คำว่า “บาลี” มีนัยะที่ควรทำความเข้าใจ ๒ ลักษณะ คือ

 

๑. คำว่า “บาลี” ที่หมายถึงพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น ที่ใช้ในการอ้างอิงข้อมูลที่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า “บาลี” ที่หมายถึงพระไตรปิฎกนี้ บางครั้งจะเห็นเป็นรูปศัพท์ว่า “พระบาลี” มุ่งหมายถึงพระพุทธธพจน์ หรือชั้นแห่งคำสอนปฐมภูมิที่หมายถึงพระไตรปิฎก

คำว่า “บาลี” หรือ พระบาลี นี้จะปรากฏในเมื่อมีการเปรียบเทียบคัมภีร์ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิง ซึ่งจะเรียงลำดับของคำสอนที่เป็นคัมภีร์ดังนี้คือ

๑) พระบาลี หมายถึง พระไตรปิฎก

๒) อรรถกถา หมายถึงคัมภีร์หรือคำอธิบายความในพระไตรปิฎก

๓) ฎีกา คัมภีร์ชั้นอธิบายความในอรรถกถาอีกทอดหนึ่ง

๔) อนุฎีกา คัมภีร์ชั้นอธิบายความในฎีกาอีกทอดหนึ่ง

๕) โยชนา คือ คัมภีร์ที่อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ในประโยคของภาษาช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

๖) คัณฐี คัมภีร์แปลบาลี แปลศัพท์ ไม่ได้มุ่งอธิบายความ


๒. บาลี ที่หมายถึงภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า อันประกอบด้วย

– ไวยากรณ์ เช่น นาม, อัพพยศัพท์, สมาส, ตัทธิต, อาขยาต, กิตก์…


***เรียนบาลี เพื่อให้เข้าถึงพระไตรปิฎก?

หมายความว่าอย่างไร?


– หากไปเข้าใจว่า “พระไตรปิฎก คือบาลี” จะอ่านเข้าใจพระไตรปิฎก ต้องไปเรียนภาษาบาลี แปลบาลีให้ได้ก่อน…น่าจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

– แท้จริงแล้ว พระไตรปิฎก จะอยู่ในรูปของภาษาบาลี (อักษรไทย) หรืออักษรอะไรก็แล้วแต่ เมื่อถอดความออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว คือแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว คนไทยก็อ่านเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นภาษาไทย ที่ถูกถอดความหมายออกแล้ว

เช่นเดียวกัน บาลีที่อยู่ในรูปของอักษรพม่า… ก็ต้องแปล คือถอดความของบาลีออกมาเป็นภาษาพม่า ที่คนพม่าทั่วไปอ่านแล้วก็เข้าใจได้….โดยไม่ต้องไปเรียนแปลบาลีก่อน…

—————-

มีคำกล่าวของพระอานนท์เถระ ที่ท่านผู้แต่งคัมภีร์มงคลทีปนี นำมาแสดงว่า –

“…นานานยปริปุณฺณํ ธมฺมตฺถเทสนาปฏิเวธคมฺภีรํ สพฺพสตฺเตหิ สกสกภาสานุรูปมุปลกฺขณียสภาวํ สตฺถุ วจนํ”


แปลความว่า –

“…พระดำรัสของพระศาสดา เต็มไปด้วยนัยะหลายหลาก ลึกโดยเหตุ-ผล-เทศนา-และปฏิเวธ มีสภาพที่สรรพสัตว์จะพึงเข้าไปกำหนดรู้ได้ตามสมควรแก่ภาษาของตน ๆ…”


