บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๒)

------------------------------

อนุโมทนา + กรวดน้ำ (๓)

------------------------------

ทำบุญวันพระวัดมหาธาตุราชบุรี พอหลวงพ่อกล่าวสัมโมทนียกถาจบท่านจะลงท้ายว่า “โยมกรวดน้ำ” ก็จะมีเสียงภาชนะกระทบกัน เช่นทัพพีกระทบขันข้าว หรือขันข้าวกระทบชาม นั่นคือคนที่มาทำบุญเตรียมทำสิ่งที่เรียกกันว่า “กรวดน้ำ”

อันที่จริง การกรวดน้ำไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด กรวดที่ไหนก็ได้ แต่เมื่อการกรวดน้ำเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ทำควบคู่ไปกับการอนุโมทนา และเมื่อการทำบุญวันพระพระสงฆ์ท่านอนุโมทนาเป็นขั้นตอนหนึ่ง ก็ควรจะอธิบายเรื่องการกรวดน้ำไว้ด้วย

“กรวดน้ำ” จะว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกก็ว่าได้ คือเห็นทำกันทั่วไป ใครๆ ก็ทำกัน แต่จะว่าเป็นเรื่องลึกลับก็ว่าได้อีก เพราะมีคนเป็นอันมากยังไม่เข้าใจเหตุผลของการกรวดน้ำ และน่าจะมีเป็นอันมากที่เข้าใจผิดเรื่องกรวดน้ำ

จับหลักสั้นๆ ง่ายๆ ไว้ก่อน - กรวดน้ำคือการอุทิศส่วนบุญ เหตุผลที่ต้องกรวดน้ำก็คือ คนทำบุญแล้วต้องการอุทิศส่วนบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ถ้าไม่ต้องการจะอุทิศส่วนบุญให้ใคร ก็ไม่ต้องกรวดน้ำ

เคยมีคนถามว่า เมื่อเช้าใส่บาตร แล้วลืมกรวดน้ำ จะได้บุญไหม?

กรวดน้ำไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้การทำบุญสำเร็จเป็นบุญ

ใส่บาตรเสร็จ เป็นบุญแล้ว บุญจากการใส่บาตรผู้ใส่บาตรได้รับไปเรียบร้อยแล้วทันทีที่ใส่บาตรเสร็จ ไม่ใช่ว่าต้องไปกรวดน้ำอีกทีหนึ่งบุญจากการใส่บาตรจึงจะสำเร็จเป็นบุญ-อย่างที่คนถามเข้าใจผิดๆ

อ้าว ถ้างั้นเขากรวดน้ำกันทำไมล่ะ? เห็นใครๆ ใส่บาตรเสร็จเป็นต้องกรวดน้ำทันที ก็เลยนึกว่า-กรวดน้ำเพื่อให้ได้บุญจากการใส่บาตร ถ้าไม่กรวด จะไม่ได้บุญ

ถ้าเช่นนั้นก็เข้าใจเสียใหม่ได้แล้ว

ตั้งต้นกันที่-ชาวพุทธเราทำบุญได้กี่วิธี ขอให้กัดฟันศึกษาเรียนรู้หลักวิชาไว้สักนิด

..................

วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี ๒ ชุด:

ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี ๓ วิธี คือ -

๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ (ทำบุญให้ทาน)

๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี (ทำบุญถือศีล)

๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา (ทำบุญภาวนา)

ชุดใหญ่มี ๑๐ วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก ๗ วิธี คือ 

๔. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม (ทำบุญไหว้พระ)

๕. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ (ทำบุญช่วยงาน)

๖. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (ทำบุญแบ่งบุญ)

๗. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น (ทำบุญโมทนา)

๘. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ (ทำบุญฟังเทศน์)

๙. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ (ทำบุญให้ธรรม)

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรงตามความเป็นจริง (ทำบุญเห็นถูก)

..................

รู้หลักแล้ว คราวนี้ลองมองภาพ ไปทำบุญวันพระ มีกับข้าวไปถวายพระ มีข้าวไปใส่บาตร นี่คือทานมัย-ทำบุญให้ทาน

ตอนรับศีล นี่คือสีลมัย-ทำบุญถือศืล

ตอนฟังพระสวดถวายพระพระ ไม่ว่าจะนั่งฟังกับที่ หรือฟังขณะลุกไปใส่บาตร กำหนดจิตตามเสียงพระสวดไปด้วย นี่คือภาวนามัย-ทำบุญภาวนา

แต่ละตอน ได้บุญเข้าบัญชีสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องไปกรวดน้ำอีกทีหนึ่งจึงจะสำเร็จเป็นบุญ

แล้วกรวดน้ำทำไม

ดูต่อไปจะเห็นว่า มีการทำบุญอีกวิธีหนึ่ง คือข้อ ๖ ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น และผมวงเล็บไว้ว่า “ทำบุญแบ่งบุญ” ก็คือที่เรามักพูดกันว่า “แบ่งส่วนบุญ” และกิริยาที่แบ่งส่วนบุญก็คือ กรวดน้ำ

