บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๓)

------------------------------

ถวายสังฆทาน (๕)

------------------------------

เท่าที่อธิบายมา ญาติมิตรคงพอจะเข้าใจหลักของสังฆทานว่าคืออย่างไร และมองภาพออกว่า ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้คลาดเคลื่อนเบี่ยงเบนไปเป็นประการใด

ก่อนจะก้าวต่อไป ทบทวนหลักที่ผ่านมา - 

.........................................................

ของที่ถวายเป็นสังฆทาน ๒ อย่าง คือ -

ครุภัณฑ์ สมบัติส่วนรวมของสงฆ์ ภิกษุใช้ร่วมกัน 

ลหุภัณฑ์ ของฉัน (ของกิน) ของใช้ประจำตัวของภิกษุ

ครุภัณฑ์ รับมาแล้วเก็บเข้าคลังสงฆ์ บริหารจัดการดูแลตามสภาพ

ลหุภัณฑ์ รับมาแล้วแบ่งแจกกันไปเพื่อให้ภิกษุได้ฉันได้ใช้

ภัตตาหารเป็นลหุภัณฑ์ ญาติโยมทำบุญวันพระ ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน สงฆ์รับแล้วแบ่งแจกกันตรงนั้น ที่เรียกกันว่า อปโลกน์

.........................................................

ถังหรือชุดสังฆทานที่มีบริการในมุมสังฆทานของวัดต่างๆ เป็นลหุภัณฑ์ (ถ้าไม่ใช่ของฉันก็เป็นของใช้ประจำตัวภิกษุ) ญาติโยมถวายเป็นสังฆทานแล้ว คงตั้งหมุนเวียนอยู่ตรงนั้น ไม่ได้นำไปแบ่งแจกกัน นี่คือสิ่งที่ปฏิบัติกันตามวัดทั่วไป ซึ่งไม่ถูกตามหลักพระวินัย

ควรสังเกตและทราบต่อไปอีกว่า ตรงที่จัดไว้เป็นที่ถวายสังฆทาน-ที่ผมเรียกว่ามุมสังฆทาน-ตามวัดต่างๆ นั้น มีพระทำหน้าที่รับถวายสังฆทานรูปเดียวเป็นส่วนมาก

ควรทราบเป็นหลักความรู้ว่า พระที่รับสังฆทานจะมีกี่รูปก็ได้ รูปเดียวก็รับได้ ไม่ผิด 

ถ้าครบ ๔ รูป ก็รับในฐานะเป็นสงฆ์ รับแล้วอปโลกน์แจกกันตรงนั้นได้เลย-เหมือนที่เราเห็นในการทำบุญวันพระ 

ถ้าไม่ครบ ๔ รูป ก็รับในฐานะเป็นผู้แทนสงฆ์ เพราะผู้ถวายตั้งเจตนาถวายเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ถวายให้เป็นของพระผู้รับ พระผู้รับจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนสงฆ์

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนมากไม่รู้และไม่สนใจที่จะรู้ 

รู้แต่ว่า (๑) ตรงนั้นมีถังหรือชุดสังฆทาน (๒) เชื่อว่าเอาถังหรือชุดสังฆทานถวายพระแล้วได้กุศลแรง (๓) มีพระอยู่ตรงนั้น (๔) ทำตามหรือว่าตามที่พระท่านบอก (๕) ประเคนถังหรือชุดสังฆทานให้พระรับ (๖) เชื่อว่าตนได้ถวายสังฆทานแล้วและได้กุศลแรงแล้ว จบแค่นั้น ต่อจากนั้นไม่รับรู้อะไรอีก

เพราะฉะนั้น ขอแรงให้รับรู้ต่อไปอีกหน่อยว่า -

๑ ผู้ถวายตั้งใจถวายให้เป็นของสงฆ์-ที่เรียกกันเพลินไปว่า “ถวายสังฆทาน” (เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้อย่าเรียกแต่ปาก จิตต้องตั้งให้ถูกด้วยว่า เรากำลังถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์ ขอให้ของนั้นไปถึงปากถึงมือสงฆ์จริงๆ ไม่ใช่วนเวียนอยู่ตรงนั้น)

