วิจารณ์ การุณยฆาต ? คืออะไร

เอาจากรูปศัพท์ก่อน คำว่า การุณยฆาต ตามที่มีข่าวปรากฎในข่าว  https://goo.gl/bjlbi6 ,  https://goo.gl/tbl0U6 ไม่ทราบว่า จะมุ่งหมายว่าอย่างไร ….. อันที่จริง ถ้าจะแปลว่า “การฆ่าด้วยความกรุณา” ก็น่าจะใช้ศัพท์ว่า “กรุณฆาต, กรุณาฆาต” ตรง ๆ ไปเลย ซึ่งก็แปลว่า “การฆ่าด้วยความกรุณา” ก็ได้

แต่มาใช้ศัพท์ว่า “การุณยฆาต” ไม่รู้ทำตัวศัพท์มาอย่างไร ? หรือเขียนในทำนองของสันสกฤต

จริง ๆ ถ้าศัพท์นี้เป็นภาวตัทธิต ก็ควรสำเร็จรูปเป็น “การุญญฆาต” (กรุณา + ณฺย + ฆาต) ฆ่าด้วยความเป็นแห่งบุคคลผู้มีความกรุณา คือหมายความว่า ผู้ทำการฆ่า ทำไปด้วยความกรุณา

(การุญฺญฆาต = กรุณา+ณฺย+ ฆาต) ศัพท์นี้ต้องสำเร็จจากการวิเคราะห์ทั้งตัทธิต และสมาส ดังนี้ คือ

– กรุณา อสฺส อตฺถีติ การุโณ (ปุคฺคโล) ความกรุณามีอยู่แก่ผู้นั้น เหตุนั้นผู้นั้น ชื่อว่า มีความกรุณา (ลง ณ ปัจจัย ในตทัสสัตถิตัทธิต ทำทีฆะต้นศัพท์)

– การุณสฺส ภาโว การุญฺญํ แปลว่า ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีความกรุณา ชื่อว่า การุญญํ (ลง ณฺย ปัจจัย ในภาวตัทธิต แปลง ณฺย กับที่สุดศัพท์ คือ ณ ให้เป็น ญฺญ สำเร็จรูปเป็น การุญฺญ  เทียบ  สมณสฺส ภาโว  สามญฺญํ )

ต่อจากนั้น เอา การุญญ ศัพท์ มาต่อกับศัพท์ ฆาต ด้วยการตั้งวิเคราะห์ ตติยาตัปปุริสสมาส

– การุญเญน ฆาโต = การุญญฆาโต (การุญญฆาต) การฆ่าโดยความเป็นแห่งบุคคลผู้มีความกรุณา ชื่อว่า การุญญฆาโต (การุญญฆาต)

ว่าโดยปรมัตถธรรม …การฆ่าด้วยความกรุณานั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้…. เพราะความกรุณา (อโทสะ) ประกอบกับจิตที่เป็นฝ่ายกุศล แต่การฆ่า เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศล…คือโทสะ //

ข้อนี้ ต้องวิจัยไปที่ละช่วงขณะของวิถีจิต

เพราะความที่จิตของคนเรา เกิด-ดับอย่างรวดเร็ว…การสำเร็จกิจแต่ละครั้งของจิต ต้องเกิดขึ้นเป็นวิถี เรียกว่า วิถีจิต โดยปกติทางปัญจทวารวิถี (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) แต่ละวิถีจิต จะมีจิตเกิดขึ้น ๑๗ ขณะ (ว่าโดยสูงสุด) นับเป็นวิถีจิตหนึ่ง ๆ บางครั้งอาจเกิดขึ้นไม่ถึง ๑๗ ขณะก็มี

ในแต่ละวิถี จะมีอารมณ์ คือรับอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น … อย่างเช่น จักขุทวารวิถี เกิดขึ้น ก็รับอารมณ์คือ รูปารมณ์อย่างเดียว…. โสตทวารวิถีเกิดขึ้น ก็รับอารมณ์คือสัททารมณ์(เสียง) อย่างเดียว…. จบ ๑๗ ขณะจิตแล้ว ก็ดับลงไป..(ลงภวังค์) ..แล้วก็เริ่มเกิดวิถีใหม่ ซึ่งก็จะเป็นวิถีทางมโนทวาร (อนุพันธกมโนทวารวิถี) คือวิถีที่เกิดต่อจากปัญจทวารวิถี…

