อนุสัย เกิดเวลาไหน และอย่างไร?


      วิปัลลาสต่าง ๆ มีนิจจสัญญาวิปัลลาสเป็นต้น ที่ "อนิจจานุปัสสนา" ได้ประหาณไปแล้วนั้นเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ? ตอบว่าไม่ใช่เป็นกาลใดๆ ทั้งสิ้นเป็นกาลวิมุตติกิเลส (กาลวิมุตติเทียม) คือ อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานโดยความยังไม่ปรากฎเป็นสภาวปรมัตถ์

      จริงอยู่ ในบรรดากิเลสต่างๆ เหล่านั้น กิเลสที่เป็นอดีตก็ได้ดับไปแล้วในอนาคตก็ยังไม่เกิดเพียงแต่จักเกิดขึ้นเท่านั้น สำหรับปัจจุบันกิเลสนั้นเล่าก็ไม่มีเพราะในขณะนั้นมีแต่มหากุศลจิต คือ อนิจจานุปัสสนาเกิดอยู่ ดังนั้นกิเลสที่ได้ประหาณไปแล้วนั้นจะเรียกว่าเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันแต่อย่างใดๆ ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น จึงเป็นกาลวิมุตติแห่งกิเลส คือ อนุสัยนั้นเอง 

      ในบรรดากิเลสต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในกาล ๓ และพ้นจากกาล ๓ นั้น อนาคตกิเลสกับอนุสัยกิเลสนี้มีสภาพคล้ายๆ กันโดยความที่ยังไม่ปรากฎเป็นสภาวปรมัตถ์ แต่เมื่อว่าโดยการเกิดขึ้นแล้วก็ต่างกันคือ กิเลสที่จักเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เป็นอนาคตกิเลส ดังเช่นในขณะที่มีความยินดีพอใจอยู่นั้นในขณะนั้นกิเลสอื่น ๆ นอกจากโลภะ โมหะนี้เป็นอนาคตกิเลส ขณะที่มีความกลุ้มใจเสียใจโกรธเคืองอยู่นั้น ในขณะนั้นกิเลสอื่นที่นอกจากโทสะ โมหะ นี้เป็นอนาคตกิเลส ขณะที่ไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใสคงมีแต่ความลังเล สงสัยในสิ่งที่ควรเชื่อ มีคุณของพระรัตนตรัยเป็นต้นอยู่นั้น ในขณะนั้นกิเลสอื่นๆ ที่นอกจากโมหวิจิกิจฉานี้เป็นอนาคตกิเลสเพราะว่าจักเกิดต่อไปอย่างแน่นอน กิเลสที่จักเกิดไม่แน่นอนเป็นอนุสัยกิเลส และอนุสัยกิเลสนี้เมื่อว่าโดยธรรมาธิษฐานแล้วมีอยู่อย่างเดียว คือจักเกิดไม่แน่นอน แต่เมื่อว่าโดยบุคคลอันเป็นที่นอนเนื่องอยู่แห่งอนุสัยกิเลสนี้แล้วก็มีอยู่ด้วยกัน ๔ จำพวก คือ :

