คำว่า “แพะรับบาป” ไม่มีในพุทธศาสนา


โดยหลักการของพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีอะไรเป็นแพะ…มันมีเหตุ-ผลของมันมาแล้ว…เพียงแต่เราตามหาเหตุ มันไม่พบเท่านั่นเอง…เพราะเหตุมันอาจอยู่ไกล (ทูเรนิทาน..อดีตชาติ) …หรือเหตุไม่ไกล (อวิทูเรนิทาน) แต่เราลืมไปแล้ว…ว่าเราได้ทำกรรมอันเป็นอกุศลอะไรไว้…//


แต่เรื่องนี้ในทางพุทธศาสนา จะไม่นำมากล่าวลอย ๆ เพราะจะเป็นเหตุถกเถึยงกัน…และผลกรรม ก็เป็นอจินไตย คือไม่สามารถรู้อย่างถ่องแท้ได้ด้วยการคิดนึกเอา ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า “อจินไตย” (ไม่ควรคิด)


เรื่องทำนองนี้…พระพุทธเจ้าจะตรัส ต่อเมื่อมีคนถาม อย่างเช่น ผลกรรมของพระจักขุบาล…ทำไมเป็นพระอรหันต์ถึงตองตาบอด, ผลกรรมของพระพุทธเจ้าเอง ทำไมเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจึงต้องโดนสะเก็ดหินที่พระบาท…ผลกรรมของอุบาสกคนหนึ่ง ไปจำศีลอุโบสถในวัด แต่พอรุ่งเช้าเดินทางกลับบ้าน กลับถูกโจรฆ่าตายกลางทาง…. ฯลฯ และเรื่องอื่น ๆ อีกเยอะแยะ… พระพุทธเจ้าจะตรัสบอกต่อเมื่อมีภิกษุมาถาม… และคำถามนี่เอง จึงเป็นเหตุเกิดแห่งพระสูตรต่าง ๆ


(เหตุเกิดแห่งพระสูตร มี ๔ อย่าง) คือ

๑. เกิดเพราะอัธยาศัยของพระองค์เอง คือพระพุทธเจ้าตรัสขึ้นมาเอง

๒. เกิดเพราะอัธยาศัยของบุคคลอื่น คือตรัสยกเรื่องราวของบุคคลอื่น

๓. เกิดด้วยอำนาจของคำถาม อย่างเช่นผลกรรมของบุคคลต่าง ๆ หรืออย่างมงคลสูตร

๔. เกิดเพราะเกิดเรื่องขึ้น คือมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นก็ทรงแสดงธรรม


สพฺพสุตฺตานญฺหิ อตฺตชฺฌาสยา ปรชฺฌาสยา อตฺถุปฺปตฺติกา ปุจฺฉาวสิกา จาติ จตุพฺพิธา อุปฺปตฺติ โหติ ฯ (อรรถกถา มงคลสูตร)


อีกประการหนึ่ง

คำพูดที่ว่า “คนเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมเก่า” นั้น // ความหมายลึก ๆ ก็คือว่า ร่างกายและจิตใจของมนุษย์นี้ เกิดมาด้วยอำนาจผลของกรรมในอดีตชาติ … หมายความว่าอย่างไร ? หมายความว่า เพราะมีอดีตเหตุ จึงมีปัจจุบันผล (มีอดีตกรรม จึงมีปัจจุบันผล)

(อดีตเหตุ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน + สังขาร และกัมมภวะ) จริง ๆ แล้ว อดีตเหตุ ได้แก่ อวิชชา และ สังขาร แต่เวลาเรากระทำกรรมจริงๆ จะมีตัณหานุสัย และทิฏฐานุสัย ซึ่งก็ได้แก่ ตัณหาและอุปาทานนั่นเองเป็นแรงผลักดันร่วมด้วยเสมอ (สังขาร ก็คือ เจตนาในกุศลและอกุศลจิต)


เมื่อมีอดีตเหตุแล้ว ก็ต้องมีปัจจุบันผล ซึ่งก็ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตน ผัสสะ เวทนา ฯ วิญญาณ แบ่งเป็นสองอย่าง คือ ปฏิสนธิวิญญาณ และปวัตติวิญญาณ

– ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นตัวทำให้สัตว์เกิดขึ้นในภพภูมิต่าง ๆ

– ส่วนปวัตติวิญญาณ ก็คือจิตดวงต่อ ๆ มา มีภวังคจิตเป็นต้น… คือเป็นจิตที่เกิดหลังจากปฏิสนธิวิญญาณจิต ดับลงไปแล้ว…


วิญญาณทั้งสองอย่างนี้ แบ่งออกเป็น ๒ อย่างอีก คือ

– ที่เป็นผลของอกุศลกรรม อย่างหนึ่ง

– และที่เป็นผลของกุศลกรรมอย่างหนึ่ง


* การเกิดมาเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ก็คือปฏิสนธิวิญญาณที่เป็นผลมาจากกุศลกรรมในอดีต นั่นเอง

ในที่นี้จะกล่าวถึงการเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้น

เมื่อปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมในอดีตทำหน้าที่ปฏิสนธิในท้องของแม่แล้ว มนุษย์ก็ได้ชื่อว่า เกิด หรือกำเนิดขึ้น ซึ่งปฏิสนธิวิญญาณนี้ ในทางพระสูตรเรียกว่า คันธัพพะถือปฏิสนธิ อย่างที่ท่านกล่าวว่า สัตว์ถือเอากำเนิดในครรภ์มารดา เพราะ