๒ “สงฆ์” ในความหมายนี้คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ภิกษุที่ทำหน้าที่รับของถวายมีรูปเดียว เป็น “สงฆ์” ไม่ได้ เป็นได้แต่ผู้แทนสงฆ์

๓ ดังนั้น เมื่อรับแล้ว ว่าตามหลักการ สงฆ์จะต้องประชุมกันเพื่อพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับของที่มีผู้ถวายให้เป็นของสงฆ์ 

ของเขาถวายเป็นของสงฆ์ พระที่รับจะเอาไปฉันเอาไปใช้โดยที่สงฆ์ยังไม่ได้แบ่งแจก เป็นความผิด ที่เราพูดกันว่า "กินของสงฆ์” 

เมื่อสงฆ์ยังไม่ได้ประชุมกันแบ่งแจก ของนั้นก็ยังอยู่ในฐานะเป็น “ของสงฆ์” ใครจะเอาไปกินเอาไปใช้ไม่ได้ - หลักการมีอยู่เช่นนี้ 

๔ ว่าตามวิธีปฏิบัติ ถ้าตรงที่ถวายนั้นมีภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ก็เท่ากับครบองค์ประชุม สามารถแบ่งแจกกันตรงนั้นได้เลย นี่ก็คือที่เราไปทำบุญวันพระ พอกล่าวคำถวายภัตตาหารจบแล้ว พระท่านก็อปโลกน์ นั่นแหละคือสงฆ์เปิดประชุมแบ่งแจกของที่เป็นลหุภัณฑ์ที่มีผู้ถวายเป็นของสงฆ์

.........................................................

ของฉันของใช้ประจำตัวเป็นลหุภัณฑ์ 

ภัตตาหารเป็นลหุภัณฑ์ 

ลหุภัณฑ์ รับแล้วต้องทำอย่างไร

หวังว่าคงจำได้และเข้าใจวิธีปฏิบัติ

.........................................................

๕ ถ้าตรงที่ถวายนั้นมีภิกษุไม่ครบ ๔ รูป พระที่ทำหน้าที่รับถวายสังฆทานจะต้องเอาของที่รับนั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์ ในทางปฏิบัติก็คือไปหาพระมาให้ครบ ๔ รูป แล้วทำอปโลกนกรรม คือประกาศแบ่งแจกของนั้น แล้วก็แบ่งของกันไป

เท่านี้ก็ถูกต้องตามหลักพระวินัย ของที่ญาติโยมถวายเป็นของสงฆ์ก็ไปถึงปากถึงมือสงฆ์สมตามเจตนาของการถวายสังฆทาน

แต่เชื่อได้เลย ไม่มีวัดไหนทำตามที่ว่ามานี้

ถังสังฆทาน-ชุดสังฆทาน ถวายแล้วตั้งอยู่ที่เดิม ถวายซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตรงนั้น เป็นเดือนหรืออาจเป็นปี ของฉันของใช้ไปไม่ถึงปากถึงมือสงฆ์

แล้วจะทำยังไงกัน?

ก็ต้องไปนมัสการถามท่านเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ ว่า-แล้วนี่จะทำยังไงกัน

แต่ถ้าถามผม ผมก็จะตอบว่า-ก็ช่วยกันศึกษาเรียนรู้หลักปฏิบัติในการถวายสังฆทานไว้-ดังที่ญาติมิตรกำลังศึกษาอยู่ในตอนนี้

เมื่อรู้แล้วว่าอะไรไม่ถูกต้อง เราก็อย่าไปทำเข้า บอกใครได้ก็ช่วยกันบอก-ดังที่ผมกำลังบอกอยู่ในตอนนี้ 

แต่ระวัง อย่าไปขวางทางศรัทธาใครเข้า ใครอยากทำแบบไหนก็ปล่อยเขาไป เขาไม่ถามก็อย่าเที่ยวไปสะกิดแขนบอก