แม้คนเราจะเห็น หรือได้ยินพร้อมๆ กัน… แต่จริง ๆ แล้ว การเห็น กับการได้ยินนั้น จะเป็นคนละวิถีกัน อารมณ์ ก็ต่าง กัน….แต่เพราะความเกิด – ดับรวดเร็วของจิต จึงทำให้เรามีความรู้สึกว่า เห็นพร้อมกับได้ยิน….จริง ๆ แล้ว คนละวิถีจิตกัน…….

เช่นเดียวกัน….. เราเห็นคนป่วย หมดหนทางรักษาแล้ว…. เกิดความสงสาร อยากให้เขาพ้นไปจากความทรมาณ จากการป่วยนั้น… เราก็เลยคิดว่า ต้องให้เขาพ้นไปจากความทรมาณนั้น …. อย่ากระนั้นเลยทำให้เขาตายดีกว่า จะได้พ้น ๆ จากความทรมาณนั้น….

ในขณะจิตที่คิดนั้น….อย่างน้อยมีสองวิถิจิตที่เกิดขึ้น… คือ วิถีที่เกิดความสงสาร อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ทรมาณนั้น …ซึ่งเป็นวิถีจิตที่เกิดพร้อมด้วยกรุณา…ประกอบกับจิตที่เป็นกุศล…วิถีหนึ่ง

ส่วนอีกวิถีหนึ่ง ก็คือ…วิถีจิตที่เกิดว่า ต้องให้เขาตาย…เขาจึงจะพ้นจากความทรมาณ…. วิถีจิตนี้เกิดด้วยอำนาจของโทสะ ….. (ประทุษร้ายอารมณ์)

คือลักษณะของโทสะนั้น ได้แก่ การประทุษร้ายอารมณ์ การผลักใสอารมณ์ คือไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการได้ยิน….ต้องการทำลายอารมณ์นั้น ๆ ให้หมดสิ้นไป…. (คนที่นอนป่วยทรมาณอยู่นั่นแหละ เป็นอารมณ์ของจิต)

ต่างจากลักษณะของ กรุณา / กรุณานั้น มีทุกขิตสัตว์ คือสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่เป็นอารมณ์ และ เกิดความสงสารต้องการให้เขาพ้นทุกข์…. การต้องการให้เขาพ้นทุกข์ มิใช่การทำให้ผู้นั้นสิ้นชีวิตไป..มิใช่ทำให้ผู้นั้นอันตรธานหายไป.ตรงนี้สำคัญมาก ๆ ถ้าจิตเกิดแว๊บขึ้นมาว่า ต้องให้เขาตายถึงจะหมดสิ้นความทรมาณ อย่างนี้ก็เข้าข่ายอกุศลคือโทสะ ขึ้นมาทันที เป็นคนละวิถีจากกรุณาวิถีแล้ว….//

ในกรณีนี้  ถ้าช่วยเหลือไม่ได้ ให้วางใจเป็นอุเบกขา… การวางใจเป็นอุเบกขา ก็ไม่ใช่การทำให้เขาต้องตาย….

ทำไม พรหมวิหารจึงมี ๔ อย่าง… (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) อุเบกขา ก็มีเพื่อจุดตรงนี้แหละ …คือจุดที่ เมื่อเมตตา ก็ไม่ได้, กรุณาก็ไม่ได้, มุทิตาก็ไม่ได้, ที่ทำได้คือ ต้องวางใจเป็นอุเบกขาอย่างเดียว…. ข้อสำคัญ ธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้…อยู่ในฝ่ายที่เป็นกุศล… ไม่ตกไปในฝ่ายที่เป็นอกุศลเลย…. การวางใจเป็นอุเบกขา นั้นจะต้องเป็นลักษณะของปัญญา คือมี กัมมัสสกตาปัญญา ปัญญาที่เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง…การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นไปตามธรรมดา เป็นโทษทุกข์ของสังขาร เป็นภัยของวัฏฏะสงสาร…ไม่ยินดีไม่ยินร้าย (อภิชฌา – โทมนัส ) ในอารมณ์นั้น // อุเบกขาในพรหมวิหาร ยังมุ่งไปถึงคนที่เป็นศัตรู และคนที่เป็นที่รัก  เช่น ได้เห็นหรือได้ทราบข่าวว่า คนที่เป็นศัตรูเกิดความฉิบหาย หรือตาย… ก็ไม่เกิดความยินดีว่า “สมน้ำหน้ามัน มันตายซะได้ก็ดี…” ในขณะเดียวกันถ้าคนที่รัก หรือที่เคารพ ตาย ก็ไม่ตีโพยตีพายเสียใจ … ต้องวางใจเป็นอุเบกขา ฯ

