เจ้ากรรมนายเวร (๒)

--------------------

รายละเอียดที่ควรรู้ของ “กรรม” (ต่อ)

ส่วนที่ ๒ หน้าที่ของกรรม

ส่วนนี้ท่านแสดงไว้ดังนี้ -

๑ กรรมบางอย่างทำหน้าที่นำไปเกิด 

เช่น -

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดเป็นมนุษย์

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดเป็นเทพ

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดเป็นพรหม

ฯลฯ

แม้ที่เกิดเป็นมนุษย์นั่นเองก็ยังแยกย่อยไปอีก -

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดเป็นชาย

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดเป็นหญิง 

ทำกรรมเช่นนี้ จึงรูปสวย

ทำกรรมเช่นนี้ จึงรูปทราม

ทำกรรมเช่นนี้ จึงมีสติปัญญาดี

ทำกรรมเช่นนี้ จึงมีสติปัญญาทราม

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง

ทำกรรมเช่นนี้ จึงเกิดในครอบครัวที่ขัดสน

ฯลฯ

กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “ชนกกรรม” (ชะ-นะ-กะ-กำ) แปลว่า “กรรมนำไปเกิด” หรือ “กรรมแต่งให้เกิด” (productive kamma; reproductive kamma)

๒ กรรมบางอย่างทำหน้าที่สนับสนุน 

คำว่า “สนับสนุน” ไม่ได้หมายถึงช่วยส่งเสริมให้ดีงามขึ้น แต่หมายถึงเป็นอะไรอยู่ก็หนุนหรือซ้ำให้เป็นเช่นนั้นมากขึ้น เช่น -

เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่หนุนให้มั่งคั่งยิ่งขึ้น

เกิดในครอบครัวที่ขัดสน กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่ซ้ำเติมให้ขัดสนหนักเข้าไปอีก

เป็นคนใจบุญ กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่หนุนให้ใจบุญหนักแน่นมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป

เป็นคนใจบาป กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่หนุนให้ใจบาปหยาบช้าสาหัสยิ่งๆ ขึ้น

กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อุปัตถัมภกกรรม” (อุ-ปัด-ถำ-พะ-กะ-กำ) แปลว่า “กรรมสนับสนุน” (supportive kamma; consolidating kamma)

๓ กรรมบางอย่างทำหน้าที่บั่นทอนหรือบรรเทา

หมายความว่า ชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมส่งผลให้เป็นเช่นนี้ๆ แต่กรรมชนิดนี้เข้ามาทำหน้าที่ลดผลนั้นให้เบาลงไปเป็นเช่นนั้นๆ เช่น -

เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่บั่นทอนความมั่งคั่งให้น้อยลง ทำให้มั่งคั่งได้ไม่เต็มที่

เกิดในครอบครัวที่ขัดสน กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่ลดความขัดสนให้น้อยลง พอให้มีกินมีใช้ขึ้นได้บ้าง

เป็นคนใจบุญ กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่เปลี่ยนแปรให้ใจบุญน้อยลง พอใจจะทำบาปอยู่บ้าง

เป็นคนใจบาป กรรมชนิดนี้ก็ทำหน้าที่ลดความใจบาปให้น้อยลง พอใจจะทำบุญอยู่บ้าง

พูดให้เห็นภาพ ก็เหมือนกับว่า -

ควรจะถึงตาย ก็เอาแค่บาดเจ็บ

ควรจะแค่บาดเจ็บเล็กน้อย ก็เอาถึงปางตาย

นี่คือหน้าที่ของกรรมชนิดนี้

กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อุปปีฬกกรรม” (อุ-ปะ-ปี-ละ-กะ-กำ) เคยได้ยินคนเก่าแปลว่า “กรรมเบียน” คือกรรมที่มาเบียดเบียนผลของกรรมเดิม (obstructive kamma; frustrating kamma)

๔ กรรมบางอย่างทำหน้าที่ตัดรอนหักล้างผลของกรรมเดิม

กรรมในข้อก่อน (อุปปีฬกกรรม) ทำเพียงแค่เบี่ยงเบนหรือลดทอนผลของกรรมเดิม แต่กรรมชนิดนี้ทำถึงขั้นหักล้างผลของกรรมเดิมเลยทีเดียว เชน -

เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น ตัดโอกาสที่จะได้เสวยสุข

เกิดในครอบครัวที่ขัดสน แต่ได้ทรัพย์มาอย่างปัจจุบันทันด่วน กลายเป็นคนมั่งคั่งขึ้น

สุขภาพดีมาตลอด แต่ไปประสบเหตุทำให้สุขภาพทรุดลงไปฉับพลัน กลายเป็นสามวันดีสี่วันไข้

เจ็บออดๆ แอดๆ มาตลอด แต่สบเหมาะ ไปได้ยาดีหรือวิธีรักษาที่ถูกกับโรค ทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นมาอย่างพลิกความคาดหมาย

อย่างนี้เป็นต้น

กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อุปฆาตกกรรม” (อุ-ปะ-คา-ตะ-กะ-กำ) แปลว่า “กรรมตัดรอน” จะเข้าใจว่า “กรรมพลิกกรรม” ดังนี้ก็น่าจะได้ ดังสำนวนไทยว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ (destructive kamma; supplanting kamma)

หมายเหตุ: ภาษาอังกฤษในวงเล็บ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [338]

(ยังมีต่อ)

-------------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กันยายน ๒๕๖๕

๑๗:๓๔

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.