เมื่อรู้หลักการแล้ว ต่อไปนี้ใครอยากถวายสังฆทาน ก็ขอให้นึกถึง-ที่ผมเสนอแนะไว้ คือไปเลือกซื้อของเป็นชิ้นๆ ที่เห็นว่าพระท่านจะฉันจะใช้ได้จริงๆ ใส่ถุงก๊อบแก๊บธรรมดาๆ ดีที่สุด (ถุงก๊อบแก๊บ-สะกดตามเสียงที่พูดกันครับ ผิดถูกขออภัยด้วย)

ที่ว่าดีที่สุดก็เพราะ -

(๑) ของใส่ถุงไม่อำนวยให้เอามาถวายหมุนเวียนได้อีก ใครเห็นก็รู้ว่า อ้าว นี่ของที่มีคนเอามาถวายไว้นี่ เอามาถวายอีกได้ไง 

.........................................................

ถ้าท่านเป็นผู้ถวายของนั้น 

แล้ววันต่อมาไปเห็นทางวัดเอามาหมุนเวียนให้คนอื่นถวายอีก 

ท่านจะคิดอย่างไร?

.........................................................

(๒) ของในถุงมีโอกาสไปถึงปากถึงมือสงฆ์ได้จริงๆ เพราะของเปลือยเป็นชิ้นๆ พร้อมให้หยิบฉันหยิบใช้ได้ทันที 

ของที่ถูกห่อหุ้มอยู่ในถังในกล่อง มองไม่ชัดว่ามีอะไรบ้าง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากแก้อยากแกะ โอกาสที่จะไปถึงปากถึงมือจริงๆ ก็มีน้อยลงไป

ถ้าช่วยกันใช้วิธีแบบนี้กันมากๆ ก็เท่ากับช่วยกันตัดโอกาสที่จะเกิดสังฆทานเวียน เพราะไม่มีของที่พร้อมจะให้เวียน ถ้าทางวัดจะลงทุนเอาของเปลือยไปแพ็คกล่องเองเพื่อเอามาเวียน เราก็แก้ด้วยการไม่ขอใช้บริการถังสังฆทานเวียน เมื่อไม่มีใครนิยม สังฆทานเวียนก็จะหมดไปเอง

เหตุผลที่แนะนำอย่างนี้และขอให้ช่วยกันทำแบบนี้ก็คือ เมื่อเราตั้งเจตนาถวายของฉันของใช้ให้เป็นของสงฆ์ ของนั้นก็ต้องไปถึงปากถึงมือสงฆ์จริงๆ จึงจะถูกต้อง ใช่หรือไม่

ถ้าถวายแล้ว ของนั้นหมุนอยู่ตรงนั้นเอง สงฆ์ไม่ได้ฉันไม่ได้ใช้ ถามว่าเราจะต้องเอาของมาถวายทำไม ถวายเพื่ออะไร

..................

ถึงตรงนี้ก็น่าจะมีเสียงออกรับว่า - ก็เพื่อจะได้เงินเข้าวัดอย่างไรเล่า 

ถังสังฆทานชุดละ ๑๐๐ บ้าง ๒๐๐ บ้าง ๓๐๐ บ้าง เงินเข้าวัดทั้งนั้น วัดได้ประโยชน์เห็นๆ มันเสียหายตรงไหนกันเล่า สมัยนี้วัดไม่ได้ขาดแคลนของฉันของใช้ แต่ขาดแคลนปัจจัย ถวายสังฆทานแบบนี้ช่วยให้วัดได้ปัจจัย เอาไปเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ค่าบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ค่าใช้จ่ายอีกจิปาถะ มาจากเงินสังฆทานนี่แหละ แล้วยังจะว่าไม่ดีอีกหรือ

ถ้าตอบภาษานักเลงปากท่อ ก็น่าจะตอบว่า-พูดอย่างนี้ก็สวยสิ

“พูดอย่างนี้ก็สวยสิ” ตามความหมายของผม ไม่ได้หมายความว่าจะหาเรื่องต่อยกัน

แต่หมายความว่า ก็เป็นโอกาสอันดีงามที่จะได้ช่วยกันศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง-เรื่องสังฆทานเวียนที่ทำกันอยู่ อันเป็นจุดหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องเลอะเทอะเรื่องหนึ่งในการถวายสังฆทาน

ตอนหน้า จะได้ว่ากันให้ขาวสะอาด

------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๐:๕๐

[right-side]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.