๑) พวกที่อนุสัยกิเลสจักเกิดโดยแน่นอน

๒) พวกที่อนุสัยกิเลสจักเกิดไม่แน่นอน

๓) พวกที่อนุสัยกิเลสจักไม่เกิดแน่นอน

๔) พวกที่อนุสัยกิเลสจักไม่เกิดแต่ก็ไม่แน่นอน

      ในบรรดา ๔ อย่างนี้ผู้ที่กำลังบริจาคทาน รักษาศีล เจริญกาวนา นอนหลับอยู่ อนุสัยกิเลสของบุคคลเหล่านี้จักเกิดโดยแน่นอน ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยติเหตุกำลังปฏิบัติวิปัสสนาอยู่อย่างเคร่งครัดพร้อมกับอธิษฐานใจว่า จักปฏิบัติจนกระทั่งได้มรรคผล อนุสัยกิเลสของบุคคลเหล่านี้บางอย่างหรือทั้งหมดจักเกิดไม่แน่นอน ผู้ที่ปฏิบัติได้สำเร็จมรรคผลแล้วอนุสัยกิเลสของบุคคลเหล่านี้บางอย่างหรือทั้งหมดจักไม่เกิดแน่นอน แล้วแต่มรรคผลที่ตนได้ และโทสะอนุสัยกิเลสของพรหมโสดาบัน สกทาคามีก็จะไม่เกิดแน่นอนเช่นกันผู้ที่ปฏิสนธิด้วยติเหตุ ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเคร่งครัดพร้อมกับอธิษฐานใจว่า จักปฏิบัติจนกระทั่งได้มรรคผล อนุสัยกิเลสของบุคคลเหล่านี้บางอย่างหรือทั้งหมดจักไม่เกิดแต่ไม่แน่นอน และโทสะอนุสัยกิเลสของพรหมปุถุชนที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนาอยู่ก็จักไม่เกิดแต่ไม่แน่นอน ดังนั้นเมื่อจะสรุปแล้วอนุสัยกิเลสนี้ ถ้าไม่ยกบุคคลขึ้นมากล่าวคงกล่าวเฉพาะแต่สภาพความเป็นจริงตามธรรมาธิษฐานแล้ว เป็นอนาคตกิเลสไม่ได้เลย คงเป็นแต่กาลวิมุตติกิเลสเท่านั้น แต่ถ้ายกบุคคลขึ้นมากล่าวอนุสัยกิเลสนี้จัดเป็นอนาคตกิเลสก็มี ไม่เป็นอนาคตกิเลสก็มี การนอนเนื่องของ อนุสัยกิเลส และธรรมที่ประหาณการนอนเนื่องของ อนุสัยกิเลส นี้มีอยู่ ๒ ประการคือ

      ๑. กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในการเกิดขึ้นสืบต่อแห่งรูปนาม ชื่อว่าสันตานานุสยกิเลส

      ๒. กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ที่เป็นปียรูป สาตรูป อปิยรูป อสาตรูป ชื่อว่า อารัมมณานุสยกิเลส

      ใน ๒ ประการนี้ มรรคทั้ง ๔ ทำการประหาณสันตานานุสยกิเลส วิปัสสนาญาณที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ทำการประหาณอารัมมณานุสยกิเลส ฉะนั้นอนุสัยกิเลสที่อนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ได้ประหาณไปนั้นเป็นอารัมมณานุสยกิเลส ส่วนสันตานานุสยกิเลสนั้นเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด แม้ว่าผู้นั้นจะได้เคยปฏิบัติวิปัสสนามาแล้วหลายครั้งหลายหนหรือกำลังปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือผู้ที่เป็นฌานลาภี อภิญญาลาภี ทำฤทธิ์เดชต่างๆ นานาได้ก็ตาม หรือจะได้ไปบังเกิดเป็นพรหมติดต่อกันหลายภพหลายชาติก็ตาม สันตานานุสยกิเลสก็ยังคงมีอยู่เต็มที่เป็นปกติ โดยอาการที่ยังมิได้ถูกประหาณลงเลยแม้แต่เล็กน้อย สำหรับอารัมมณานุสยกิเลสนั้น เมื่อวิปัสสนาญาณของพระโยคี ได้เข้าถึงขั้นภังคญาณอารัมมณานุสยกิเลสก็ถูกประหาณลงทันทีตั้งแต่ญาณนี้เรื่อยๆ ไป ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระวิภังคบาลีว่า :

      สตฺตานุสยา กามราคานุสโย ปฎิฆานุสโย มานานุสโย ทิฏฺฐานุสโย วิจิกิจฺฉานุสโย ภวราคานุสโย อวิชฺชานุสโย ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ราคานุสโย อนุเสติ, : โลเก อปฺปิยรูปํ อสาตรูปํ เอตฺถ สตฺตาน ปฏิฆานุสโย อนุเสติ, อิติ อิเมสุ ทฺวีสุ ธมฺเมสุ อวิชฺชา อนุปติตา, ตเทกฏฺโฐ มาโน จ ทิฏฺฐิ จ วิจิกิจฺฉา จ ทฏฺฐพฺพา ฯ

