สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
จูฬสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะผู้ทรนงที่เป๊นสาวกของนิครนถบุตร สูตรเล็ก
เนื้อความโดยย่อ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้น มีนิครนถ์คนหนึ่งชื่อสัจจกะเป็นสาวกของนิครนถบุตร อาศัยอยู่ในกรุงเวสาลี ถือตัวว่าเป็น ปราชญ์ ได้ประกาศ ณ ที่ชุมชนว่า “สมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น คณาจารย์หรือเป็นครูของหมู่คณะ หรือแม้แต่ผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้ปราศ จากกิเลสทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบก็ตาม เมื่อมาโต้วาทะกับเราแล้ว ไม่ประหม่า ตัวสั่นหวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลโทรมออกมาจากรักแร้ เรายังไม่เห็นเลยสักคนเดียว อย่าว่าแต่คนเลย แม้สิ่งไร้วิญญาณเช่นเสา ก็ยังหวั่นไหวต่อวาทะของเรา”
เช้าวันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์เห็นท่านพระอัสสชิ (รูปหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์) กำลัง เดินเข้าไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี จึงเข้าไปหา ขอสนทนาด้วย และได้ถามพระเถระว่า พระสมณโคดมแนะนำสาวกว่าอย่างไร คำสอนส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องอะไร
พระเถระตอบว่า ทรงสอนว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่อัตตา พระผู้มีพระภาคตรัสสอนเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่
สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า พระสมณโคดมเห็นผิด เห็นชั่ว ถ้าตนมีโอกาสเข้าเฝ้า จะโต้ ทำให้ถ่ายถอนความเห็นผิด เห็นชั่วนี้ให้ได้
จากนั้น สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพวกเจ้าลิจฉวีจำนวน ๕๐๐ องค์ที่กำลังประชุมปรึกษาข้อราชกิจอยู่ในหอประชุม ทูลเล่าเรื่องที่ตนได้กล่าวกับท่านพระอัสสชิให้ทรงทราบ และทูลเชิญให้เสด็จไปฟังการโต้วาทะระหว่างตนกับพระสมณโคดม ที่ป่ามหาวัน ในวันนั้น โดยกล่าวอวดตนว่า
“ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันตามคำที่พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่มี ชื่อเสียงยืนยันแล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากพระสมณโคดมไปมาด้วยคำต่อคำ ให้เป็นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังจับแกะขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมาฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนงานในโรงสุราซึ่งกำลังวางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึกแล้วจับที่มุมลากฟาดไปฟาดมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดพระสมณโคดมด้วย คำต่อคำ ให้เป็นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงจับถ้วยที่หูแล้วสลัดฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงานพระสมณโคดม เหมือนนักกีฬาซักป่าน ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัยล่วง ๖๐ ปี ลงสู่สระโบกขรณีที่มีน้ำลึกแล้วเล่นกีฬาซักป่านฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับ พระสมณโคดม”
บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า “พระสมณโคดมจักกล่าวแย้ง ถ้อยคำของท่านสัจจกะได้อย่างไร ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับจะกล่าวแย้งถ้อยคำของพระ สมณโคดม”
บางพวกกล่าวว่า “ท่านสัจจกะเป็นใคร จึงกล่าวแย้งพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจะทรงกล่าวแย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะ"
สัจจกนิครนถ์ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังป่ามหาวัน โดยมีพวกเจ้าลิจฉวีจำนวน ๕๐๐ องค์เสด็จตามไปเป็นขบวน
