ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,820)
คิลานปัจจยเภสัชบริขาร
ยาว แต่ไม่ยากที่จะเข้าใจ
อ่านว่า คิ-ลา-นะ-ปัด-จะ-ยะ-เพ-สัด-ชะ-บอ-ริ-ขาน
แยกศัพท์เป็น คิลาน + ปัจจย + เภสัช + บริขาร
(๑) “คิลาน”
อ่านว่า คิ-ลา-นะ รากศัพท์มาจาก -
(1) คิลา (ธาตุ = หมดความสนุก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: คิลา + ยุ > อน = คิลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หมดความสนุก”
(2) คิลฺ (ธาตุ = ลำบาก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ (คิ)-ลฺ เป็น อา (คิลฺ > คิลา)
: คิลฺ + ยุ > อน = คิลน > คิลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลำบาก”
“คิลาน” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ป่วย, เจ็บไข้ (sick, ill)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“คิลาน-, คิลานะ : (คำนาม) คนเจ็บ. (ป.).”
(๒) “ปัจจย”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปจฺจย” อ่านว่า ปัด-จะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น ย, แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + อ = ปจฺจย
พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :
ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง
“ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า -
(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)
(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)
(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)
(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ
“ปจฺจย” ภาษาไทยใช้เป็น “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -
(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.
(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).
(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).
(๓) “เภสัช”
บาลีเป็น “เภสชฺช” อ่านว่า เพ-สัด-ชะ รากศัพท์มาจาก ภิสช + ณฺย ปัจจัย
(ก) “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก -
(1) ภิสฺ (ธาตุ = เยียวยา) + ช ปัจจัย
: ภิสฺ + ช = ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เยียวยา”
(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺ (ธาตุ = แจกแจง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง วิ เป็น ภิ
: วิ + สชฺ = วิสชฺ + อ = วิสช > ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คลี่คลายโรค”
“ภิสช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอยา, แพทย์ (a physician)
(ข) ภิสช + ณฺย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ภิ-(สช) เป็น เอ (ภิสช > เภสช), แปลง ช กับ ณฺย เป็น ชฺช
: ภิสช + ณฺย = ภิสชณฺย > เภสชณฺย > เภสชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” (สิ่งที่หมอใช้แก้หรือป้องกันโรค) หมายถึง โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา (a remedy, medicament, medicine)
บาลี “เภสชฺช” ภาษาไทยใช้เป็น “เภสัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -
“เภสัช, เภสัช- : (คำนาม) ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เภสัช” ไว้ดังนี้ -
“เภสัช : ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔, เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ ๑. สัปปิ เนยใส ๒. นวนีตะ เนยข้น ๓. เตละ น้ำมัน ๔. มธุ น้ำผึ้ง ๕. ผาณิต น้ำอ้อย; ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็น ยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต.”
(๔) “บริขาร”
บาลีเป็น “ปริกฺขาร” อ่านว่า ปะ-ริก-ขา-ระ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ), แปลง ก เป็น ข (กรฺ > ขรฺ), ซ้อน กฺ
: ปริ + กฺ + กรฺ = ปริกฺกร + ณ = ปริกฺกรณ > ปริกฺกร > ปริกฺการ > ปริกฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาจัดทำไว้โดยรอบ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “ปริกฺขาร” ว่า “all that belongs to anything” (อะไรก็ตามซึ่งเป็นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง)
“ปริกฺขาร” หมายถึง -
(1) สิ่งจำเป็น, เครื่องอุปกรณ์, เครื่องประกอบ, เครื่องมือ, เครื่องช่วย (requisite, accessory, equipment, utensil, apparatus)
(2) “ของที่จำเป็นหนึ่งชุด” ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และประกอบด้วยปัจจัย 4 อย่าง คือ จีวร, บิณฑบาต, ที่นั่งและที่นอน, เภสัชสำหรับบำบัดความป่วยไข้ (“set of necessaries” of a Buddhist monk & comprises the 4 indispensable instruments of a mendicant, i. e. robe, alms-bowl, seat & bed, medicine as help in illness)
(3) บริขาร 8 คือ ไตรจีวร, บาตร, มีดโกน, กล่องเข็ม, ประคดเอว, ผ้ากรองน้ำ (the 8 requirements : the 3 robes, the bowl, a razor, a needle, the girdle, a water-strainer)
“ปริกฺขาร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บริขาร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“บริขาร : (คำนาม). เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองนํ้า (ธมกรก) เรียกว่า อัฐบริขาร, สมณบริขาร ก็เรียก. (ป. ปริกฺขาร).”
ประมวลความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ได้ความว่า -
บริขาร : ของใช้ส่วนตัวของพระ, เครื่องใช้สอยประจำตัวของภิกษุ; บริขารที่จำเป็นแท้จริง คือ บาตร และจีวร ซึ่งต้องมีพร้อมก่อนจึงจะอุปสมบทได้ แต่ได้ยึดถือกันสืบมาให้มีบริขาร ๘ (อัฐบริขาร) คือ ไตรจีวร (สังฆาฏิ อุตราสงค์ อันตรวาสก) บาตร มีดเล็ก เข็ม ประคดเอว ผ้ากรองน้ำ
การประสมคำ :
๑ คิลาน + ปจฺจย = คิลานปจฺจย (คิ-ลา-นะ-ปัด-จะ-ยะ) แปลว่า “ปัจจัยสำหรับผู้ป่วย”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า “ปัจจัยสำหรับคนไข้, สิ่งเกื้อหนุนคนเจ็บไข้, สิ่งที่แก้ไขคนเจ็บไข้ให้กลับคืนเป็นปกติคือให้หายโรค, ยาบำบัดโรค”
๒ คิลานปจฺจย + เภสชฺช = คิลานปจฺจยเภสชฺช (คิ-ลา-นะ-ปัด-จะ-ยะ-เพ-สัด-ชะ) แปลว่า “เภสัชอันเป็นปัจจัยสำหรับผู้ป่วย”
๓ ประสมเฉพาะ คิลาน + เภสชฺช = คิลานเภสชฺช (คิ-ลา-นะ-เพ-สัด-ชะ) แปลว่า “เภสัชสำหรับผู้ป่วย”
บาลี “คิลานเภสชฺช” ในภาษาไทยใช้เป็น “คิลานเภสัช” (คิ-ลา-นะ-เพ-สัด) ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -
“คิลานเภสัช : (คำนาม) ยารักษาโรค. (ป. คิลาน + เภสชฺช).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คิลานเภสัช” ไว้ดังนี้ -
“คิลานเภสัช : ยาสำหรับผู้เจ็บไข้, ยารักษาผู้ป่วย, เภสัชเพื่อภิกษุอาพาธ.”
๔ คิลานปจฺจยเภสชฺช + ปริกฺขาร = คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร (คิ-ลา-นะ-ปัด-จะ-ยะ-เพ-สัด-ชะ-ปะ-ริก-ขา-ระ) แปลว่า “บริขารคือเภสัชอันเป็นปัจจัยสำหรับผู้ป่วย”
“คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “คิลานปัจจยเภสัชบริขาร” อ่านว่า คิ-ลา-นะ-ปัด-จะ-ยะ-เพ-สัด-ชะ-บอ-ริ-ขาน)
ขยายความ :
ภาษาบาลีคำนี้ไม่มีปัญหาในการเขียน อ่าน และเข้าใจความหมาย แต่มีเรื่องน่ารู้บางประการ –
1- ในปัจจัยสี่ของพระสงฆ์ คือ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม), บิณฑบาต (อาหาร), เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และ เภสัช (ยารักษาโรค) เฉพาะ “เภสัช” มีคำเต็มๆ ว่า “คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร” แปลว่า “บริขารคือยารักษาโรคอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนป่วย” คงเป็นเพราะยาวนัก ท่านจึงตัดให้เหลือสั้นๆ ว่า “เภสชฺช”
2- สิ่งต่อไปนี้ไม่ใช่ “ยารักษาโรค” โดยตรง แต่ท่านเรียกว่า “เภสัช” พระเก็บไว้ฉันได้ 7 วัน มี 5 อย่าง คือ 1 สัปปิ เนยใส 2 นวนีตะ เนยข้น 3 เตละ น้ำมัน 4 มธุ น้ำผึ้ง 5 ผาณิต น้ำอ้อย ส่วนยารักษาโรคโดยตรงนั้นเก็บไว้ฉันได้ตลอดอายุ
3- หมากพลู บุหรี่ ที่ถวายพระ คนเก่าๆ ท่านก็เรียกว่า “เภสัช”
ปัจจุบันทางราชการขอร้องไม่ให้จัดบุหรี่ถวายพระในงานพิธี เพราะ “ยารักษาโรค” บางอย่าง ดูไปแล้วน่ากลัวจะเป็นยาเพิ่มโรคเสียละมากกว่า
..............
ดูก่อนภราดา!
: ยาบางขนานอาจป้องกันไม่ให้ป่วยได้
: แต่ไม่มียาขนานไหนป้องกันไม่ให้ตายได้
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