– บิดามารดาอยู่ร่วมกัน ๑

– มารดามีระดู (ไข่ที่สุกพร้อม) ๑,

– คันธัพพะ (ปฏิสนธิวิญญาณ) หยั่งลง ๑


เมื่อว่าโดยหลักของปฏิจจสมุปบาท เหต-ผล จะเป็นไปในลักษณะ ๔ อย่าง (สนธิ ๔ ) คือ

๑) อดีตเหตุ ได้แก่ อวิชชา, สังขาร

๒) ปัจจุบันผล ได้แก่ วิญญาณ, นาม-รูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา

๓) ปัจจุบันเหตุ ได้แก่ ตัณหา, อุปาทาน ภวะ (กัมมภวะ)

๔) อนาคตผล ได้แก่ ภวะ (อุปปัตติภวะ) ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส


เมื่อว่าโดย วัฏฏะ ๓ แล้ว ก็จะได้ดังนี้

๑) อวิชชา, ตัณหา, อุปาทาน เป็นกิเลสวัฏฏ์

๒) สังขาร, กัมมภวะ เป็น กัมมวัฏฏ์

๓) วิญญาณ, นาม-รูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา, อุปปัตติภวะ, ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จัดเป็น วิปากวัฏฏ์


เมื่อเวลาเราได้รับความทุกข์ และความสุข หรือเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่รับรู้ เป็นจิตที่เป็นวิบาก (ผล) เป็นส่วนมาก เช่นวิบากจิตที่เกิดทางทวารทั้ง ๕ ถ้าเกิดพ้นจากการเป็นวิบาก คือเป็นโสมนัสบ้าง เป็นโทมนัสบ้าง และอุเบกขาบ้าง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมด้วยกุศลจิต อกุศลจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลนั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นเหตุ ซึ่งเรียกว่าปัจจุบันเหตุ อันจะส่งผลให้เกิดอนาคตผลต่อไปอีก…. เช่น เกิดโทสะขึ้นในจิตใจแล้วกระทำกรรม คือการฆ่าสัตว์ (กระบวนการจะเป็นไปทำนองนี้…)

– จิตซึ่งเป็นวิบากจิต (ภวังค์) เกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา) ทางปัญจทวาร แล้วไปกระตุ้นเตือนปฏิฆานุสัย (อนุสัยกิเลส)

– วิบากจิตนั้นนั่นเองซึ่งถูกปฏิฆานุสัยซึ่งนอนเนื่องในขันธสันดานถูกกระตุ้นด้วยอนิฏฐารมณ์อย่างแรงได้แปรเปลี่ยนเป็น โทสะจิต หรือโทสมูลจิต (ทางมโนทวาริกวิถีจิต) (ปริยุฏฐานกิเลส)

– และในขณะที่โทสะมูลจิตเกิดขึ้น ในขณะนั้น เวทนาจัดเป็น โทมนัสสเวทนา คือความทุกข์ทางใจ (ปริยุฏฐานกิเลส)

– ในขณะเกิดโทสะนั้น มีเจตนาในการฆ่าสัตว์ เจตนานั้น จัดเป็นอกุศลกรรม (เจตะนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ) (ปริยุฏฐานกิเลส)

– ถ้าทำการฆ่าสัตว์สำเร็จลง ก็ถือว่า ทำปาณาติบาตสำเร็จครบองค์ประกอบจัดเป็นอกุศลกรรมบถ (วีติกกมกิเลส) ก็จะก่อให้เกิดวิบาก คือปฏิสนธิวิญญาณ ที่รอจะส่งผลให้เกิดในภพต่อไป ซึ่งเป็น อนาคตผล …(ดูคำว่า อนาคตผล)


จะเห็นได้ว่า (กล่าวโดยปุคคลาธิษฐาน)

– ตัวตนของมนุษย์นั้น เป็นทั้ง ปัจจุบันผล คือเป็นผลที่มาจากเหตุในอดีต , และขณะเดียวกันก็เป็นปัจจุบันเหตุ คือจะก่อผลในอนาคตอีก ซึ่งเรียกว่า “อนาคตผล”

– ที่กล่าวว่า เป็นปัจจุบันเหตุ ก็เพราะว่า มนุษย์จะอาศัยร่างกาย และจิตใจนั้นนั่นเอง ทำกุศลกรรมบ้าง และอกุศลกรรมบ้าง นั่นเอง ฯ


มีผู้ถามว่า :-


ถาม “คันธัพพะ” มาจากไหน ? ตอบว่า ก็มาจาก สังขาร (เจตนาใน กุศลจิต,อกุศลจิต)

สังขาร มาจากไหน ? ก็มาจาก อวิชชา ฯ

อวิชชา มาจากไหน ? ก็มาจากอาสวะ (โลภะ ทิฏฐิ)

โลภะ ทิฏฐิ โมหะ ท่านจัดเป็นอาสวะ สิ่งที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานของสัตวท์ทั้งหลาย …. ที่ท่านกล่าวว่า หาเบื้องต้น (อาทิ) และเบื้องปลาย (ปริโยสาน) ไม่พบ ฯ

โลภะ ทิฏฐิ มาจากไหน ? ก็มาจาก อวิชชา (โมหะ) คือความหลง ไม่รู้ // ถ้ารู้เมื่อไร (ปัญญาในอรหัตตมรรค) โลภะ ทิฏฐิ โมหะ ก็จะหายไป เมื่อนั้น ฯฯฯ


ปัญหาโลกแตก –

อวิชชา มาจากไหน ? ตอบ โลภะ ทิฏฐิ

โลภะ ทิฏฐิ มาจากไหน ? ตอบ อวิชชา

----------------

VeeZa


[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.