๖. ภยญาณ (บาลีวิสุทธิมรรค หน้า ๒๘๒ ใช้ว่า ภยตุปัฏฐานญาณ)
"ภยญาณ" หมายความว่าเป็นญาณที่กำหนดรูปนามโดยความเป็นของน่ากลัวดังมี วจนัตถะแสดงว่า "สงขารานํ ภยโต อนุปสฺสนาวเสน ปวตฺตํ ญาณํ ภยญาณํ" แปลว่า ญาณที่เป็นไปด้วยอำนาจพิจารณาเนืองๆ ถึงสังขตธรรมทั้งหลาย โดยความเป็นของน่ากลัว ดังนั้น จึงชื่อว่า "ภยญาณ" องค์ธรรมได้แก่ "ปัญญาเจตสิก"
อธิบายภยญาณ มี ๓ อย่าง
๑. เมื่อโยคีบุคคลเจริญภังคานุปัสสนาให้แก่กล้ามากขึ้น ด้วยการกำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปหรือความแตกดับของสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อยู่ สังขารทั้งหลายซึ่งมีความแตกดับอยู่ในภพ ๓ กำเนิด ๕ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ก็จะปรากฎเป็นสภาพที่น่ากลัวมาก เช่นเดียวกับสีหะ พยัคฆะ เสือเหลือง หมี เสือดาวยักษ์ รากษส โคดุ สุนัขดุ ช้างดุตกมัน อสรพิษร้าย สายฟ้า ป่าช้า สนามรบ หรือหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโชติช่วง เป็นต้น ซึ่งปรากฎเป็นที่น่ากลัวมากแก่บุรุษขี้ขลาดที่ปรารถนาจะมีชีวิตอย่างสุขสบาย
๒. เมื่อโยคีบุคคลกำหนครู้ชัดว่า "สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้วที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ แม้จะเกิดในอนาคตก็จักดับไป" เช่นนี้แสดงว่า ณ ที่ตรงนี้ญาณชื่อว่า ภยตุปัฎฐานญาณ บังเกิดขึ้นแล้ว
๓. อุปมาในภยตุปัฏฐานญาณ (ในวิสุทธิมรรคบาลี หน้า ๒๘๒) มีดังนี้
ก. สตรีผู้หนึ่งมีบุตรชาย ๓ คน เป็นผู้มีความผิดต่อพระราชา พระองค์ตรัสสั่งให้ลงโทษตัดศีรษะของบุตรชายทั้งสามนั้น สตรีผู้นั้นได้ไปยังะแลงแกงพร้อมกับบุตรชายทั้งสามด้วย ทันใดนั้นเขาก็ตัดศีรษะของบุตรชายคนโตของเธอ แล้วเตรียมการเพื่อตัดศีรษะของบุตรชายคนกลาง สตรีนั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนโตถูกตัดไปแล้ว และเห็นศีรษะบุตรชายคนกลางกำลังถูกตัดอยู่ ก็ทอดอาลัยในบุตรชายคนเล็กเสียได้ว่า "แม้พ่อคนเล็กนี้ก็จักเป็นเช่นเดียวกับบุตรชายทั้งสองนั้นนั่นแหละ"
ในอุปมานั้น การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีผู้นั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคน โตถูกตัดไปแล้ว การที่ โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนกลางกำลังถูกเขาตัดอยู่ การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่จะบังเกิดขึ้นแม้ในอนาคตก็เปรียบเหมือนการที่สตรีผู้นั้นทอดอาลัยในบุตรชายคนเล็กว่า "ถึงแม้พ่อคนเล็กนี้ก็จักเป็นเช่นเดียวกับบุตรชายทั้งสองคนนั้นเหมือนกัน" เมื่อโยดีนั้นเห็นอยู่อย่างนี้ ณ ที่ตรงนี้ ภยตุปัฏฐานญาณ ก็บังเกิดขึ้น
ข. สตรีผู้มีปรกติเป็นคนมีลูกเน่า (ตาย) คลอดลูกมาแล้ว ๑๐ คน ใน ๑๐ คนนั้น ตายไปแล้ว ๙ คน คนหนึ่งกำลังจะตายอยู่ในอ้อมแขน อีกคนหนึ่ง (คนที่ ๑๑) ยังอยู่ในท้อง สตรีนั้นเห็นลูก ๙ คนตายไปแล้ว และคนที่ ๑๐ ก็กำลังจะตาย จึงทอดอาลัยในลูกคนที่อยู่ในท้องว่า "ถึงแม้เจ้าคนที่อยู่ในท้องนี้ก็จักเป็นเหมือนลูกทั้งหลายเหล่านั้น"