อีกประการหนึ่ง ….. ความพิศดารของจิตมนุษย์ ก็คือว่า กุศล เป็นปัจจัยให้เกิด อกุศลก็ได้… หรืออกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล ก็ได้… กุศลด้วยกัน เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลต่อ ๆ ไปก็ได้… อกุศลด้วยกันเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลต่อ ๆ ไปก็ได้……(ด้วยอำนาจของ อารัมมณปัจจัย) // อย่างเช่น เห็นเขาป่วย หมดทางรักษาแล้ว…. จิตกิดความกรุณา อยากให้เข้าพ้นจากความทรมาณ ก็เลยคิดว่า เอาอย่างนี้เลย… ทำให้เขาตายซะ จะได้หมดทุกข์…. ลักษณะนี้แหละเรียกว่า “กุศล เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล….” หมายความว่า จิตที่อยากให้เขาตายเพื่อจะพ้นจากความทรมาณนั้นได้แรงจูงใจ (อารัมมณปัจจัย) มาจากการสงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นลักษณะของกรุณาอันประกอบกับกุศลจิต…แต่วิธีที่จะให้เขาพ้นทุกข์ กลับกลายเป็นอกุศลวิธี…

(กุสโล อกุสลสฺส ธมฺมสฺส อารมฺมณปจฺจเยน ปจฺจโย, กุศล เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย) ปัจจัย 24/47 ในคัมภีร์มหาปัฏฐาน

มีคำถามว่า “การทำการุญญฆาต” ผิดหลักพุทธศาสนา หรือไม่?อย่างไร ? // จริง ๆ แล้ว พุทธศาสนา ไม่ได้บอกว่า อะไรผิด, อะไรถูก มีแต่บอกว่า “เมื่อทำกรรมอย่างนี้ ๆ จะได้รับโทษ หรือได้รับประโยชน์อย่างนี้ ๆ” เหมือนกับกฎหมายในทางโลก “เมื่อคุณทำกรรมอย่างนี้ๆ คุณจะได้รับโทษหรือต้องระวางโทษอย่างนี้ ๆ” ไม่มีคำว่า “ห้าม หรือไม่ห้าม” ไม่มีคำว่าถูก หรือว่าคำว่าผิด”  มีแต่ตัวบทที่กำหนดให้รู้ (กฎหมาย) และตัวบทที่กำหนดโทษ….ว่าต้องจำคุกกี่ปี ปรับกี่บาท…หรือทั้งจำทั้งปรับ….

ในทางพุทธศาสนา …. จะทำอะไรก็แล้วแต่… ทั้งหมดเป็นไปตามธรรมที่ท่านกล่าวไว้คือ

– ทำบาป อกุศล ก็เป็น อกุสลา ธัมมา มีโทษอย่างนี้ ๆ

– ทำบุญ กุศล ก็เป็น กุสลา ธัมมา ได้ประโยชน์ อย่างนี้ ๆ

– ทำที่นอกเหนือไปจากบุญและบาป,นอกเหนือไปจากความเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เป็น อัพยากตา ธัมมา (วิบากจิต, กิริยาจิต, รูป, นิพพาน)

ไม่นอกเหนือจากนี้ไปได้….

เพราะฉะนั้น การทำการุญญฆาต ก็พิจารณาเอาว่า เข้ากับธรรม สามข้อนี้อย่างไร ….


อนึ่ง “ความถูกหรือความผิด ความมีโทษหรือไม่มีโทษ” มีอยู่ เป็นไปอยู่ ตามสภาวธรรมนั้น ๆ อยู่แล้ว….


 

------------------

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.