ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,735)


มิตรพลี

จะทำเดี๋ยวนี้ หรือจะรอทำเมื่อเพื่อนตาย

อ่านว่า มิด-ตฺระ-พะ-ลี

ประกอบด้วยคำว่า มิตร + พลี

(๑) “มิตร” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “มิตฺต” อ่านว่า มิด-ตะ รากศัพท์มาจาก -

(1) มิทฺ (ธาตุ = รักใคร่, ผูก) + ต ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (มิ)-ทฺ เป็น ตฺ (มิทฺ > มิต)

: มิทฺ + ต = มิทฺต > มิตฺต แปลตามศัพท์ว่า - 

(๑) “ผู้รักใคร่กัน” คือต่างคนต่างรู้สึกรักใคร่มีไมตรีต่อกัน 

(๒) “ผู้ผูกคนอื่นไว้ในตน” คือมีลักษณะชวนให้คนอื่นรักโดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่ทันได้รู้จักผู้ที่มารักตนนั่นเลยด้วยซ้ำ

(2) มิ (ธาตุ = ใส่เข้า) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ

: มิ + ตฺ + ต = มิตฺต แปลตามศัพท์ว่า - 

(๑) “ผู้ควรแก่การที่จะใส่ความลับเข้าไป” คือคนที่เพื่อนสามารถบอกความลับให้รู้ได้ทุกเรื่อง 

บางคนเป็นเพื่อนกันก็จริง แต่เพื่อนไม่กล้าบอกความลับ หรือบอกก็บอกได้บางเรื่อง บอกทุกเรื่องไม่ได้ เพราะไม่ไว้ใจว่าจะเก็บความลับได้

(๒) “ผู้ใส่เข้าข้างใน” คือคนที่เก็บความลับของเพื่อนไว้ได้ (เก็บไว้เพื่อปกป้องและช่วยแก้ไขให้เพื่อน มิใช่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายเพื่อน) 

เพื่อนบางคนเก็บความลับของเพื่อนไม่อยู่ หรือเก็บได้ในยามปกติ แต่ถ้าถูกหลอกล่อหรือถูกบีบคั้นก็เก็บไม่อยู่

บาลี “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร” เราใช้ตามสันสกฤตเป็น “มิตร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“มิตร, มิตร- : (คำนาม) เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).”

(๒) “พลี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “พลี” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ -

(1) พลี ๑ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำนาม หมายถึง การบวงสรวง, เครื่องบวงสรวง, ส่วย, การบูชา

(2) พลี ๒ อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ) เป็นคำกริยา หมายถึง (1) เสียสละ เช่น พลีชีพเพื่อชาติ (2) บวงสรวงเชิญเอามา (ใช้แก่ยาสมุนไพร) เช่น ไปพลียาที่ต้นเทียน คือ ไปบวงสรวงเก็บต้นเทียนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียนมาทำยารักษาโรค

(3) พลี ๓ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง มีกําลัง

“พลี” บาลีว่าอย่างไร

(๑) “พลี” ตามข้อ (1) บาลีเป็น “พลิ” อ่านแยกเป็น 2 พยางค์ คือ พะ-ลิ (เขียนเป็นอักษรโรมันจะเห็นชัด คือ BALI : BA = พะ LI = ลิ) มีความหมาย 3 อย่าง คือ -

1 เครื่องบวงสรวง, เครื่องเซ่น (religious offering, oblation)

2 ภาษี, อากร (tax, revenue)

3 ชื่อของอสูรตนหนึ่ง (proper name of an Asura)

(๒) “พลี” (พฺล ควบกล้ำ) ตามข้อ (2) ไม่มีในบาลี สันนิษฐานว่าเป็น “พลี” ตามข้อ (1) นั่นเอง ความหมายเดิมคือ การจัดสรรทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อบูชา สงเคราะห์ หรือเพื่ออุทิศ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเอามาใช้ตามความหมายของไทย คือให้ความหมายว่า “เสียสละ” 

