(หัวข้อสนทนาเชิงคำถามให้หาคำตอบ ของ อ. ทองย้อย แสงสินชัย)
กฎกรรมกับกฎหมาย
———————-
กฎไหนใหญ่กว่ากัน
มีพุทธภาษิตที่นิยมยกไปอ้างกันอยู่เสมอว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม (นิพเพธิกสูตร ฉักนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๓๔)
หมายความว่า ตั้งจิตเจตนาอย่างไร กรรมก็สำเร็จเป็นอย่างนั้น คือกรรมสำเร็จตามเจตนา หรือเจตนาเป็นตัวตัดสินว่ากรรมนั้นสำเร็จเป็นกรรมแล้ว
กล่าวโดยนัยตรงกันข้าม ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่สำเร็จเป็นกรรม
มีคำถามชวนคิดว่า กฎกรรมกับกฎหมาย กฎไหนใหญ่กว่ากัน?
มีเรื่องตัวอย่างมาประกอบ ๒ เรื่อง
……………………..
เรื่องแรก: สตรีใจบุญคนหนึ่งมีศรัทธาถวายที่ดินให้วัด ทางวัดประชุมสงฆ์ มีญาติโยมชาวบ้านมาร่วมเป็นพยาน สตรีใจบุญเอาโฉนดที่ดินแปลงนั้นใส่พานถวายประธานสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญชัยมงคลคาถาแล้วอนุโมทนา เป็นที่ชื่นชมยินดีโดยทั่วกัน
กรรมคือเจตนาสำเร็จแล้ว ใช่หรือไม่
ที่ดินแปลงนั้นตกเป็นของสงฆ์คือของวัดเรียบร้อยแล้วตามเจตนาอันเป็นตัวกรรม ใช่หรือไม่
ต่อมาสตรีผู้นั้นสิ้นชีวิตลง ลูกสาวเป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย มรดกก็รวมทั้งที่ดินแปลงที่ถวายวัดนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะถวายโฉนดให้วัดก็จริง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้วัดตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นตามกฎหมายที่นั้นแปลงนั้นยังคงเป็นของสตรีผู้เป็นแม่ เมื่อแม่ตาย มรดกตกแก่ลูกสาว ที่ดินแปลงนั้นก็จึงเป็นมรดกตกแก่ลูกสาว
ลูกสาวมาขอยืมโฉนดที่ดินแปลงนั้นจากวัดอ้างว่าจะขอเอาไปตรวจสอบอะไรบางอย่าง พระที่เก็บรักษาโฉนดก็ให้ไป ได้โฉนดไปแล้วก็ไม่คืนให้วัด ในที่สุดเกิดการฟ้องร้องอ้างสิทธิ์กัน
ศาลตัดสินว่า ที่ดินยังเป็นของสตรีผู้เป็นแม่เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนโอน พิพากษาให้ที่ดินตกเป็นของลูกสาวในฐานะผู้รับมรดก
สู้กัน ๓ ศาล ปรากฏว่าวัดแพ้ทั้ง ๓ ศาล
……………………..
ตามกฎกรรม เจ้าของที่ดินถวายที่ดินให้วัดไปเรียบร้อยแล้ว ที่ดินเป็นของวัดแล้วตามเจตนาอันเป็นกฎกรรม
แต่กฎหมายตัดสินว่าที่ดินยังคงเป็นของผู้ถวาย-ตามเกณฑ์ของกฎหมาย
นี่คือกฎหมายใหญ่กว่ากฎกรรม
ถ้าใครจะวิจารณ์ว่า-นี่ถ้าจดทะเบียนโอนให้วัดเสียตั้งแต่ตอนนั้นก็จะไม่มีปัญหา-ก็เท่ากับยืนยันว่ากฎหมายใหญ่กว่ากฎกรรม (คือเจตนา) เพราะเกณฑ์ที่ว่าที่ดินจะเป็นของใครก็ต่อเมื่อจดทะเบียน-นั้น เป็นเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดขึ้นโดยกฎหมายไม่ได้คำนึงถึงผลที่สำเร็จแล้วตามเจตนาแห่งการให้ นั่นคือถ้าอ้างอย่างนี้ก็คือยืนยันว่ากฎหมายใหญ่กว่าเจตนานั่นเอง
……………………..
