ปกิณกความรู้ว่าด้วยเรื่องคำถาม-คำตอบ (ปุจฉา-วิสัชชนา)

ปุจฉาโดยทั่วไป มี 5 ประเภท


1. อทิฏฐโชตนปุจฉา ถามในสิ่งที่ไม่เคยรู้

2. ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ถามเพื่อจะเทียบเคียงสิ่งที่รู้แล้ว

3. วิมติจเฉทนาปุจฉา ถามเพื่อจะตัดความสงสัย

4. อนุมติปุจฉา ถามเพื่อขอมติในที่ประชุม เช่นคำกล่าวถามความพร้อมเพรียงของสงฆ์ผู้จะกระทำสังฆกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง, ขอให้สงฆ์อนุมัติสังฆกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง.

5. กเถตุกัมยตปุจฉา พระผู้มีพระภาคตรัสถามเพื่อตอบเอง

—————-


ในคัมภีร์ยมกปกรณ์ มี คำถาม ๔ อย่าง คือ

๑) “ปุเรปัญหา” เป็นปัญหาที่องค์ธรรมของสังสยบท และองค์ธรรมของสันนิษฐานบทต่างกัน และมีคำตอบที่ตรงข้ามกับคำถามในสังสยบท.

๒) “ปัจฉาปัญหา” เป็นปัญหาที่องค์ธรรมของสังสยบท และองค์ธรรมของสันนิษฐานบทเหมือนกัน จึงมีคำตอบที่รับรององค์ธรรมในสันนิษฐานบทว่า “อามนฺตา” (ใช่).

๓) “ปริปุณณปัญหา” เป็นปัญหาที่บริบูรณ์ คือ มีองค์ธรรมทั้งในสันนิษฐานบทและสังสยบท เหมือนกัน และต่างกัน (มีทั้งปุเรปัญหาและปัจฉาปัญหา) จึงทำให้มีคำตอบที่แบ่งออกไปเป็นสองแง่ คือแง่รับและแง่ปฏิเสธ.

๔) “โมฆปัญหา” เป็นปัญหาที่ไม่สมบูรณ์ ผิดพลาดไปทั้งสันนิษฐานบทและสังสยบท ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ คือ

ก. “สันนิษฐานบท” ไม่มีองค์ธรรม มีคำตอบที่เป็น “ปฏิกเขปวิสัชชนา” (นตฺถิ)

ข. “สังสยบท” ไม่มีองค์ธรรม มีคำตอบที่เป็น “ปฏิเสธวิสัชชนา” (โน)

————–///////———-


หลักการตอบคำถามของพระพุทธเจ้าโดยทั่วไป ๔ อย่าง

๑) เอกังสพยากรณ์ ตอบแบบยืนกระต่ายขาเดียว คือยืนยันว่าคำตอบเป็นอย่างเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น

๒) วิภัชชพยากรณ์ ตอบแบบแยกแยะตอบ เพราะคำถามมีเงื่อนไข, มีตัวแปร…

๓) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ตอบแบบย้อนถาม เรื่องที่สามารถเทียบเคียงกับคำที่เขาถาม เพื่อให้เขาตอบเอง

๔) ฐปนียพยากรณ์ คำถามที่ไม่ถูกต้องหรือชวนให้เกิดความเข้าใจผิด จะทรงพักคำถามนั้นไว้ก่อน แล้วทรงแสดงหลักที่เรียกว่าปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาทให้ผู้ถามฟัง เพื่อทำความเห็นให้ถูกต้องเสียก่อน…(คำถามประเภทนี้ ทรงใช้กับพวกเจ้าลัทธิต่าง ๆ หรือผู้ที่มีความเห็นไปในแนวสัสสตทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง…)

“ฐปนียพยากรณ์” ไม่ได้หมายความว่า “ไม่ตอบ” ทรงตอบ แต่ใช้วิธีที่แยบยลในการตอบ…เป็นจิตวิทยาขั้นสุดยอด…


นอกจากนี้ การตอบ หรือวิสัชชนาธรรม ยังมีอีกหลายนัยะ เช่นในคัมภีร์ยมก มีคำวิสัชชนา ๕ อย่าง คือ

๑) สรูปทัสสนวิสัชชนา แยกแยะคำตอบออกไปเป็น ๒ แง่ทั้งในแง่ยอมรับและปฏิเสธ เพราะคำถามเป็นได้ทั้งสองอย่าง…

๒) ปฏิวจนะวิสัชชนา รับรองคำถาม คือตอบว่า “ใช่” (อามนฺตา) นั่นเอง

๓) ปาฬิคติวิสัชชนา ตอบตรงกันข้ามกับคำถาม เช่นถามว่า “ยตฺถ รูปกฺขนฺโธ นุปฺปชฺชติ, ตตฺถ เวทนากฺขนฺโธ นุปฺปชฺชตีติ? (รูปขันธ์ ไม่ใช่กำลังเกิดในภูมิใด, เวทนาขันธ์ ก็ไม่ใช่กำลังเกิดในภูมินั้น ใช่ไหม?) วิสัชชนาว่า “อุปฺปชฺชติ” กำลังเกิด (ตรงกันข้ามกับคำว่า “นุปฺปชฺชติ”)

๔) ปฏิกเขปวิสัชชนา เป็นคำตอบที่ห้ามคำถาม คือตอบว่า “นตฺถิ” (ไม่มี) เป็นการตั้งคำถามผิด ไม่มีองค์ธรรม

๕) ปฏิเสธวิสัชชนา เป็นคำตอบที่ปฏิเสธตอนหลังของคำถาม, หมายความว่า คำถามแบ่งออกเป็น ๒ ตอน, ตอนต้น พอตอบได้ แต่ตอนหลัง ถามผิด เพราะไม่มีองค์ธรรม อย่างนี้ตอบว่า “โน” (ไม่ใช่).


พระพุทธเจ้ามีคำตอบให้ทุกคำถาม…ผู้ศึกษาต้องเรียนรู้ทั้ง ๓ ปิฎก….//


————-///////—————-

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.