เมื่อไปถึงกูฏาคารศาลาป่ามหาวันสัจจกนิครนถ์เห็นภิกษุทั้งหลายกำลังเดินจงกรมอยู่กลางแจ้ง จึงเข้าไปถามถึงที่ประทับของพระผู้มีพระภาค แล้วเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ คือภายใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง หลังจากได้สนทนาปราศรัยกันพอสมควรแล้ว สัจจกนิครนถ์ทูลขออนุญาตถามปัญหา เมื่อทรงอนุญาต ก็ได้ทูลถามอย่างที่ถามท่านพระอัสสชิ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบอย่างที่ท่านพระอัสสชิตอบทุกประการ
สัจจกนิครนถ์ขออนุญาตแสดงอุปมาถวาย เมื่อทรงอนุญาต จึงกราบทูลว่า
“ท่านพระโคดม พืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์ไม้เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน อยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ หรือการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลต้องทำด้วยกำลัง การงานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด บุรุษบุคคลนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีรูปเป็นอัตตา มีเวทนาเป็นอัตตา มีสัญญาเป็นอัตตา มีสังขารเป็นอัตตา มีวิญญาณเป็นอัตตา ต้องดำรงอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงจะประสบบุญหรือบาปได้ "
ทรงย้อนถามว่า “ท่านกล่าวว่า รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรา ใช่หรือไม่”
ทูลตอบว่า “ใช่ ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง และหมู่ชนเป็นอันมาก ก็กล่าวอย่างนั้น มิใช่หรือ"
ทรงย้อนถามว่า “อัคคิเวสสนะ หมู่ชนเป็นอันมากจักช่วยอะไรท่านได้ เชิญท่าน ยืนยันคำของท่านเถิด”
ทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวว่า "รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรา"
ทรงย้อนถามว่า “ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แล ท่านเห็นควร อย่างไร ท่านควรตอบอย่างนั้น ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทริบุตรแห่งแคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า รีบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มิใช่หรือ"
ทูลตอบว่า “ใช่ ท่านพระโคดม แม้แต่คณะผู้ปกครองเหล่านี้ คือ เจ้าวัชชี เจ้ามัลละก็มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ทำไมพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธจะไม่มีอำนาจเล่า พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องมีอำนาจแน่ และควรจะมีอำนาจ"
ทรงย้อนถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า “รูปเป็นอัตตาของเรา นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ตรัสถาม ๒ ครั้ง แต่สัจจกนิครนถ์ก็ยังนั่งนิ่ง จึงตรัสว่า “บัดนี้ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถาม ปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง ในที่นั้นนั่นเอง”
ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี(คือท้าวสักกเทวราชแปรงร่าง ม. มู .อ ๒/๓๕๗/๑๘๕)ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศเบื้องบนสัจจกนิครนถ์ พระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น และ ทันทีที่สัจจกนิครนถ์เห็นก็ตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า จึงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้"
หลักไตรลักษณ์
ตรัสถาม ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า "รูปเป็นอัตตาของเรา ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"
ทูลตอบ ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคําก่อนหรือคําก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่าน กล่าวอย่างนี้ว่า “เวทนาเป็นอัตตาของเรา... ทูลตอบ ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านจงมนสิการเถิด ... ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่าน กล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของเรา ... ทูลตอบ ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านจงมนสิการเถิด ... ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่าน กล่าวอย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา ...
