร เป็น อวํสิโร (ขุ.ชา. ๔๐) , อณุถูลานิ เป็น อณุํถูลานิ (ขุ.ชา. ๑๖๙๘) มีกฎด้วยว่า นิคฺคหีตญฺจ..ฯเปฯ (กจฺ. ๓๗ / รูป. ๕๗)
ส่วน ม ตรง -สมภิ- คือ ม อาคม (พาหุํสหสฺสอภินิมฺมิต- ลง ม อาคมเป็น พาหุํสหสฺสมภินิมฺมิต) แล้วแยกเป็น ๒ ส่วนเพื่อให้ภาพชัดตามคำแปล คือ พาหุํสหสฺสมภินิมฺมิต- (-ตํ) / -สาวุธนฺตํ
อุทิต- มาจาก อุ อุปสรรค ท อาคม อิ ธาตุ ต ปัจจัย = ขึ้นแล้ว
ชิตวา (ชิตวนฺตุ) ผู้ทรงชนะแล้ว รูปนี้ให้เทียบ สุตวา (สุตวนฺตุ) (วิ.มหา. ๒๓) ผู้สดับแล้ว
----------------------------
ขอขอบคุณ admin page : เทคนิคการแต่งฉันท์บาลี
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