หมายความว่า “พระดำรัสของพระพุทธเจ้านั้น เวไนยสัตว์จะกำหนดรู้ได้ ก็ด้วยภาษาของตน ๆ…” คือถอดเสียง (สทฺท) ออกมาด้วยอักษรของประเทศนั้น…คือใช้อักษรของประเทศนั้นเข้าไปแทนเสียง…ซึ่งเสียงหรือสัททะนั้นเป็นสัททบัญญัติที่ถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า…เช่น คนไทยจะรู้เรื่องราวคำสอน ก็ต้องถ่ายทอดสัททะนั้นออกมาเป็นอักษรไทย …เมื่อถ่ายทอดออกเป็นอักษรไทยแล้ว ก็ต้องถอดความแห่งศัพท์นั้นออกมาว่าหมายถึงอะไร ในรูปแบบภาษาไทย

เช่นพระดำรัสว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา      มโนเสฏฺฐา มโนมยา

มนสา เจ ปทุฏฺเฐน            ภาสตี วา กโรติ วา

ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ          จกฺกํว วหโต ปทํ.

(นี่เป็นบาลีอักษรไทย)

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นสภาพถึงก่อน(เป็นหัวหน้า) มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วแต่ใจ, หากว่า บุคคลมีใจอันโทสะประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม, ทำอยู่ก็ตาม (คิดอยู่ทางใจก็ตาม) ทุกข์ ย่อมติดตามผู้นั้นไป เพราะทุจริตทั้ง ๓ ทวารนั้น ดุจล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น”.

(นี่เป็นความหมายที่ถูกแปลออกมาแล้ว)


สัททะที่เปล่งออกมา เป็น “บาลี” หรือเป็น พระบาลี ที่หมายถึงพระดำรัส (พุทธพจน์) ที่เป็นปฐมภูมิ แม้แปลออกมาเป็นภาษาไทย ก็ถือว่าเป็นพระพุทธพจน์ที่เป็นปฐมภูมิอยู่ดี คือเป็น บาลี (พระบาลี) ซึ่งหมายถึงพระไตรปิฎก เมื่อไปเทียบเคียงกับ อรรถกถา,ฎีกา,อนุฎีกา…


———

สำหรับบาลีที่เป็นภาษา ที่ใช้บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นปฐมภูมิจริง ๆ ในรูปแบบของภาษา…แต่ด้วยข้อจำกัดของหลาย ๆ อย่าง เป็นไปไม่ได้ที่จะกะเกณฑ์ให้พุทธศาสนิกทุกคน ต้องเรียนและเข้าใจ แปลภาษาบาลีได้อย่างครบถ้วน… มีพุทธบริษัทไม่กี่เปอร์เซนต์ ที่กระทำได้… ไม่ว่าจะเป็นพุทธบริษัทประเทศใด ๆ


ถามว่า – การอ่านพระไตรปิฎก ที่เป็นภาษาไทย ถูกถ่ายทอด คือแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว จะได้ชื่อว่า เข้าถึงพระไตรปิฎกหรือไม่?

ก็ต้องตอบว่า – สามารถเข้าถึงพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคำสอนในระดับปฐมภูมิได้..ในระดับหนึ่ง ตามสมควร จะให้รู้ทั่วถึงเนื้อหาสาระในพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีการศึกษา คัมภีร์อื่น ๆ เข้าประกอบด้วย เช่น ศึกษาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉท ๑-๙ ที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้รจนาไว้ เป็นต้น…


“อย่าลืมว่า  บาลี หรือ พระบาลี นั้นคือพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักฐานอ้างอิงที่ควรยึดถือเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับ อรรถกถา, ฎีกา อนุฎีกา…แม้พระไตรปิฎกนั้น จะถูกถอดความออกมาเป็นอักษรไทย ภาษาไทย ที่คนไทย อ่านแล้วเข้าใจความหมายได้ ก็ต้องถือว่า นั่นคือ บาลี พระบาลี พระไตรปิฎก”  


จุดประสงค์อัเป็นอันติมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือการการเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ คือการปฏิบัติให้ได้บรรลุมรรค-ผล-นิพพาน จัดได้ว่าเป็นความเข้าถึงพระไตรปิฎก เข้าถึงพระพุทธพจน์อย่างแท้จริง.

--------------------------

–นิติเมธี–

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

—————

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.