บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๑)

------------------------------

อนุโมทนา + กรวดน้ำ (๒)

------------------------------

ถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ถวายสังฆทาน) แล้ว 

พระสงฆ์อปโลกน์แล้ว 

ต่อไปก็ถึงลำดับการอนุโมทนา พร้อมกับที่ชาวบ้านที่มาทำบุญก็กรวดน้ำ

“อนุโมทนา” ที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ พระยะถา-สัพพี คืออนุโมทนาเป็นภาษาบาลี

แต่ยังมีการอนุโมทนาอีกแบบหนึ่งก่อนจะถึงการอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี นั่นคืออนุโมทนาเป็นภาษาไทย สาระตรงๆ ก็คือ-พูดธรรมะสั้นๆ ให้โยมฟังก่อนที่จะยะถา-สัพพี

อนุโมทนาแบบนี้ (พูดธรรมะให้โยมฟัง) พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทำกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล บางโอกาสพระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาด้วยพระองค์เอง บางโอกาสทรงมีพุทธฎีกาให้ภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอนุโมทนา

ในวินัยปิฎกบันทึกเรื่องต้นเหตุที่พระสงฆ์จะอนุโมทนาในการฉันภัตตาหารไว้ดังนี้ -

.........................................................

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่อนุโมทนาในโรงฉัน คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงไม่อนุโมทนาในโรงฉัน 

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุโมทนาในโรงฉัน

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า ใครหนอพึงอนุโมทนาในโรงฉัน แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระอนุโมทนาโนโรงฉัน

ที่มา: วัตตขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๔๒๐-๔๒๑

.........................................................

สรุปว่า ตั้งแต่ครั้งนั้นมา เวลามีผู้นิมนต์ไปฉันที่ไหน เมื่อฉันเสร็จพระสงฆ์-โดย “ภิกษุผู้เถระ” คือภิกษุที่อาวุโสที่สุดในที่นั้น-ก็จะอนุโมทนาคือแสดงธรรมให้เจ้าภาพฟัง

..................

ใครที่เรียนบาลีคงจะจำพระจูฬปันถกได้ - พี่น้อง ๒ คน คนพี่ชื่อมหาปันถก คนน้องชื่อจูฬปันถก บวชในพระพุทธศาสนา พระจูฬปันถกพอบวชแล้วก็เกิดอาการความจำเสื่อม ท่องไม่จำ เรียนธรรมไม่รู้เรื่อง จนพระพี่ชายไล่ตะเพิด พระพุทธเจ้าทรงหาวิธีสอนจนพระจูฬปันถกสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เกิดปฏิสัมภิทาแตกฉานในพระไตรปิฎกขึ้นมาฉันพลัน จากโง่ทึบกลายเป็นฉลาดสุดอย่างไม่น่าเชื่อ

วันที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หมอชีวกนิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไปฉันที่บ้าน เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ มีพุทธฎีกาให้พระจูฬปันถกอนุโมทนา

ความตอนนี้คัมภีร์บันทึกไว้ว่า -

.........................................................

เถโร  สีหนาทํ  นทนฺโต  ตรุณสีโห  วิย  ตีณิ  ปิฏกานิ  สงฺโขเภตฺวา  อนุโมทนํ  อกาสิ.

พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยแปลไว้ว่า -

พระเถระบันลือสีหนาทดุจสีหะที่ขึ้นรุ่น (กำลังคะนอง) ได้ทำอนุโมทนายังพระไตรปิฎกให้กระฉ่อนแล้ว

ที่มา: จูฬปนฺถกตฺเถรวตฺถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒

.........................................................

เป็นอันว่า “อนุโมทนา” อันเนื่องด้วยภัตตาหาร ของเดิมคือการแสดงธรรมให้เจ้าภาพญาติโยมฟัง

แต่ที่พระท่านทำกันทุกวันนี้ อนุโมทนาคือสวดยะถา-สัพพี ให้ญาติโยมกรวดน้ำ

บทยะถา-สัพพี และบทอนุโมทนาเป็นภาษาบาลีที่พระท่านสวดอนุโมทนาในทุกวันนี้ หลายบทยกมาจากพระไตรปิฎก บางบทเรียบเรียงตกแต่งขึ้นในภายหลัง

เมื่อทำสืบๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ จากการแสดงธรรม อนุโมทนาก็เพี้ยนไป

พระสงฆ์ที่อนุโมทนาก็ไม่ได้ตั้งเจตนาว่าจะแสดงธรรม

ญาติโยมก็ไม่ได้ตั้งเจตนาว่าจะฟังธรรม

อนุโมทนากลายเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่ง-ทำกันไปตามพิธี

