สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

ทําไมจึงไม่กำหนดโลกุตรธรรมเป็นไตรลักษณ์

   ถาม ทราบว่าการกำหนดวิปัสสนานั้น ท่านให้กำหนดสังขารธรรมโดยเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ก็ทำไมจึงกำหนดแต่สังขารที่เป็นโลกียะเท่านั้น โลกุตรจิตก็เป็นสังขารธรรมเหมือนกัน ทำไมท่านจึงไม่สอนให้กำหนดด้วย

   ตอบ การกำหนดสังขารธรรม คือรูปนามที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยนั้น ท่านให้กำหนดเฉพาะสังขารธรรมที่เป็นโลกียะเท่านั้น คือโลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ส่วนโลกุตตรจิต ๘ เจตสิก ๓๖ ซึ่งก็เป็นสังขารธรรมเหมือนกัน เพราะเกิด แต่เหตุปัจจัยเหมือนกัน ท่านมิได้ให้กำหนดทั้งที่โลกุตรธรรมที่มีสภาพเกิดดับ มีลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เหมือนกับโลกียธรรมที่กล่าวมา ที่เป็นเช่นนี้ขอให้ผู้ศึกษาย้อนกลับไปนึกถึงอริยสัจ ๔ คือทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ และมรรคสัจ ทุกขสัจนั้นเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ซึ่งก็ได้แก่ โลกียธรรมทั้งหมด เว้นเฉพาะตัวตัณหา คือโลภะเจตสิก ซึ่งท่านจัดไว้เป็นสมุทัยสัจ คือตัวเหตุให้เกิดทุกข์ แต่เวลากำหนดรู้นั้น ตัณหาที่เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้เช่นเดียวกับทุกขสัจเหมือนกัน เพราะในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีการสอนให้กำหนดจิต ๑๖ ประเภท ซึ่งใน ๑๖ ประเภทนั้นมีสอนให้กำหนดจิตที่มีราคะ คือจิตที่ประกอบด้วยโลภะไว้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่พูดถึงกิจโดยตรงแล้ว โลกียธรรมทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่โลภะเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ทั้งสิ้น เพราะ  โลกียธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีตัณหาเป็นเหตุให้เกิด เมื่อจะละตัณหาจึงต้องกำหนดทุกขสัจรวมทั้งรู้จักตัวตัณหาเองด้วย เพราะตัณหาเก่าก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหาใหม่ได้อีก สรุปว่าที่ให้กำหนดสังขารธรรมที่เป็นโลกียะ เพราะโลกียธรรมเหล่านั้นมีตัณหาเป็นเหตุให้เกิดนั่นเอง ส่วนโลกุตรจิตนั้นเกิดขึ้นจากวิชชา คือญาณปัญญาที่เข้าไปรู้แจ้งพระนิพพาน มิได้เกิดจากอวิชชาความไม่รู้ หรือมิได้เกิดจากตัณหา เพราะฉะนั้นแม้โลกุตรถธรรมจะเป็นสังขารธรรมเหมือนโลกียธรรม แต่ก็ไม่ใช่ธรรมที่ควรกำหนดรู้ มีแต่เป็น ธรรมที่ควรเจริญให้เกิดขึ้น เพราะองค์มรรคทั้ง ๘ นั้นก็รวมอยู่ในโลกุตรธรรมด้วย คือ เกิดพร้อมกับโลกุตรธรรม คือโลกุตรจิตและเจตสิก ส่วนนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรมจัดเป็นนิโรธสัจ เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้งอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้แหละ โลกุตรธรรมทั้งที่เป็นสังขารและวิสังขารจึงไม่ใช่ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ในเวลาเจริญวิปัสสนา(เหตุผลทำไมจึงไม่กำหนดโลกุตรธรรมเป็นไตรลักษณ์จากคัมถีร์นิสสยะอักษรปัลลวะ)

-----------------

เสริม

- ปุถุชนผู้ไม่เคยเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุ มรรค - ผล - นิพพาน ย่อมไม่อาจนำสิ่งที่ตนไม่เคยบรรลุมาพิจารณาโดยฐานที่เป็นอารมณ์ได้  คือจะกระทำมรรค - ผล ให้เป็นอารมณ์ไม่ได้...

- หรือแม้ปุถุชนผู้ไม่เคยได้รูปฌาน อรูปฌาน จะนำองค์ฌานต่าง ๆ มี วิตกเป็นต้นในฌานที่ตนไม่เคยได้มาพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ก็ไม่ได้เช่นกัน...ต้องเป็นฌานลาภีบุคคลที่เคยได้ฌานนั้น ๆ เท่านั้น จึงจะนำองค์ฌานของฌานนั้น ๆ มาพิจารณาได้

- แม้บรรลุมรรค-ผลเบื้องต่ำ ๓ แล้ว ก็จะไม่นำมรรค - ผลที่ตนได้มาพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ เพราะเป็นวิวัฏฏะธรรม (ธรรมที่ไม่เป็นไปในวัฏฏะ) พิจารณาโดยความเป็นโทษ-ทุกข์ในวัฏฏะ ไม่ได้...   

- มรรคจิต ผลจิต เจตสิกที่ประกอบ (เว้นองค์มรรค ๘) อยู่ในฐานที่เป็นสัจจะวิมุตติ พ้นจากความเป็นสัจจะ

  

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.