เรื่องที่สอง: ชายคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงคนผู้หนึ่งถึงแก่ความตายโดยเจตนา
เมื่อมีการฟ้องร้องในศาล เขาสามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเชื่อได้ว่า เขาไม่ได้ยิง เขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ในที่สุดศาลตัดสินว่าเขาไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
ข้อเท็จจริงก็คือ ชายคนนี้มีเจตนาฆ่าคนจริง ตายจริง กรรมคือการฆ่าสำเร็จเป็นความจริงไปเรียบร้อยแล้ว
แต่กฎหมายตัดสินว่า เขาไม่มีความผิด
คำอธิบายที่นิยมพูดกันก็ว่า การฆ่าเป็นเรื่องจริง เป็นบาปตามหลักศาสนา เขาจะต้องได้รับผลบาป ก็เป็นเรื่องจริง ไม่ปฏิเสธ แต่ต้องแยกไว้ส่วนหนึ่ง
ส่วนการมีความผิดที่จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ศาลตัดสินตามพยานหลักฐาน ไม่ได้ตัดสินตามข้อเท็จจริง เพราะศาลไม่สามารถตามไปดูข้อเท็จจริงได้ทุกเรื่อง
เพราะฉะนั้น จะบอกว่ากฎไหนใหญ่กว่ากฎไหนไม่ได้ ต้องบอกว่าต่างกฎต่างใหญ่ไปคนละทาง
อธิบายอย่างนี้ก็เลยมองได้ว่า กฎหมายก็มีเกณฑ์ของตัวเอง และเกณฑ์ของกฎหมายนั้นไม่แคร์กฎกรรม คือพยานหลักฐานหรือเกณฑ์ของกฎหมายสำคัญกว่ากรรมที่ทำสำเร็จแล้วจริงๆ
ตัวอย่างขำเครียดก็เช่น – แม้ผู้พิพากษาจะเห็นมากับตาตัวเองในขณะที่จำเลยกำลังทำความผิด แต่ถ้าพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงพิสูจน์ได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำ ผู้พิพากษาคนนั้นแหละก็ต้องตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด
ต่างกฎต่างใหญ่ไปคนละทางก็จริง แต่กฎไหนล่ะที่ใหญ่กว่า
……………………..
คำตอบเชิงอภิปราย –
เจตนากรรม ๒ อย่าง
๑) เจตนาที่ประกอบกับจิตทุกดวง ๘๙ (สหชาตกัมมปัจจัย)
– อกุศล* (อกุศลกรรม ๑๒)
– กุศล* (โลกียกุศล ๑๗, โลกุตตรกุศล ๔)
– วิบาก ๓๖
– กริยา ๒๐
๒) เจตนาที่หมายเอาเฉพาะในอกุศล(อกุศลเจตนา ๑๒), โลกียกุศล๑๗ (โลกียกุศลเจตนา ๑๗) (นับว่าเป็นกรรม ตามพระดำรัสทีว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ…”)
ความหมายของคำว่า “กฎแห่งกรรม” ตามหลักการของพุทธศาสนา
กฎของกรรม ตามความหมายในทางพุทธศาสนา คือ
– อกุศลกรรม ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เป็นความทุกข์ เป็นความไม่น่าปรารถนา (อเหตุกวิปากจิต ๗, อกุศลกรรมชรูป ๒๐) แน่นอน เป็นอย่างอื่นไม่ได้
– กุศลกรรม ให้ผลเป็นกุศลวิบาก เป็นความสุข เป็นความน่าปรารถนา (มหาวิปากจิต๘, อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘, และ กุศลกรรมชรูป ๒๐) แน่นอน เป็นอย่างอื่นไม่ได้
กรรมทั้ง ๒ อย่าง “เป็นกฎแห่งกรรม” ตามอำนาจของ กัมมปัจจัย (นานักขณิกกัมมปัจจัย ตามคัมภีร์มหาปัฏฐาน)
และผลของกรรมที่ว่านี้ จะมีลักษณะการให้ผล ๔ ลักษณะ คือ
๑. ทิฏฐธัมมเวทนียะ ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ (เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส รับธัมมารมณ์…ที่ดีและไม่ดี)
๒. อุปปัชชเวทนียะ ให้ผลในภพที่สองหลังจากสิ้นชีวิตลง (ถือกำเนิดใหม่ ทุคคติภูมิ,หรือสุคคติภูมิ)
๓. ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป หลังจากเกิดแล้ว (อปราปรเวทนียะ)… เป็นอุปัตถัมภกบ้าง, เป็นอุปปีฬกบ้าง
๔ หรือ ไม่ให้ผลเลย เป็น “อโหสิกรรม” ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น สำเร็จเป็นพระอรหันต์…กรรมใด ๆ ที่จะให้ผลไปสู่ทุคคติภูมิ หรือสุคติภูมิต่าง ๆ กรรมนั้น ๆ ก็เป็นอโหสิกรรม คือไม่ให้ผลทั้งหมด…
นอกจากนี้… กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่กระทำแล้วนั้น…ยังเป็นปกตูปนิสสปัจจัยได้อีก…คือเป็นปัจจัยให้เกิดผลไปในลักษณะต่าง ๆ ทั้งดีและไม่ดี ทั้งสุขและทุกข์ เช่น….