      แปลความว่า อนุสัยกิเลสมี ๗ อย่าง คือธรรมชาติที่ยินดีพอใจรักใคร่ในกามคุณอารมณ์ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานธรรมชาติที่คับแค้นใจในอารมณ์นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ธรรมชาติที่ถือตัวนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ธรรมชาติที่เห็นผิดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ธรรมชาติที่สงสัยในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูอาจารย์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ธรรมชาติที่ยินดีพอใจในภพชาตินอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ธรรมชาติที่หลงอยู่ในเรื่องเห็นผิดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน (นี้เป็นสันตานานุสยกิเลส) ปียรูปสาตรูป สภาพที่น่ารักน่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลกคือสังขารธรรมรูปนามภายในตน กามราคะและภวราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูป สาตรูป สภาพที่น่ารักน่ายินดีเหล่านี้, อปียรูป อสาตรูป สภาพที่ไม่น่ารักไม่น่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลกคือสังขารธรรมรูปนามภายในตน ปฏิฆานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอปียรูป อสาตรูป สภาพที่ไม่รักไม่น่ายินดีเหล่านี้

      เมื่อเป็นดังนี้ อวิชชานุสัยเล่า ก็ย่อมนอนเนื่องอยู่ในราคะและปฎิฆะ ทั้ง ๒ นี้ด้วย ส่วน มานานุสัย ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัยเหล่านี้ ก็ย่อมตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกันกับจิตที่มีอวิชชา (นี้เป็นอารัมมณานุสยกิเลส) นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบดังนี้ 

      "สันตานานุสัยกิเลส" กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานโดยอาการที่ยังไม่ปรากฏเป็นสภาวปรมัตถ์ คือยังไม่เข้าถึงขณะทั้ง ๓ (เกิด ตั้ง ดับ) นั้นได้ชื่อว่า "สันตานานุสยกิเลส" ดังนั้น ผู้ที่ยังมิได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสโดยสมุจเฉทนั้นได้ ชื่อว่าเป็นปุถุชน และปุถุชนคนเหล่านี้แม้ว่าจะยังเป็นเด็กอยู่ในครรภ์มารดาก็ตาม เป็นเด็กเล็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่แก่เฒ่าลงไปก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ บรรพชิตก็ตาม ได้ฌานอภิญญา เหาะดำดินไปได้ก็ตาม แม้ที่สุดจะได้บังเกิดเป็นพรหมอยู่หลายภพหลายชาติก็ตาม ปุถุชนคนเหล่านี้ก็ยังเป็นผู้ที่มีอนุสัยกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามีแล้วก็ตาม อนุสัยกิเลสอีก ๕ อย่างก็ยังเหลืออยู่ ยังหาได้ประหาณให้หมดไปไม่ คงประหาณได้แต่ทิฏฐิ วิจิกิจฉานุสัย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ครั้นเป็นพระอนาคามี ก็ประหาณเพิ่มได้อีก ๑ คือ ปฏิฆานุสัย (และกามราคานุสัย) ส่วน ภวราคะ มานะ อวิชชานุสัย ทั้ง ๓ ก็ยังมีอยู่หาได้หมดไปไม่

      ฉะนั้นบุคคลทั้ง ๔ จำพวกนี้จึงยังนับว่ามีอนุสัยกิเลสอยู่ อุปมาเหมือนกับคนไข้ที่ยังไม่หายไข้ มีผู้มาถามว่าท่านสบายดีหรือ ? แม้ว่าในขณะนั้นจะมิได้เป็นไข้แต่ก็ตอบว่าเป็นไข้อยู่ โดยมาคำนึงนึกถึงไข้ที่เคยเป็นมาแล้วและจักเป็นอีกในวันหน้า หรืออุปมาเหมือนกับผู้ที่ยังมิได้มีการเว้นขาดจากการรับประทานเนื้อ เมื่อถูกถามว่าท่านรับประทานเนื้อหรือเปล่า ? ถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะมิได้รับประทานอยู่ก็จริงแต่ก็ตอบว่าข้าพเจ้ารับประทานอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะว่ามาคำนึงนึกถึงที่ได้เคยรับประทานมาและจักรับประทานอีกในวันหน้า สมดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในอนุสยยมกว่า :

      ยสฺส กามราคานุสโย อุปฺปชฺชติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อุปฺปชฺชตีติ ?

