เจ้ากรรมนายเวร (๑)
-------------------
พอเอ่ยคำว่า เจ้ากรรมนายเวร เชื่อว่าคงมีคนเคยได้ยิน
แต่ถ้าถามว่า เจ้ากรรมนายเวรคือใคร หรือคืออะไร คงมีน้อยคนที่จะอธิบายได้ชัด รวมทั้งคนที่เชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวรนั่นเองด้วย
ในห้วงนึกของคนทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรคืออะไรอย่างหนึ่ง จะว่าเป็น “สิ่ง” หรือเป็น “ชีวิต” หรือ “จิตวิญญาณ” อะไรก็ไม่รู้ล่ะ รู้แต่ว่าอะไรที่ว่านี้มีความรู้สึกนึกคิด มีจิตเจตนา และมีความสามารถที่จะกระทำอะไรๆ ที่ให้คุณให้โทษแก่ใครคนใดคนหนึ่งได้
ศึกษาความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นหลักเบื้องต้นไว้ก่อน
..........................................................
เจ้ากรรม : (คำนาม) ผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันมาแต่ชาติก่อน, เจ้ากรรมนายเวร ก็ว่า. (คำวิเศษณ์) ที่ทำให้ผิดหวังหรือได้รับความเดือดร้อน เช่น รถเจ้ากรรมเกิดเสียขึ้นกลางทางเลยไปไม่ทัน เด็กเจ้ากรรมวิ่งมาชนเกือบหกล้ม. (คำอุทาน) คำกล่าวแสดงความผิดหวังเพราะเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดมาก่อนเป็นต้น เช่น เจ้ากรรมแท้ ๆ รถมาเสียเอาตอนฝนตกเสียด้วย.
เจ้ากรรมนายเวร : (คำนาม) ผู้เคยมีกรรมมีเวรต่อกันมาแต่ชาติก่อน, เจ้ากรรม ก็ว่า.
..........................................................
ต่อไปก็มาทำความเข้าใจเรื่อง “กรรม”
อันดับแรก จับหลักไว้ให้มั่นว่า “เจ้ากรรมนายเวร” นั้น เกิดมาจากการทำกรรม คือเราไปทำอะไรไว้กับใครหรือกับอะไรสิ่งไรก็ตาม เมื่อทำลงไปแล้ว การกระทำนั้นย่อมมีผลตามกฎของการทำกรรม จุดเริ่มต้นของ “เจ้ากรรมนายเวร” อยู่ตรงนี้
หลักต่อไปก็คือ “กรรม” นั้น เมื่อทำลงไปแล้วย่อมเป็นอันทำแล้ว ทำลงไปแล้วจะขอให้เป็นอันไม่ได้ทำ ไม่ได้ ทำแล้วทำเลย กลับคืนไม่ได้
หลักนี้ตรงกับภาษิตที่ว่า กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ (กะตัสสะ นัตถิ ปะฏิการัง) แปลว่า “สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้” (พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ข้อ ๕๔)
ตบยุงตายไปตัวหนึ่ง นี่คือข้อเท็จจริง นี่คือกรรมที่ทำลงไปแล้ว
จะให้กลับเป็นว่า ไม่ได้ตบหรือไม่เคยตบ และยุงก็ไม่ได้ตายหรือไม่เคยตาย
จะขอให้เป็นแบบนี้ เป็นไปไม่ได้
นี่คือกฎแห่งกรรม
ต่อไปก็ศึกษารายละเอียดที่ควรรู้ของ “กรรม”
เรื่องกรรมมีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน แต่ไม่ต้องหนักใจ ค่อยๆ ทำความรู้จักไปทีละส่วน
ส่วนที่ ๑ เมื่อไรกรรมจึงจะให้ผล
ส่วนนี้ท่านแสดงไว้ดังนี้ -
๑ กรรมบางอย่างให้ผลในชีวิตนี้
คือกรรมให้ผลที่พูดกันว่าทันตาเห็น นอกจากเจ้าตัวผู้ทำกรรมจะเห็นเองแล้ว คนอื่นๆ ก็มีโอกาสได้รู้เห็นด้วย
กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม” (ทิด-ถะ-ทำ-มะ-เว-ทะ-นี-ยะ-กำ) แปลว่า “กรรมที่จะพึงเสวยในชาติปัจจุบัน” (kamma to be experienced here and now)
