พุทธศาสนาในมิติที่นักวิจารณ์ “ไม่เข้าใจ” โดย VeeZa

หลาย ๆ คน เข้าใจพุทธศาสนาว่า คือ “พระ” จะนับถือพุทธ ต้อง “ไปวัด เข้าหาพระ ฟังเทศน์ ทำตามประเพณีที่ทำ ๆ ตามกันมา… สวดมนต์ ไหว้พระ..มีพระเครื่องห้อยคอ…เป็นต้น.” จริง ๆ แล้ว ถูกเป็นส่วนน้อย น้อยนิดมาก หลาย ๆ คน ยึดติดที่ตัวบุคคล ยึดติดที่วัตถุ ยึดติดที่พิธีกรรม… ฯ ส่วนการศึกษา หาความรู้ ปฏิบัติในศีล… ภาวนา หาได้น้อย

แท้จริงแล้ว องค์ประกอบของพุทธศาสนา ประกอบด้วยหลักใหญ่ ๆ ๔ ประการ คือ

๑. ศาสนธรรม คือคำสอนทั้งหมดที่อยู่ในรูปแบบของ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา และคัมภีร์สัททาวิเศษต่าง ๆ มี คัมภีร์กัจจายนะ เป็นต้น

๒. ศาสนบุคคล ได้แก่ พระศาสดาสัมมาสัมพุทธ, สหธรรมิก ๕(ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา), พุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา)

๓. ศาสนวัตถุ ได้แก่เสนาสนะทั้งหมด มีวัด อาราม กุฏี เจดีย์….ฯ

๓. ศาสนพิธีกรรม ได้แก่พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนา มี พิธีอุปสมบท, สมาทานศีล… แห่เทียนพรรษา….เป็นต้น

หลายคน ให้ความสำคัญกับ ศาสนบุคคล,ศาสนวัตถุ, ศาสนพิธีกรรม…ชอบที่จะอ้างถึงอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ หลวงปู่องค์นั้น-องค์นี้ หลวงพ่อท่านนั้น ท่านนี้….. น้อยมากที่ให้ความสำคัญกับ ศาสนธรรมคำสั่งสอน ทั้ง ๆ ที่ ศาสนธรรม มีความสำคัญมากที่สุด กว่าศาสนธรรมที่เหลืออีก ๓ อย่าง … // บุคคลจึงเป็นผู้เสื่อมจากศาสนธรรม ไม่รู้ ไม่เข้าใจ… เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ เลยทำให้บิดเบือน ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้เกิดสัทธัมมปฏิรูป แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดง, กระทำในสิ่งที่พุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้..เป็นต้น

ข้อเสียสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ คนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ มักจะชอบแสดง ชอบแนะนำ ชอบวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในลักษณะต่าง ๆ ตามความรู้สึกและความเข้าใจผิดของตนเอง… หลายคนจำพวกนี้ ไม่เคยได้เรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนา ไม่ได้เคยปฏิบัติอย่างจริงจังในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน…

โดยเฉพาะในเรื่องปริยัติ เขาไม่เคยเรียนจบหลักสูตรในทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น

– นักธรรม ตรี, โท, เอก

– บาลีประโยค ๑ – ๙

– อภิธรรม จูฬอาภิธรรมิกะตรี – มหาอาภิธรรมิกะเอก (๙ ชั้น ใช้เวลาเรียน ๗ ปีครี่ง )

– พุทธศาสนบัณฑิต ระดับ ป.ตรี โท เอก (ม.สงฆ์ มหาจุฬาฯ, มหามกุฏฯ)

เป็นเพียงแต่หยิบฉวยหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์ท่านนั้น ท่านนี้มาอ่าน…หรือไปศึกษาศาสตร์อื่่น ๆ มีปรัชญา…เป็นต้น  แล้วก็ทึกทักว่าตนเองมีความรู้… แท้จริง ตัวเขาเองไม่เคยเรียนจบหลักสูตรในทางพุทธศาสนาอย่างที่ว่าเลย.. ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกจบสักเล่ม ในจำนวน ๔๕ เล่ม