ทูลตอบ ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น ท่าน พระโคดม
ตรัสถาม ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าว
อย่างนี้ว่า วิญญาณเป็นอัตตาของเรา ท่านมีอำนาจในวิญญาณนั้นว่า วิญญาณของเราจง เป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ
ทูลตอบ ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านจงมนสิการเกิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ทูลตอบ ไม่เที่ยง ท่านพระโคดม
ตรัสถาม สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข
ทูลตอบ เป็นทุกข์ ท่าน พระโคดม
ตรัสถาม สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
ทูลตอบ ข้อนั้น ไม่ควรเลย ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา... สัญญา ... สังขารทั้งหลาย วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ทูลตอบ ไม่เที่ยง ท่านพระโคดม
ตรัสถาม สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
ทูลตอบ เป็นทุกข์ ท่าน พระโคดม
ตรัสถาม สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” ทูลตอบ ข้อนั้น ไม่ควรเลย ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ผู้นั้น กำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปแล้วอยู่ มีบ้างหรือ
ทูลตอบ ข้อนี้มีไม่ได้เลย ท่านพระโคดม
ตรัสถาม ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์ เข้าถึง ทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา มิใช่หรือ
ทูลตอบ ข้อนี้ต้องเป็นดังนั้น ท่านพระโคดม
ตรัสเปรียบเทียบว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวหาแก่นไม้ในป่า เห็นต้น กล้วยใหญ่ ลำต้นตรง กำลังรุ่น ยังไม่ทันตกเครือ เขาเข้าไปตัดต้นกล้วยนั้นให้ล้มลง แล้วตัดยอดลิดใบออก เขาพยายามหาแก่นก็ผิดหวัง เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ของกล้วย ข้อนี้ฉันใด เราพยายามซักถามท่านให้กล่าวแก้วาทะของตัวเอง ท่านก็ว่างเปล่า ยอมแพ้ไปเองฉันนั้น
จากนั้นได้ตรัสถึงคำประกาศอวดตัวของสัจจกนิครนถ์ในท่ามกลางมหาชนชาว กรุงเวสาลีที่ปรากฏข้างต้นและตรัสเพิ่มเติมว่า “บัดนี้ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาดหยด จากหน้าผากลงมาตามผ้าห่มแล้วตกลงสู่พื้น ส่วนเหงื่อของเราไม่มีเลย" สัจจกนิครนถ์ นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า หงอยเหงา ไม่มีปัญญาจะคิดโต้เถียงต่อไปอีก
เจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งพระนามว่าทุมมุขะ ตรัสเปรียบเทียบขึ้นว่า พระผู้มีพระภาค ทรงหักทิฏฐิของสัจจกนิครนถ์ เหมือนพวกเด็กจับปูในสระโบกขรณีมาหักก้ามจนไม่สามารถกลับลงสระได้อีกแล้ว
สัจจกนิครนถ์หันไปกล่าวตำหนิเจ้าลิจฉวีทุมมุขะว่า “ไม่ใช่เรื่องของท่าน” แล้ว ทูลถาม เพื่อขอความรู้ว่า “สาวกของพระองค์ข้ามพ้นความสงสัยได้ด้วยเหตุใด”
ตรัส ตอบว่า ด้วยความเห็นตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ทุกชนิดไม่เป็นของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
สัจจกนิครนถ์ทูลถามต่อไปว่า “ภิกษุจะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยเหตุใด"
ตรัสตอบว่า ด้วยการไม่ยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
การสนทนาจบลงด้วยสัจจกนิครนถ้ยอมรับสารภาพว่า ตนเองเป็นคนคอยกำจัดคุณของผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา เข้าใจว่า “ตนสามารถรุกรานพระดำรัสของ พระสมณโคดมได้ด้วยถ้อยคำของตน” แต่ในที่สุดก็เอาตัวไม่รอด อันบุรุษที่ปะทะกับช้างซับมันก็ดี ที่พบกองไฟกำลังลุกโชนก็ดี ที่พบงูพิษมีพิษร้ายก็ดี ก็มีทางเอาตัวรอดได้ แต่ผู้ใดก็ตาม เมื่อมาพบพระพุทธองค์เข้า ไม่มีใครเอาตัวรอดไปได้เลย แล้วทูลขอนิมนต์ พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารในอารามของตนในวันรุ่งขึ้น ทรงรับ นิมนต์โดยดุษณีภาพ
ในวันรุ่งขึ้น สัจจกนิครนถ์ได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ สํารับ ที่เจ้าลิจฉวี ๕๐๐ องค์จัดมาให้สัจจกนิครนถ์ เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จ สัจจกนิครนถ์ทูลขอให้ทรงอวยพรแก่เจ้าภาพ จึงทรงอวยพรว่า “อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับเรา จักมีแก่ท่าน"
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