      กามราคานุสัย เกิดอยู่แก่บุคคลใด, ปฏิฆานุสัยก็เกิดอยู่ แก่บุคคลนั้น ใช่ไหม ? 

      อามนฺตา ใช่  

      การที่ทรงวิสัชนาดังนี้ก็เพราะทรงหมายถึงความที่ยังเป็นอนุสัยอยู่ โดยอาการที่เคยเกิดและจักเกิดดังที่ได้ยกอุปมามาเปรียบเทียบให้เห็นแล้วทั้ง ๒ ข้อนั้น แต่ถ้าจะถามว่า

      ยสฺส กามราโค อุปฺปชฺชติ ตสฺส ปฏิโฆ อุปฺปชฺชตีติ ?

      กามราคะกำลังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆะก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้นใช่ไหม ?

      วิสัชนาว่า นุปฺปชฺชติ ไม่ใช่กำลังเกิด

      อนึ่ง อนุสัยกิเลสทั้ง ๗ ประการนี้เมื่อปรากฎขึ้น โดยความเป็นสภาวปรมัตถ์ คือเข้าถึงปริยุฏฐานแล้วนั้นเกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี เกิดไม่พร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี แต่เมื่อยังเป็นอนุสัยอยู่นั้น (ยังไม่ประกอบกับจิต) กล่าวได้แต่เพียงว่า "นอนเนื่องอยู่" เมื่อยังละไม่ได้ด้วยมรรคทั้ง ๔ ก็ต้องกล่าวว่า "มีอยู่" แต่จะมีอยู่โดยประการใดนั้น ไม่อาจกล่าวได้ (อัพโพหาริก) อุปมาเหมือนกับเมล็ดมะม่วง เมื่อยังไม่นำไปปลูก บุคคลจะผ่าดูว่า หน่อ ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก...มีอยู่ในเมล็ดมะม่วงหรือไม่ เมื่อผ่าดูแล้วก็ไม่เห็นมีหน่อ ลำต้น กิ่ง.....แต่อย่างใดเลย แต่พอครั้งเอาเมล็ดมะม่วงไปปลูก...เมื่อได้เหตุปัจจัยพอเหมาะ เมล็ดมะม่วงนั้นก็แตกหน่อ เป็นลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก และผลในเวลาต่อมา...หน่อ ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล ของมะม่วง ตอนผ่าดู ไม่เห็น ไม่ปรากฎ ฉันใด, อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ที่ยังละไม่ได้ ก็ไม่อาจจะเห็นได้ ฉันนั้น...แต่เมื่ออนุสัยนั้น ได้เหตุปัจจัย (อโยนิโสมนสิการ) ตรงโวฏฐัพพนในปัญจทวาร, และมโนทวาราวัชชนในมโนทวารวิถี (ด้วยอำนาจปกตูปนิสสยปัจจัย) ก็จะปรากฎในจิตทันที ขณะที่จิตนั้นเป็นอกุศลชวนะ คือเข้าถึงความเป็นอุปปาทักขณะพร้อมกับการเกิดขึ้นของอกุศลจิต เหมือนกับหน่อหรือลำต้นที่แตกออกมาจากเมล็ดมะม่วง ปรากฏให้บุคคลได้เห็น, หน่อหรือลำต้นมะม่วง ไม่ใช่เมล็ดมะม่วง เมล็ดมะม่วงก็ไม่ใช่หน่อหรือต้น แต่ทั้งหน่อหรือลำต้น เกิดมาจากเมล็ดมะม่วงที่เขาเอาไปฝังดินนั้น ฉันใด, อนุสัย ที่มองไม่เห็น แต่พอประกอบในอกุศลจิต ก็กล่าวได้ว่าเกิด หรือประกอบในอกุศลจิต ตอนที่ประกอบในอกุศลจิต เขาได้เปลี่ยนสถานะจากอนุสัยไปเป็นปริยุฏฐานะแล้ว ไม่ใช่อนุสัยเช่นเดิม,

