“อกาลิโก” คือธรรมอะไร
ตามความหมายของพระอภิธรรม “อกาลิโก” หมายถึง ธรรมที่ให้ผลไม่ประกอบด้วยกาล หรือไม่ต้องรอกาลเวลาที่ได้รับผลแห่งธรรม ได้แก่ มรรคจิต 4 และผลจิต 4 เนื่องจาก มรรคจิตซึ่งเป็นกุศลชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หรือเมื่อบรรลุมรรคแล้ว อริยผลของกุศลนี้ได้แก่ ผลจิต อันเป็นวิบากชาตินั้นไม่ต้องรอเวลา ไม่มีระหว่างคั่น จะให้ผลในทันทีทันใด จึงเรียกว่า อกาลิกธรรม ซึ่งเมื่อมรรคจิตเกิดและดับลง ผลจิตจะเกิดติดต่อกันเป็น อนันตรปัจจัย (ปัจจัยกลุ่มอนันตรชาติ)
ว่าด้วยการให้ผลของเหตุ หรือของธรรมที่เป็นเหตุ
โดยทั่วไป ธรรมที่เป็นเหตุนั้น ก็ได้แก่ กุศลธรรม และอกุศลธรรม (กุสลา ธัมมา, อกุสลา ธัมมา) // (หากจะกล่าวโดยยกเจตนาเป็นใหญ่ที่ให้สำเร็จกรรมต่าง ๆ นั้น ก็ต้องเรียกว่า “กุศลกรรม” และ “อกุศลกรรม”)
๑. กุศลธรรม แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) กุศลธรรมที่เป็นไปในวัฏฏะ ได้แก่กุศลธรรมที่เป็นไปใน ๓ ภูมิ คือ
ก. กามาวจรกุศลธรรม ได้แก่มหากุศลจิต ๘ ดวง และเจตสิกที่ประกอบ ที่เป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น คือ มหาวิปากจิต ๘ นำสัตว์ให้บังเกิดใน มนุษย์ภูมิ ๑, เทวภูมิ ๖ และวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑ นำสัตว์ให้บังเกิดเป็นมนุษย์และเทวดาชั้นต่ำที่บ้า ใบ้ บอด หนวกมาแต่กำเนิด
ข. รูปาวจรกุศลธรรม ได้แก่ รูปาวจรกุศลจิต ๕ และเจตสิกที่ประกอบ, ให้รูปาวจรวิบากจิต ๕ เป็นผล นำสัตว์ผู้นั้นให้ไปบังเกิดในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญฯ) และรูปสัญญาวิราคภาวนา ให้ชีวิตรูปวิบากปฏิสนธิในอสัญญสัตตภูมิ
ค. อรูปาวจรกุศลธรรม ได้แก่ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ และเจตสิกที่ประกอบ, ให้อรูปาวจรวิปากจิต ๔ นำสัตว์ให้บังเกิดในอรูปภูมิ ๔ (อา.วิญ.กิญ.เน)
๒) กุศลธรรมที่ไม่เป็นไปในวัฏฏะ เป็นตัวทำลายวัฏฏะ หรือออกจากวัฏฏะ ได้แก่ มรรคจิต ๔ และเจตสิกที่ประกอบ
๒. อกุศลธรรม ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ เจตสิกที่ประกอบ ๒๗ ย่อมให้วิบากคือ อุเบกขาสันตีรณวิปากจิต ๑ นำสัตว์ให้บังเกิดในอบายภูมิ ๔ (สัตว์นรก,อสุรกาย,เปรต, สัตว์เดรัจฉาน)
ในการให้ผลของกุศลธรรมที่เป็นไปในวัฏฏะ และอกุศลธรรมนั้น จะมีกาลเวลาในการให้ผล ซึ่งเรียกว่า “ประกอบด้วยกาล กาลิโก” คือ
๑. ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ เรียกว่า “ทิฏฐธัมมเวทนียะ”
๒. ให้ผลในลำดับแห่งจุติ คือให้ผลในขณะปฏิสนธิในภพที่ ๒ เรียกว่า “อุปัชชเวทนียะ”
๓. ให้ผลในภายหลังแห่งปฏิสนธิกาลในภพใหม่แล้ว ที่เรียกว่า “อปราปรเวทนียะ”
๔. ไม่ส่งผล ไม่ให้ผล คือล่วงเลยกาลเวลาแห่งการให้ผล เรียกว่า “อโหสิกรรม”
ส่วนกุศลธรรมที่ไม่เป็นไปในวัฏฏะ คือมรรคจิต ๔ นั้น จะให้ผลธรรมเกิดขึ้นติดต่อกันทันที ในวิถีจิตเดียวกัน คือเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้นและดับลง ผลจิตก็เกิดติดต่อกันไป เป็นอนันตระ คือไม่มีจิตใด ๆ มาเกิดคั่นก่อนในขณะที่ผลจิตจะเกิดขึ้น นี่เรียกว่า “ไม่ประกอบด้วยกาล (อกาลิโก)” ในวิถีจิตเดียวกันมีทั้งกุศลและวิบาก (มรรคและผล) เกิดติดต่อกันไป
หากจะมีคำถามว่า “กุศลธรรมที่เป็นไปในวัฏฏะ และอกุศลธรรม ที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรม ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับมรรคจิต เพราะมรรคจิตก็ให้ผลในทิฏฐธรรม ควรเรียกว่า “อกาลิโก” เช่นเดียวกัน ?”
ตอบว่า “เรียกว่า “อกาลิโก” ไม่ได้ เพราะ “กุศลธรรมที่เป็นไปในวัฏฏะ และอกุศลธรรม” แม้บางส่วนจะให้ผลเป็นทิฏฐธรรม แต่ก็ไม่ได้ให้ในขณะแห่งวิถีจิตเดียวกัน คือตัวเหตุและตัวผล จะเกิดขึ้นในวิถีจิตเดียวกันไม่ได้ วิถีจิตที่เป็นเหตุและวิถีจิตที่เป็นผลจะอยู่คนละวิถีกัน ไม่อยู่ในวิถีเดียวกันเหมือนในมรรควิถี ซึ่งมรรคจิตและผลจิต เกิดในวิถีเดียวกันและติดต่อกันไม่มีระหว่างคั่นด้วย ดังกล่าวแล้ว //
หมายเหตุ - ผลของมรรค (ผลจิต) นั้น ให้ผลในภายหลัง คือไม่ใช่วิถีเดียวกันกับมรรคจิตก็ได้ เช่น ตอนที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ, ผลจิตก็เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยมรรค เป็นการเกิดขึ้นคนละวีถีกับมรรค ฯ
=======================
VeeZa
๑๑ กันยายน ๒๕๖๑
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