ในอุปมานั้น การที่ โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นรำลึกถึงความตายของลูกทั้ง ๙ คน การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นเห็นลูกคนที่อยู่ในอ้อมแขนกำลังจะตายไป การที่ โยกีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอนาคต เปรียบเหมือนการทอดอาลัยในลูกคนที่อยู่ในท้องของสตรีผู้นั้น เมื่อโยคีนั้นเห็นอยู่อย่างนี้ในขณะนั้น ก็ชื่อว่า ภยตุปัฎฐานญาณ กำลังเกิดขึ้น
ว่าด้วยความกลัวกับภยญาณ
ภยตุปัฏฐานญาณมิใช่เป็นญาณที่ประกอบด้วยความกลัว แต่ภยตุปัฏฐานญาณ เป็นญาณที่ใตร่ตรองอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว, ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ, ที่เป็นอนาคตก็จักดับ" แน่แท้เพราะฉะนั้น จึงเปรียบเหมือนบุรุษที่เห็นหลุมถ่านเพลิง ๓ หลุมใกล้ประตูเมือง ตัวเขาเองไม่รู้สึกกลัว เพียงแต่เกิดความไตร่ตรองหรือรู้สึกหวาดเสียวว่า เมื่อมีคนตกลงไปในหลุมทั้ง ๓ นี้ คงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแน่นอน หรือเปรียบเหมือนบุรุษที่เห็นหลาว ๓ เล่มคือ หลาวไม้ตะเคียน, หลาวเหล็ก, หลาวทองเหลือง ที่ปักเรียงกันไว้ตัวเองมิได้กลัวเพียงแต่เกิดความไตร่ตรอง หรือรู้สึกหวาดเสียวว่า เมื่อมีคนตกลงมาบนหลาวทั้ง ๓ นี้คงได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมากทีเดียวฉันใด ภยตุปัฏฐานญาณนี้ก็ฉันนั้น ญาณเองมิได้กลัวแต่อย่างใดเพียงเกิดการไตร่ตรองอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายในภพทั้ง ๓ ซึ่งเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิงและหลาว ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ ที่เป็นอนาคตก็จักคับอย่างแน่นอน"
ไตรลักษณ์กับความกลัว คือ :-
เมื่อสังขารทั้งหลายที่เป็นไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ทุกหนทุกแห่ง จะต้องถึงซึ่งความพินาศไป เพราะเป็นของที่มีภัยอยู่เฉพาะหน้าแล้วก็จักปรากฎเป็นสิ่งที่น่ากลัวแก่ญาณนั้น จึงเรียกญาณนั้นว่า ภยตุปัฏฐานญาณ
เมื่อโยคีมนสิการสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง นิมิตคือ ความดับไปของสังขารทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็จะปรากฎเป็นสภาพที่น่ากลัวแก่โยคีเมื่อ โยคีมนสิการสังขารทั้งปวงโดยความเป็นทุกข์ ปวัตตะความเป็นไปของสังขารคือ ความบีบคั้นเฉพาะหน้าที่เข้าใจกันว่าเป็นดวามสุข ที่เป็นไปในรูปภพและอรูปภพก็จะปรากฎเป็นสภาพที่น่ากลัว
เมื่อโยคีมนสิการสังขารทั้งปวงโดยความเป็นอนัตตา นิมิตและปวัตตะความเป็นไปของสังขารก็ปรากฎเป็นของว่างเปล่า เป็นของสูญ ไม่มีเจ้าของไม่มีผู้นำเป็นประดุจบ้านร้าง พยับแดด และวิมานในอากาศด้วยเหตุนี้ นิมิตและปวัตตะ ความเป็นไปจึงปรากฎเป็นสภาพที่น่ากลัวแก่โยคี
จบ ภยญาณ
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