เหมือนอย่างว่า…คนที่ถูกประณามว่าเป็นหมอเถื่อน ก็คือตนเองไม่เคยเรียนจบแพทย์ ไม่มีใบอนุญาตในการรักษา เพียงอ่านตำรับตำราเกี่ยวกับการแพท์ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือต่าง ๆ พอมีความรู้ งูๆ ปลา ๆ ก็มาตั้งคลีนิกรักษาคนไข้เอง ในทีสุดก็ถูกตำรวจจับ…และถูกประณามว่าเป็น “หมอเถื่อน”

คนที่ไม่เคยเรียนจบหลักสูตรในทางพุทธศาสนา (นักธรรม, บาลี, อภิธรรม) พระไตรปิฎกก็อ่านไม่จบ ไม่ครบทั้งสามปิฎก อรรถกถา ก็ไม่เคยได้รู้ ได้เรียน…คัมภีร์สัททาวิเศษ มีกัจจายนะ…เป็นต้น ก็ไม่รู้, คัมภีร์ที่แสดงโวหารต่าง ๆ …เช่น  เนตติหารัตถทีปนี ก็ไม่เคยรู้…. แล้วชอบมาอวดอ้าง วิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในแง่มุมต่าง ๆ …. แนะนำพร่ำสอนผู้อื่น… ตั้งตนเป็นดุจอาจารย์ผู้มีความรู้ ….จะต่างอะไรกับคำว่า “หมอเถื่อน”


ท่านจำแนกบุคคลในโลกนี้ไว้ ๔ จำพวก คือ

๑. ไม่รู้ แต่ชี้ คือ ตนเองไม่ค่อยมีความรู้อะไรมากนัก ได้อ่าน ได้ศึกษามาแบบ งู ๆ ปลา ๆ แต่ชอบชี้แนะ แนะนำสั่งสอนวิพากษ์วิจารณ์เขาไปเรื่อย (ประเภท-น้ำไม่เต็มกระบอก กระฉอกดัง)

๒. รู้ แต่ไม่ชี้ คือ จำพวกที่มีความรู้ เข้าใจดี แต่ไม่ค่อยชอบชี้แนะ อาจจะเป็นด้วยเหตุผลบางอย่าง หรือความขี้เกียจ รำคาญ ….(ประเภท-น้ำเต็มกระบอก กระฉอกไม่ดัง)

๓. ทั้งรู้ทั้งชี้ คือ จำพวกที่มีความรู้ เข้าใจดี และคอยแนะนำสั่งสอน ชี้แนะให้ผู้อื่นด้วย

๔. ไม่รู้ ไม่ชี้ พวกนี้ก็คือพวกที่ไม่มีความรู้อะไร ไม่ค่อยได้ศึกษาเล่าเรียน เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่มีความรู้ ก็เลยไม่ชี้แนะ หรือแนะนำผู้อื่น ก็ยังดีกว่าพวกแรก ที่ไม่รู้แต่ดันชี้แนะ

พุทธศาสนา เป็นศาสนาสากล มีกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามหลักนิยาม ตามหลักของสภาวะที่เป็นปรมัตถ์ มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ไม่อาจที่จะกล่าวแสดงไปแบบมั่ว ๆ แบบคาดเดา แบบตรึกนึก โดยที่ไม่มีความรู้ ได้ เหมือนกับตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง ทุกบท ทุกวรรค ตอน ทุกอักษรต้องไม่ตกหล่น มีความหมายที่ชัดเจน จะอ้างมั่ว ๆ หรือเดาสุ่มตามอำเภอใจของตนเองไม่ได้…

หลาย ๆ อย่าง อ. นิธิ เขียนได้ดี ในมิติของนักคิด นักเขียน นักปรัชญา… แต่ในมิติของพุทธศาสนา ยังถือว่ามีส่วนที่ผิดพลาดอยู่มาก… // พุทธศาสนา มุ่งมองถึงประโยชน์ ในหลายมิติ คือ

– ประโยชน์ตน (บางครั้งต้องเอาประโยชน์ตนให้ได้ก่อน แล้วค่อยมุ่งมองถึงประโยชน์เพื่อผู้อื่น)

– ประโยชน์ผู้อื่น (เจาะจงบุคคล) (พ่อแม่ มุ่งมองประโยชน์เพื่อลูก, ลูกมุ่งมองประโยชน์แก่พ่อแม่, สามี-ภรรยา…, ครูอาจารย์ – ลูกศิษย์)