– บางครั้ง กุศลกรรม ก่อให้เกิดผลที่เป็นความสุข และความทุกข์ ก็ได้ (ปกตูปนิสสยปัจจัย)
(เช่น อยากไปทำบุญที่วัด จัดเตรียมอาหาร…สมณปัจจัยต่าง ๆ…การกระทำนั้นเป็นกุศลกรรม …ขณะขับรถไปวัด แต่เกิดอุบัติเหตุด้วยเหตุสุดวิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ตนเองได้รับบาดเจ็บ, การได้รับบาดเจ็บต้องทุกข์กาย-ใจ นั่นเอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำที่เป็นกุศลว่าจะไปวัดทำบุญถวายทานที่วัด… ความคิดและการกระทำกิจต่าง ๆ นั้นนั่นแหละ “เป็นกุศลปกตูปนิสสย” อาศัยกุศลนั่นแหละ เป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์กาย-ใจอย่างนี้ได้ นี่เป็น “กุศลปกตูปนิสสยปัจจัย”
– ในทางตรงกันข้าม อกุศลกรรม ก็ก่อให้เกิดความสุขกาย สุขใจได้ และความสุขนั้น อาจจะเกิดจากอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้…. เช่น อยากไปเที่ยว แต่ไม่มีเงิน ก็เลยไปปล้นเขา พอได้เงินมาก็เอาไปกิน-ดื่ม-เที่ยวอย่างมีความสุข-โสมนัส, หรือเห็นพระมาบิณฑบาตร ก็เลยเอาเงินนั้นไปซื้อกับข้าวใส่บาตร หรือซื้ออาหารให้สุนัข เพราะเกิดความสงสาร…ในขณะที่ทำจิตก็เกิดความสุขใจ…
การปล้น เป็นอกุศลกรรม การได้เงินจากการปล้นและใช้เงินในลักษณะต่าง ๆ ก่อให้เกิดความสุขกาย-สุขใจได้… อกุศลกรรมนั้นจึงเป็น “อกุศลปกตูปนิสสยปัจจัย” ก่อให้เกิดสุขกาย-สุขใจ หรือทุกข์กาย-ทุกข์ใจได้
*ปกตูปนิสสยปัจจัย จึงเป็นปัจจัยที่มีผลได้กว้างขวาง ไม่จัดเข้าในกฎแห่งกรรม ตามความหมายของกรรมตามพระดำรัสที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ…”
***กรรม และ กฎแห่งกรรม ตามหลักพุทธศาสนา ท่านมุ่งหมายเอาสภาวปรมัตถ์
– เจตนา ที่เป็นตัวกรรม ก็เป็นปรมัตถ์ธรรม
– ผลกรรม ก็เป็น ปรมัตถ์ธรรม
– กฎแห่งกรรม คือ
ดี (บุญ,กุศล) —> ดี(สุข,น่าปรารถนา),
ไม่ดี (ชั่ว,บาป) —> ไม่ดี (ทุกข์, ไม่น่าปรารถนา)
ส่วน “กฎหมาย และการตัดสินในทางโลก ทั้งถูก และผิด” เป็นไปในลักษณะของบัญญัติทางโลก มีเงื่อนไขที่เป็นสมมติบัญญัติ ซึ่งไม่มีอะไรแน่นอน ตายตัว ทั้งสิ่งที่เป็นเหตุ สิ่งที่เป็นผล // ตัดสิน ผิด/-ถูก มากมายเยอะแยะ…. แม้ยุติได้ ก็ยุติแบบยอม ๆ กันไป แต่สิ่งที่ถูก-ผิดจริง ๆ เป็นผลจริง ๆ ต้องเป็นไปตากกฎแห่งกรรมที่เป็นปรมัตถ์ธรรมตามหลักพุทธศาสนาเท่านั้น…
“ตามกฎกรรม เจ้าของที่ดินถวายที่ดินให้วัดไปเรียบร้อยแล้ว ที่ดินเป็นของวัดแล้วตามเจตนาอันเป็นกฎกรรม แต่กฎหมายตัดสินว่าที่ดินยังคงเป็นของผู้ถวาย-ตามเกณฑ์ของกฎหมาย
นี่คือกฎหมายใหญ่กว่ากฎกรรม…”
*บทบัญญัติในทางกฎหมาย เป็นเพียงสมมติบัญญัติ
หากบทบัญญัติในทางกฎหมายบัญญัติว่า “ทรัพย์สินที่บุพพการี (มารดา-บิดา) ยกให้ หรือถวายให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง, องค์กรใดองค์กรหนึ่ง…ไปแล้ว ถือว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของบุพพการีนั้น ….ทายาท (บุตร) ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกคืนกรรมสิทธิ์ได้…” อย่างนี้เป็นต้น