น่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม มีบางวัดที่ถอยไปตั้งหลักที่หลักการเดิม เช่นวัดชลประทานรังสฤษดิ์เป็นต้น มีการกล่าวธรรมะให้ญาติโยมฟังกันจริงๆ เพิ่มเข้าไปในการสวดหรืออนุโมทนา-ไม่ใช่ทำเพียงเป็นพิธีเหมือนที่วัดต่างๆ ทำกันทั่วไป

วัดญาณเวศกวันก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่กล่าวธรรมะให้ญาติโยมฟังหลังจากฉันเสร็จก่อนยะถา-สัพพี อันนี้ประสบมากับตัวเอง

พระวัดญาณเวศกวันออกบิณฑบาต เมื่อญาติโยมใส่บาตรแล้วพระจะกล่าวสุภาษิตสั้นๆ ให้โยมฟัง-แทนที่จะยืนให้พรกันข้างถนนหรือกลางตลาดอย่างที่เราเห็นพระท่านทำกันทั่วไปอยู่ในเวลานี้ อันนี้เป็นคำบอกเล่าของพระวัดญาณเวศกวันหลายปีมาแล้ว ยังไม่ได้ยินมากับตัวเอง

..................

ทำบุญวันพระวัดมหาธาตุราชบุรี พอมาถึงขั้นตอนอนุโมทนา พระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสท่านจะกล่าวเป็นภาษาไทยก่อน เราเรียกกันว่า “สัมโมทนียกถา” (เรียกกันสั้นๆ ว่า “สำโม”) บางวันพระก็เป็นการแสดงหลักธรรม บางวันพระก็เล่าเรื่องหลักการปฏิบัติเก่าๆ ของวัด บางวันพระก็อธิบายสิ่งสำคัญภายในวัดซึ่งมักเป็นประวัติศาสตร์และโบราณคดี และบางวันพระก็เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด (ซึ่งเราแอบเรียกกันว่า “หลวงพ่อบ่น”) เรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นการแสดงธรรมให้ญาติโยมฟังก่อนที่จะยะถา-สัพพี

แต่ทั้งนี้ หลวงพ่อท่านก็พูดอยู่รูปเดียว วันพระไหนท่านไม่อยู่ รายการอนุโมทนาเป็นภาษาไทยก็ไม่มี เพราะท่านไม่ได้มอบหมายให้พระรูปอื่นทำ 

..................

แนวคิดของผมก็คือ ทำบุญวันพระทุกวัด ควรให้มีอนุโมทนาเป็นภาษาไทยคือพูดธรรมะสั้นๆ ให้ญาติโยมที่มาทำบุญฟังก่อนยะถา-สัพพี

ตามหลักพระวินัยที่อ้างข้างต้นท่านให้ “ภิกษุผู้เถระ” คือภิกษุที่อาวุโสที่สุดในที่นั้นเป็นผู้กล่าว นั่นคือถ้าเจ้าอาวาสลงศาลาด้วย ก็เจ้าอาวาสนั่นเองเป็นผู้กล่าว แต่เจ้าอาวาสก็สามารถมอบหมายให้พระรูปอื่นกล่าวแทนได้

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ตั้งเวรกัน วันพระไหนเป็นเวรพระรูปไหน พระรูปนั้นก็กล่าว แต่ทั้งนี้จะต้องฝึกสอนอบรมแนะนำกันไว้ก่อน วิธีพูดธรรมะสั้นๆ ให้ญาติโยมฟังพูดอย่างไร พูดแบบไหน ฝึกซ้อมเตรียมตัวไว้ให้พร้อม 

วิธีนี้เป็นการฝึกพระให้มีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่พระธรรมไปด้วย ญาติโยมก็ได้ฟังธรรมะไปด้วย ชาวบ้านญาติโยมมาทำบุญวันพระก็จะได้ทั้งบุญคือความดี ได้ทั้งกุศลคือความฉลาดในธรรม

แต่ก็-เช่นเคย เรื่องนี้ถ้าเป็นนโยบายของคณะสงฆ์ มีคำสั่งออกมาจากมหาเถรสมาคมให้วัดต่างๆ ปฏิบัติ เรื่องก็ง่าย

จึงขอถวายแนวคิดไว้อีกเรื่องหนึ่ง 

“เรื่องนี้สำเร็จในสมัยอาตมาเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม!” - อยากได้ยินพระระดับผู้บริหารท่านพูดประโยคนี้ด้วยความภาคภูมิใจขอรับ

------------------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๘:๕๗

[right-side]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.