คำว่า "ปริยุฏฐานะ" แปลว่า กลุ้มรุมจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง (อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ กิลิฏฺฐํ) เขาต้องประกอบกับจิตเท่านั้น จึงจะเรียกว่า "กลุ้มรุมจิต, และทำให้จิตเศร้าหมองได้" ถ้ายังไม่ประกอบกับจิต จะทำให้จิตเศร้าหมองไม่ได้ (ดู สงฺกิลิฏฺฐติก ในติกมาติกา, หรือดูจากพระดำรัสว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ....") ปริยุฏฐานกิเลส ปรากฎให้เห็นในปัญญาของบัณฑิตได้ และก็กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า อยู่ในจิตดวงใดบ้าง, ในบางครั้ง ท่านก็ยังเรียกว่า "อนุสัยประกอบอยู่ในโลภมูลจิตบ้าง,โทสมูลจิตบ้าง,โมหมูลจิตบ้าง" ทั้งนี้โดยอาศัยความสืบต่อขณะที่เป็นอนุสัยนั้นเอง มาเรียกชื่อว่าเป็นอนุสัยประกอบอยู่กับจิต, เหมือนกับการตอบคำถาม ที่มีผู้ถามว่า "พระพุทธเจ้าประสูติที่ใด, ผู้คนก็ตอบว่า "ที่ลุมพินีวัน" จริง ๆ แล้ว ตอนที่ประสูติกาลที่ลุมพินีวัน ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า, ยังเป็นปุถุชน เป็นพระโพธิสัตว์อยู่...แต่เมื่อเวลาผู้คนกล่าวถึงการประสูติของพระพุทธเจ้า ก็กล่าวว่าประสูติที่ลุมพินีวัน... เพราะอาศัยปัจจุบันสันตติ ย้อนสถานะที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ขณะปัจจุบัน ไปหาอดีตที่พระองค์ประสูติซึ่งยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า....       

     การนอนเนื่องอยู่ของอนุสัยทั้ง ๗ อย่าง ย่อมมีแก่บุคคลผู้ยังละอนุสัยไม่ได้เลย เหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงแสดงในอนุสยยมกว่า :

      ยสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อนุเสตีติ ?

      กามราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลนั้นใช่ไหม ? 

      อามนฺตา ใช่ 

(สรุปสั้น ๆ ว่า บุคคลที่ยังมีกามราคานุสัยอยู่ คือ ปุถุชน ๔ และ โสดาบัน, สกทาคามี ยังถือว่า ต้องมีปฏิฆานุสัยอยู่แน่ ๆ ท่านจึงตอบว่า "อามันตา") 

      ฉะนั้น การประหาณสันตานานุสัยกิเลสได้โดยเด็ดขาดนั้นก็มีแต่มรรคญาณอย่างเดียว สำหรับวิปัสสนาญาณนั้นคงประหาณได้ด้วยตทังคปหานเท่านั้น ส่วนฌานสามารถประหาณด้วยวิกขัมภนะคือด้วยการข่มไว้เป็นเวลานาน ๆ คือหลายวันหลายเดือนหลายปีหลายมหากัปอารัมมณานุสัยกิเลส การเกิดขึ้นของกิเลสโดยไม่สิ้นสุดในอารมณ์ที่ยังมิได้

มีการพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยวิปัสสนาญาณ มรรคญาณ กิเลสนี้ชื่อว่าอารัมมณานุสัยกิเลส ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานโอวาทแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า :- สุขาย ภิกฺขเว เวทนาย ราคานุสโย ปหาตพฺโพ ทุกฺขาย เวทนาย ปฏิฆานุสโย ปหาตพโพ, อทุกฺขมสุขาย เวทนาย อวิชฺชานุสโย ปหาตพุโพ ฯ (มาในเวทนา สังยุตตพระบาลี) 

     แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายควรละราคานุสัยในการเสวยสุข ควรละปฏิฆานุสัยในการเสวยทุกข์ ควรละอวิชชานุสัย ในการเสวย ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์

     พระโอวาทนี้ทรงมุ่งหมายถึง "อารัมมณานุสัยกิเลส" ทั้งพระอรรถกถาจารย์ก็ยังได้กล่าวไว้ว่า - อิมสฺมึ สุตฺเต อารมฺมณานุสโย กถิโต ในสูตรที่มี สุขาย ภิกุขเว เวทนาย เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอารัมมณานุสัยกิเลส แต่ก็หาได้ทรงชี้แจงถึงข้อปฏิบัติที่จะทำการละ "อารัมมณานุสัยกิเลส" นี้แต่ประการใด ไม่เพียงแต่ทรงเตือนให้ทำการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ เท่านั้น เพราะว่าถ้าภิกษุทั้งหลายมิได้ทำการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ แล้วก็ไม่มีทางอื่นใดที่จะทำการประหาณอารัมมณานุสัยกิเลสนี้ได้ ถ้าว่าได้ทำการปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อยู่โดยเคร่งครัดแล้ว ก็จะกล่าวได้ว่ามีการละกิเลสในการเสวยอารมณ์นั้นๆ ได้ ดังที่พระฎีกาจารย์ได้แสดงไว้ในอานาปานัสสติกรรมฐานแห่งวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า : อนิจฺจานุปสสนา ตาว ตทงฺคปฺปหานวเสน นิจฺจสญฺญํ ปริจฺจชติ ปริจฺจชนฺตี จ ตถา อปุปวตฺติยํ เย นิจฺจนฺติ ตณฺหาวเสน กิเลสา ตมมูลกา อภิสงฺขารา ตทุภยมูลกา จ วิปากา ขนฺธา อนาคเต อุปฺปชฺเชยฺยุํ เต สพฺเพ อปฺปวตฺติกรณวเสน ปริจฺจชติ ตถา ทุกฺขานุปสฺสนาทโย เตนาห วิปสฺสนา หิ ตทงฺควเสน สทฺธึ ขนฺธาภิสงฺขาเรหิ กิเลเส ปริจฺจชตีติ ฯ

     แปลความว่า อนิจจานุปัสสนาที่แสดงในอันดับแรกนี้ย่อมสละละทิ้งนิจสัญญาด้ายอำนาจแห่งตทังคประหาณ เมื่ออนิจจานุปัสสนาได้สละละทิ้งนิจจสัญญาได้แล้ว ถ้าหากว่ามิได้มีการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงโดยอาการดังที่กล่าวนี้ กิเลสต่าง ๆ อาจเกิดได้ในภายหลังด้วยอำนาจแห่งความยึดถือว่ารูปนามนี้เที่ยง และอภิสังขารคือ อกุศลโลกียกุศลกรรมที่มีกิเลสเป็นมูลก็ดี วิบากนามขันธ์อันเป็นตัวภพใหม่ที่มีกรรมและกิเลสทั้ง ๒ นี้เป็นมูลก็ดีอาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง อนิจจานุปัสสนาที่สละละทิ้งนิจจสัญญาได้นั้น ย่อมสละละทิ้งกิเลสกรรมวิบาก แม้เหล่านี้ทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้นได้พร้อมกันอีกด้วย ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา ที่สละละทิ้งสุขสัญญา อัตตสัญญาเป็นต้นได้นั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้นพระมหาพุทธโฆษาจารย์จึงได้แสดงไ ว้ในวิสุทธิมรรคว่า วิปัสสนาญาณย่อมสละกิเลสพร้อมด้วยวิบากนามขันธ์และอภิสังขารด้วยอำนาจตทังคปหาน

--------------//---------------


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.