ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,734)


จุฬามณีเจดีย์

อ่านว่า จุ-ลา-มะ-นี-เจ-ดี

ประกอบด้วยคำว่า จุฬา + มณี + เจดีย์

(๑) “จุฬา” 

คำนี้บาลีมักเป็น “จูฬา” (จู- สระ อู) รากศัพท์มาจาก -

(1) จูฬฺ (ธาตุ = งอกขึ้น) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จูฬ + อ = จูฬ + อา = จูฬา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งอกขึ้น” 

(2) จิ (ธาตุ = สะสม) + ล ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อู (จิ > จู), แปลง ล เป็น ฬ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จิ + ล = จิล > จูล > จูฬ + อา = จูฬา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาสะสม”

“จูฬา” ใช้ในความหมาย 2 นัย คือ -

(1) นูน, โหนก; หน่อ, ปุ่ม, ยอด (swelling, protuberance; root, knot, crest)

(2) เล็ก, น้อย (small, minor)

ข้อสังเกต:

“จูฬา” อาจเพี้ยนรูปหรือเปลี่ยนรูปเป็น จุฬา (สระ อุ) จุฬ จูฬ และ จุลฺล ได้

แต่ในบาลีรูปที่คุ้นตา ถ้าหมายถึง ยอด จุก มักใช้เป็น “จูฬา”

ถ้าหมายถึง เล็ก น้อย มักใช้เป็น “จุลฺล” หรือ “จูฬ”

ภาษาไทยในที่นี้ ใช้เป็น “จุฬา” และหมายถึง มวยผม

(๒) “มณี” 

บาลีเป็น “มณิ” (ภาษาไทยสระ อี บาลีสระ อิ แต่ที่เป็น “มณี” เหมือนในภาษาไทยก็มีบ้าง) อ่านว่า มะ-นิ รากศัพท์มาจาก -

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้, พินาศ) + อิ ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ

: มนฺ + อิ = มนิ > มณิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ให้รู้ถึงความมีค่ามาก” (หมายถึงเป็นของที่มีค่ามาก) (2) “สิ่งที่ยังความมืดให้พินาศไป” (ธรรมชาติของมณีจะมีแสงในตัว)

(2) มา (ธาตุ = นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ, ลบ อา ที่ธาตุ (มา > ม) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มา > ม + ยุ > อน = มน + อิ = มนิ > มณิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้นับถือเครื่องอาภรณ์” (หมายถึงทำให้เครื่องประดับมีคุณค่า)

“มณิ” หรือ “มณี” ในบาลีใช้ในความหมายว่า -

(1) รัตนะ, เพชรพลอย (a gem, jewel)

(2) แก้วผลึกที่ใช้เป็นแก้วสำหรับจุดไฟจากแสงอาทิตย์ (a crystal used as burning-glass)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“มณี : (คำนาม) แก้วหินมีค่าสีแดง ในจําพวกนพรัตน์ มักหมายถึงทับทิม. (ป., ส. มณิ).”

(๓) “เจดีย์” 

บาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก -

(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา”

(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง ต อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิ + ต + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น”

(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต”

(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร”

“เจติย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เจดีย์, สิ่งที่ควรเคารพบูชา, กองหินซึ่งทำไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นสุสาน (a tumulus, sepulchral monument, cairn)

บาลี “เจติย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “เจดีย์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“เจดีย-, เจดีย์ ๑ : (คำนาม) สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น, สิ่งหรือบุคคลที่เคารพนับถือ. (ป. เจติย; ส. ไจตฺย).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เจดีย์” ไว้ว่า -

เจดีย์ : ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, 

เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี 4 อย่างคือ 

1. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 

2. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย 

3. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์ 

4. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป; 

ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น

การประสมคำ :

๑ จูฬา + มณิ = จูฬามณิ (จู-ลา-มะ-นิ) แปลตามศัพท์ว่า “แก้วมณีที่มวยผม” หรือ “มวยผมอันมีค่าดุจแก้วมณี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จูฬามณิ” ว่า a jewel worn in a crest or diadem, a jewelled crest (กะบังเพชร, มงกุฎเพชร)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“จุฬามณี : (คำนาม) ปิ่น; มวยผมของพระพุทธเจ้า; ชื่อพระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ดาวดึงส์ เรียกว่า จุฬามณีเจดีย์, จุฑามณี ก็ว่า. (ป.; ส. จูฑามณี).”

“จูฬามณิ > จุฬามณี” ความหมายที่เข้าใจกันคือ “มวยผมของพระพุทธเจ้า”

๒ จูฬมณิ + เจติย = จูฬามณิเจติย (จู-ลา-มะ-นิ-เจ-ติ-ยะ) แปลว่า “เจดีย์บรรจุมวยผมของพระพุทธเจ้า”

ภาษาไทย “จุฬามณีเจดีย์” (จุ-ลา-มะ-นี-เจ-ดี)

ภาษาบาลี “จูฬามณิเจติย” (จู-ลา-มะ-นิ-เจ-ติ-ยะ)

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “จุฬามณีเจดีย์” ไว้ดังนี้ -

..............

จุฬามณีเจดีย์ : พระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาโมลี (มวยผม) ของพระพุทธเจ้าในดาวดึงสเทวโลก อรรถกถาเล่าว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชา เสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้วจะอธิษฐานเพศบรรพชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้มานำเอาพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ข้างขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทอง นำไปบรรจุในจุฬามณีเจดีย์ด้วย

..............

ความข้อนี้มีคาถาประพันธ์ประกอบไว้ดังนี้ 

เฉตฺวาน โมลึ วรคนฺธวาสิตํ

เวหายสํ อุกฺขิปิ สกฺยปุงฺคโว

รตนจงฺโกฏวเรน  วาสโว

สหสฺสเนตฺโต สิรสา ปฏิคฺคหิ.

พระโมลีอบด้วยกลิ่นหอมอันประเสริฐ

ศากยบุตรผู้เลิศตัดแล้วโยนขึ้นไปยังเวหา

ท้าวสหัสนัยน์วาสวะเอาผอบรัตนา

ทูนพระสิรสารองรับไว้แล้ว

..............

ดูก่อนภราดา!

: จำเริญพระพุทธคุณไว้ทุกเวลานาที

: คือประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ไว้ในดวงใจ

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.