๒ กรรมบางอย่างให้ผลหลังจากชีวิตนี้
คือตายแล้วจึงให้ผล เจ้าตัวผู้ทำกรรมรับรู้ได้เฉพาะตัวคนเดียว กรรมชนิดนี้แหละที่คนใจร้อนเอาไปพูดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน และคนส่วนหนึ่งเริ่มลังเล-เอ ผลกรรมจะมีจริงหรือ เพราะอยากเห็นผลในชาติปัจจุบัน แต่ไม่ทันได้เห็น
กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อุปปัชชเวทนียกรรม” (อุ-ปะ-ปัด-ชะ-เว-ทะ-นี-ยะ-กำ) แปลว่า “กรรมที่จะพึงเสวยในชาติหน้า” (kamma ripening in the next life)
๓ กรรมบางอย่างให้ผลในภพชาติต่อๆ ไป
คือชีวิตนี้กรรมยังไม่ให้ผล ชีวิตถัดจากนี้กรรมก็ยังไม่ให้ผล แต่ในภพชาติต่อๆ ไปให้ผลแน่ ที่เราพูดกันว่า “กรรมตามทัน” และมักหมายถึงกรรมให้ผลทันตาเห็นนั้น ความจริงแล้วควรหมายถึงกรรมในข้อนี้ คือชาตินี้กรรมตามไม่ทัน ชาติหน้ากรรมก็ยังตามไม่ทัน กรรมชนิดนี้คล้ายหมาไล่เนื้อ ต่างกันที่หมาไล่เนื้ออาจหมดแรงเสียก่อน จึงไล่ไม่ทันเนื้อ แต่กรรมไม่มีวันหมดแรง ไล่จนทันแน่ๆ ชาตินี้ไม่ทัน ชาติหน้าไม่ทัน แต่ชาติต่อไป หนีไม่พ้นแน่
กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อปราปริยเวทนียกรรม” (อะ-ปะ-รา-ปะ-ริ-ยะ-เว-ทะ-นี-ยะ-กำ) แปลว่า “กรรมที่จะพึงเสวยในชาติต่อๆ ไป” (kamma to be experienced in some subsequent lives)
๔ กรรมบางอย่างเลิกให้ผลเมื่อมีเงื่อนไขครบ
ตัวอย่างเช่น กรรมที่เรียกว่า “อริยุปวาท” (อะ-ริ-ยุ-ปะ-วาด) คือตำหนิติเตียนด่าว่าพระอริยบุคคล เป็นกรรมหนักชนิดหนึ่ง เป็นทั้งสัคคาวรณ์ (ห้ามสวรรค์ คือทำบุญขนาดไหนก็ไปเกิดในสวรรค์ไม่ได้) ทั้งมัคคาวรณ์ (ห้ามมรรคผล คือปฏิบัติธรรมขนาดไหนก็บรรลุมรรคผลไม่ได้) ทำลงไปแล้วผู้ทำต้องได้รับผล แต่ถ้าผู้ทำเกิดสำนึกผิด ไปขอขมาลาโทษต่อพระอริยบุคคลนั้น กรรมนั้นก็เลิกให้ผล
อีกตัวอย่างหนึ่ง คนที่ปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ไม่มีภพชาติต่อไปอีก กรรมใดๆ ที่พระอรหันต์เคยทำไว้แต่ปางก่อน กรรมนั้นๆ ก็เลิกให้ผล แต่ในชีวิตปัจจุบันเมื่อยังไม่ดับขันธ์ กรรมที่พระอรหันต์เคยทำไว้ย่อมให้ผลตามวาระของกรรมนั้นๆ เช่นกรณีพระมหาโมคคัลลานเถระถูกผู้ร้ายทำร้ายถึงดับขันธ์เป็นต้น แต่เมื่อท่านดับขันธ์แล้ว กรรมทุกอย่างที่ท่านทำไว้ก็เป็นอันเลิกให้ผล เพราะไม่มีตัวผู้จะรับผลในภพชาติต่อๆ ไป
กรรมชนิดนี้เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อโหสิกรรม” (อะ-โห-สิ-กำ) แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่มีไปเรียบร้อยแล้ว” หมายถึง “กรรมที่เลิกให้ผล” (lapsed or defunct kamma)
หมายเหตุ: ภาษาอังกฤษในวงเล็บ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [338]
(ยังมีต่อ)
-------------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๖ กันยายน ๒๕๖๕
๑๒:๐๓
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