“สิ่งที่เห็นไม่ได้อยาก สิ่งที่อยากก็ไม่ได้เห็น”
– สิ่งที่ทำหน้าที่เห็น คือ “จักขุวิญญาณ” คือจิตชนิดหนึ่งที่เกิดอยู่ที่ลูกตาของคนเรา, ที่ได้ชื่อว่า “จักขุวิญญาณ” เพราะทำหน้าที่เห็น (ทัสนกิจ) และทำหน้าที่เห็นโดยเฉพาะเท่านั้น ซึ่งเป็นกิจพิเศษเฉพาะตน ๆ จึงเรียกว่า “จักขุวิญญาณ”
– จักขุวิญาณมี ๒ ดวง คือ ดวงที่เห็นสิ่งที่ไม่ดี คือเห็นรูปารมณ์ (สีต่าง ๆ) ที่ไม่ดี ๑, ดวงที่ทำหน้าที่เห็นรูปารมณ์ที่ดี ๑
– จักขุวิญญาณ มีเจตสิก(ธรรมที่ประกอบกับจิต) เกิดร่วม ๗ ดวง คือ ผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, เอกัคคตา, ชีวิตินทรีย์, และ มนสิการ
– เวทนาที่ประกอบกับจักขุวิญญาณ เป็น อุเบกขาเวทนา อย่างเดียวเท่านั้น
* จักขุวิญญาณ ทำหน้าที่เห็นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีความรู้สึกกับอารมณ์นั้น ๆ ว่า “อยาก ไม่อยาก, ชอบ ไม่ชอบ…ในอารมณ์ที่ตนเห็น ฯ
– สิ่งที่ทำหน้าที่อยาก หรือยินดีพอใจ ไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ที่จิตเข้าไปรับรู้ คือ ตัวเจตสิกที่เข้าไปประกอบกับจิต (ปรุงแต่งจิต) ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่ดี (โสภณเจตสิก) และส่วนที่ไม่ดี คือฝ่ายอกุศลเจตสิก
– ถ้ามีความอยาก หรือต้องการในอารมณ์ที่ได้ประสบแล้ว คืออารมณ์ที่ได้ประสบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายแล้ว วิถีจิตที่เกิดความอยาก ต้องการในอารมณ์นั้น ๆ เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร คือทางใจอย่างเดียวเท่านั้น วิถีจิตนั้นจัดเป็น “โลภชวนวิถี” คือวิถีจิตที่โลภมูลจิตทำหน้าที่ชวนะ และวิถีจิตนั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น หน้าที่เห็น คือ จักขุวิญญาณ มันเกิดและดับไปแล้ว…
ในขณะที่เราดูรูปารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดความอยาก เช่นดูภาพเมนูอาหารแล้ว เกิดความอยากกินในขณะที่กำลังดูรูปภาพนั้นอยู่ ในขณะนั้น วิถีจิต จะเกิดขึ้นสลับกันไป ระหว่างวิถีที่ทำหน้าที่เห็น (จักขุทวาริกวิถี) กับวิถีจิตที่ทำหน้าที่อยากกินอาหารนั้น, วิถีจิตที่เกิดความอยากกินอาหารนั้นจะเกิดขึ้นหลายวิถีและปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา…แต่ด้วยความที่จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะมาวัดความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิตได้…จึงทำให้เราเข้าใจว่า “ในขณะที่เห็นกับขณะที่อยากกิน เกิดขึ้น พร้อม ๆ กัน” ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นคนละขณะกัน…
แต่วิถีจิตที่ทำหน้าที่เห็น กับวิถีจิตที่ทำหน้าที่อยากกินนั้น ก็จะมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน (อนุพันธกะ) คือ ถ้าเกิดวิถีจิตเห็นรูปภาพของอาหารและอยากกินเกิดขึ้นมา…วิถีจิตทั้งสอง คือวิถีที่ทำหน้าที่เห็น กับวิถีที่ทำหน้าที่อยาก ก็จะมีเความเกี่ยวเนื้องสัมพันธ์กัน เรียกว่า อนุพันธกมโนวิญญาณวิถี ฯ
นี่เป็นลักษณะของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือให้ทำความเข้าใจ ถึง รูป – นาม (สิ่งที่ถูกเห็นเป็นรูป สิ่งที่ทำหน้าที่เห็น เป็นนาม) เมื่อมีแต่ รูป -นาม ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัว ตน เรา เขา ก็จะไม่มี ทิฏฐิที่จะเข้าไปยึดก็จะค่อย ๆ คลายไป…
------------------
VeeZa
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