ทรัพย์สินนั้น ก็ต้องตกเป็นของผู้รับเป็นสิทธิ์ที่เด็ดขาดไปแล้ว…
อย่างที่กล่าว “กฎหมายในทางโลก เป็นบัญญัติ” มีความเป็นไปได้หลายนัยะ แล้วแต่จะบัญญัติกันขึ้นมา
กฎหมายในประเทศหนึ่ง อาจไม่ถูกยอมรับในอีกประเทศหนึ่ง, อีกประเทศหนึ่ง บัญญัติเป็นอย่างอื่นก็ได้, หรือไม่มีในอีกประเทศหนึ่งก็ได้….. แต่ “กฎแห่งกรรม” ไม่เป็นเช่นนั้น… ไม่มีใคร ไปบัญญัติกฎแห่งกรรมตามความชอบใจ หรือตามความยินยอมของใคร ๆ ได้…
– เจตนา เป็นกุศล ก็เป็นกุศลกรรมแน่แท้ และผล ก็ต้องสืบเนื่องจากกุศลกรรมนั้นโดยตรง (มุขยผล) เป็นสภาวปรมัตถ์ธรรม ทั้งเจตนา และผลแห่งเจตนา
– เจตนา เป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลแน่แท้ และผล ก็ต้องสืบเนื่องจากอกุศลกรรมนั้นโดยตรง (มุขยผล) เป็นสภาวปรมัตถ์ธรรม ทั้งเจตนา และผลแห่งเจตนา (*วิปากา ธมฺมา, อุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา… ในติกมาติกา)
กฎแห่งกรรม จึงเป็น “กฎสากล”
-ไม่ขึ้นอยู่กับบุคคล,กาล,สถานที่…
-ทำบาปเวลาใด เป็นบาป-อกุศลเวลานั้น, ทำบุญเวลาใด ก็เป็นบุญ-กุศลเวลานั้น ไม่ต้องให้ใครมาโจทก์,หรือต้องให้ใครมาตัดสิน
-ไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ,ศาสนา หรือวรรณะ จะเป็นคนไทย จีน ญวน แขก หรือฝรั่งมังค่า…ใครกระทำ ก็มีภาวะเช่นเดียวกันหมด ตั้งแต่ยาจก จนถึงราชามหากษัตริย์
-ไม่เลือกบุคคล จะเป็นสมณะ ชี พราหมณ์ คฤหัสถ์ ทำดี ก็ดีด้วยกันทั้งนั้น ทำชั่วก็ชั่วด้วยกันทั้งนั้น (คิหิปาโป สมณปาโป ปาโปเยว)
ส่วนกฎหมายในทางโลก จะตัดสินผิด-ถูก ต้องขึ้นอยู่กับ บุคคล กาล สถานที่…ขึ้นอยู่กับกระบวนการหลายกระบวนการ และแต่ละกระบวนการ ก็วุ่นวายสับสน ทำคนผิดให้เป็นถูก หรือทำให้ผิดน้อยลง ก็มี, ข้างฝ่ายถูก ก็ทำให้เป็นผิด หรือทำให้เป็นผิดมากชึ้น ก็มีให้เห็นกันอยู่ทุกวัน..
หลักกฎหมายในทางโลก จึงไม่ใช่กฎสากล เป็นกฎที่เลื่อนลอยไปตามบุคคล กาล สถานที่ และสถานการณ์ ตามสถานะทางสังคม เชื้อชาติ วรรณะ..แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ ก็ไม่ค่อยเหมือนกัน…
บทบัญญัติทางกฎหมาย มีความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกาลเวลา สถานที่ บุคคล สถานการณ์… บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการ หรือขึ้นอยู่กับหลักฐานในการตัดสิน…
ส่วนกฎแห่งกรรม ไม่มีความเปลี่ยนแปลง “เจตนาที่ชั่ว เป็นบาปอกุศล ก็คงเป็นบาป เป็นอกุศลอยู่อย่างนั้น และผลก็ก่อทุกข์, ไม่น่าปราถนาแน่นอน, เจตนาที่เป็นความดีเป็นบุญ-กุศล ก็เป็นความดี เป็นบุญ-กุศลอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ผลก็เป็นความสุข เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาอยู่อย่างนั้น”.
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