– ประโยชน์แก่มหาชนโดยรวม คือประโยชน์เพื่อสังคม ประเทศชาติ หรือชาวโลก

– ประโยชน์ในปัจจุบันชาตินี้ หลักธรรมที่แสดงถึงประโยชน์ในปัจจุบัน (อุ อา กะ สะ) เป็นต้น

– ประโยชน์ในชาติหน้า (ศรัทธา,ศีล,จาคะ,ปัญญา) เป็นต้น

– ประโยชน์สูงสุด คือ นิพพาน

ตัวอย่างพระพุทธเจ้า ทรงทำประโยชน์แก่ผู้อื่นจำนวนมาก ในสมัยที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีต่าง ๆ แต่การที่ทรงสร้างพระบารมีโดยการสงเคราะห์ผู้อื่นในลักษณะต่าง ๆ มีทาน เป็นต้นนั้น แท้จริงพระองค์กำลังสร้างประโยชน์ส่วนพระองค์ คือสร้างสิ่งที่เรียกว่า บารมี ของพระองค์ และบารมีนั้นนั่นแหละได้รวมกันเป็นพลังให้พระองค์ได้บรรลุประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพาน คือได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปรมัตถประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์ตน คือของพระองค์อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็ได้สร้างประโยชน์ ให้แก่ผู้อื่น นำพระธรรมคำสั่งสอนมาเผยแผ่แก่มหาชน ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและชาวโลก มาจนถึงทุกวันนี้ …

เหมือนกับชาวโลก คนที่มีความรู้ มีความสำเร็จในฐานะ หน้าที่การงาน มีกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังอำนาจอย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมจะทำประโชน์ให้แก่มหาชน แก่ชาวแว่นแคว้นหรือแก่ชาวโลก… ได้มากกว่าคนที่ขาดกำลังกาย ขาดกำลังทรัพย์ ไม่มีพลังอำนาจอะไรอยู่ในตัวตน ฉะนั้น ฯ

คนเรา จะมุ่งมองเอาประโยชน์ส่วนไหน ? จะมุ่งมองเอาประโยชน์ในชาตินี้ ชาติหน้า, ประโยชน์ตน หรือของผู้อื่น , ประโยชน์ที่เป็นวัตถุ เงินทอง หรือประโยชน์ที่เป็นวิชา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม ??? คนที่เป็นบัณฑิต คนที่มีปัญญาวิญญูชนเท่านั้น จะมองได้ดีที่สุด ส่วนคนที่ด้อยปัญญา ก็จะมองแบบผิวเผิน ตื้น ๆ เอาประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์แบบชาวโลกที่ไม่ยั้งยืน…

(แท้จริงแล้ว ประโยชน์ตนนั้นเป็นใหญ่ คนอื่นได้รับอานิสงส์ แต่ประโยชน์ตนนั้นเพิ่มพูน เหมือนการให้ทานแก่ผู้อื่น ผู้อื่นได้รับข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า วัตถุต่าง ๆ ย่อมได้รับความสุข บรรเทาทุกข์ในลักษณะต่าง ๆ เพียงแค่ชั่ว วัน เดือน ปี หรือเพียงแค่ชาตินี้เท่านั้น ฯ แต่ตัวบุคคลผู้ให้ ย่อมได้รับประโยชน์ คือ ทั้งบุญ บารมี ถ้าให้เพื่อกำจัดความตระหนี่ ย่อมเรียกว่าได้รับประโยชน์ทั้งในชาตินี้ คือความเบิกบานใจ…ได้รับประโยชน์ทั้งในชาติหน้า คือ ได้จาคะ คือการบริจาค ช่วยเหลือช่วยสงเคราะห์ผู้อื่น และถ้ามีปัญญา ปรารถนาความหลุดพ้น หรือให้เพื่อกำจัดความตระหนี่อย่างที่กล่าวไว้แล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ บรรลุมรรคผลนิพพานได้…ฯ นี่เรียกว่า ทำเพื่อผู้อื่นก็จริง แต่ตนเองก็ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นแต่เพียงว่า ใครจะมีปัญญาเอาประโยชน์ให้แก่ตนได้ขนาดไหน )


การศึกษา ปฏิบัติ ในทางพระพุทธศาสนา จะเป็นตัวกำหนดสติปัญญา ความคิดของบุคคลได้ดีที่สุด ….

------------------

VeeZa

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.