ส่วนที่อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ ไม่ใช่ พี และไม่ใช่ พะ-ลี) ก็คงเกิดจากการอ่านตามความเข้าใจผิดของบางคน คือไม่รู้ว่าคำเดิมเขาอ่านว่า พะ-ลี จึงอ่านไปตามความเข้าใจเองเองว่า พฺลี แล้วกลายเป็นความนิยมไป คือผิดจนถูกไปแล้ว

(๓) “พลี” ตามข้อ (3) ศัพท์เดิมก็คือ “พล” (พะ-ละ) ที่แปลว่า “กำลัง” (strength, power, force, an army, military force) เช่นคำว่า “พลศึกษา” หรือคำที่พูดควบกันว่า “พละกำลัง” 

: พล + อี = พลี แปลว่า “มีกำลัง” (strong) คำนี้อ่านว่า พะ-ลี 2 พยางค์แน่นอน เพราะคำเดิมคือ พะ-ละ

“พลี” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “พลิ” (พะ-ลิ) เหมือนบาลี (ไม่ใช่ “พลี”) บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“พลิ : (คำนาม) ศุลก; ภาษี, ราชสวะ, พระราชทรัพย์; พลิทาน; การให้ทานอาหารแก่สรรพสัตว์; ด้ามแซ่ปัดแมลง; การฆ่าสัตว์บูชายัญหรือถวายเนื้อดิบแด่พระทุรคาเทวี; เดนหรือเศษอาหาร; สัตว์อันเหมาะแก่อาหุดีหรือพลิกรรมน์’ หนังย่น, หนังอันหดหู่ยู่ย่นในชราวัย; tax, royal revenue; an oblation, or religious offering in general; presentation of food to all created beings; the handle of a fly-flap; the sacrifice of an animal or raw flesh offered to the goddess Duragā; fragments of food left at a meal, &c.; an animal fit for an oblation; a wrinkle, skin shrivelled by old age.”

“พลี” ในสันสกฤตก็คือ “พลี ๑” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

มิตร + พลี = มิตรพลี แปลตามประสงค์ว่า “อุทิศให้มิตร” 

คนที่มีเพื่อนที่รักกันมาก เมื่อเพื่อนล่วงลับไปย่อมมีความระลึกถึง เพื่อนที่ยังอยู่มักกระทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทำสิ่งใดสิ่งขึ้นมา แล้วอุทิศให้เพื่อน การกระทำเช่นนั้นหรือสิ่งที่กระทำขึ้นมานั้นเรียกว่า “มิตรพลี”

อภิปรายขยายความ :

“พลี” ในคำสอนของพระพุทธศาสนา (พลี ๑) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้ -

..............

พลี : ทางพราหมณ์ คือ บวงสรวง, ทางพุทธ คือ สละเพื่อช่วยหรือบูชา หมายถึงการจัดสรรสละรายได้หรือทรัพย์บางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายประจำสำหรับการทำหน้าที่เกื้อกูลต่อผู้อื่นและการสงเคราะห์ช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ, การทำหน้าที่เกื้อกูลต่อผู้อื่นและการสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน ที่พึงปฏิบัติยามปกติเป็นประจำโดยใช้รายได้หรือทรัพย์ที่จัดสรรสละเตรียมไว้สำหรับด้านนั้นๆ มี 5 คือ -

1 ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ 

2 อติถิพลี ต้อนรับแขก 

3 ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (คำนี้ พจน.42 สะกด บุพเปตพลี)

4 ราชพลี ถวายเป็นหลวง หรือบำรุงราชการ เช่น เสียภาษีอากร 

5 เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

..............

จะเห็นว่า ใน “พลี” ทั้ง 5 อย่างที่ระบุไว้นั้น ไม่มี “มิตรพลี” 

คำว่า “มิตรพลี” เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “มิตฺตพลิ” (มิด-ตะ-พะ-ลิ) ตรวจดูในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์เช่นนี้

จึงเป็นอันยืนยันได้ว่า “มิตรพลี” เป็นคำที่นักภาษาของเราคิดขึ้นเองในภาษาไทย

คำว่า “มิตรพลี” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

..............

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อเพื่อนยังเป็น เป็นเพื่อนที่ดี

: อย่ารอทำมิตรพลีเมื่อเพื่อนตาย

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.