ย่อหน้าข้างต้น ผมบอกว่า “ถ้าไม่ต้องการจะอุทิศส่วนบุญให้ใคร ก็ไม่ต้องกรวดน้ำ” 

หลักคำสอนในศาสนาบอกว่า เราสามารถทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วได้ และมนุษย์ในโลกนี้ทุกคนล้วนแต่มีบรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อทำบุญเสร็จแล้วก็เป็นธรรมดาที่จะต้องระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากระลึกถึงก็คืออุทิศส่วนบุญไปให้ นี่คือมนุษย์ธรรมดา

บางคน (๑) ไม่นับถือเลื่อมใสคำสอนในศาสนาดาใดๆ ทั้งนั้น (๒) แม้นับถืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดจะทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นบุญวิธีไหนๆ ทั้งนั้น (๓) บางทีอาจจะเคยทำบุญอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดจะอุทิศส่วนบุญให้ใครไม่ว่าจะเป็นบรรพบุรุษหรือมนุษย์หน้าไหนทั้งนั้น - อาจจะมีมนุษย์ที่ไม่ธรรมดาแบบนี้อยู่บ้าง 

แต่คนที่ทำบุญได้ ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นมนุษย์ธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ทำบุญแล้วจะต้องระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากระลึกถึงก็คืออุทิศส่วนบุญไปให้

และกิริยาที่อุทิศส่วนบุญไปให้ เราทำกันด้วยวิธี “กรวดน้ำ” - นี่คือเหตุผลที่ทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ

กรวดน้ำ คือเทน้ำลงในภาชนะหรือที่รองรับ ที่ใช้วิธีเทน้ำ ผู้รู้ท่านอธิบายเหตุผลว่า การมอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ใคร ถ้าสิ่งนั้นสามารถหยิบจับยกยื่นให้กันได้ ก็ใช้วิธีจับยื่นให้ ดังที่เราทำกันทั่วไป

แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่สามารถหยิบจับยกยื่นให้กันได้ เช่นเป็นของใหญ่โต หรือมีน้ำหนักมาก หรือติดอยู่กับที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ นี่อย่างหนึ่ง และสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างตัวตนที่จะหยิบจับให้เห็นได้ นี่อีกอย่างหนึ่ง เมื่อจะให้สิ่งดังกล่าวนี้ ท่านจึงกำหนดให้ใช้วิธีหลั่งน้ำลงบนฝ่ามือของผู้รับเป็นกิริยาแทนการหยิบยื่นให้ 

เช่น พระเวสสันดรพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้เมืองกาลิงคะ ช้างตัวโตใหญ่ จับยกให้ไม่ได้ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำลงบนฝ่ามือพราหมณ์ที่เป็นผู้แทนแคว้นกาลิงคะ ดังนี้เป็นตัวอย่าง

ผลบุญหรือส่วนบุญเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนที่จะหยิบยื่นส่งให้กันได้ และผู้ที่เราอุทิศส่วนบุญให้ก็ไม่มีตัวตนปรากฏมารับส่วนบุญ ท่านจึงให้ใช้การกรวดน้ำเป็นกิริยาแทนการอุทิศส่วนบุญ

ส่วนกรณีที่นิยมกรวดน้ำทันทีที่ทำบุญเสร็จ ก็มีเหตุผลอยู่ว่า เมื่อทำบุญเสร็จใหม่ๆ จิตใจของผู้ทำยังผ่องใส ระลึกถึงบุญที่ทำได้แจ่มชัด ขณะนั้นพลังจิตมีกำลังแรง สมควรที่จะกรวดน้ำทันที คนทำบุญจึงนิยมกรวดน้ำทันทีที่ทำบุญเสร็จ

แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ล่วงเลยเวลานั้นไปแล้วกรวดน้ำไม่ได้ หรือที่บางคนเชื่อว่าหลังดวงอาทิตย์ตกกรวดน้ำไม่ได้ 

หลักก็คือ บุญที่ได้ทำมา ระลึกถึงได้ในเวลาไหน ก็สามารถกรวดน้ำได้ในเวลานั้น 

ทำบุญตั้งหลายปีมาแล้ว แต่ยังระลึกถึงได้แจ่มชัด ก็สามารถอุทิศส่วนบุญนั้นให้ผู้ล่วงลับไปแล้วได้เสมอ

มีปัญหาอีกบางประการเกี่ยวกับการกรวดน้ำ เช่น

ไม่มีน้ำหรือไม่ใช้น้ำ กรวดน้ำได้หรือไม่-ดังที่มีผู้เรียกการกรวดน้ำที่ไม่ใช้น้ำว่า “กรวดแห้ง”

เวลากรวดน้ำ ต้องเอานิ้วไปรอน้ำที่กรวดหรือไม่

คนหนึ่งกรวดน้ำ คนอื่นๆ จับมือจับแขนจับตัวจับชายเสื้อต่อๆ กันไป แบบนี้ใช้ได้หรือไม่

เวลากรวดน้ำ ต้อง “ว่า” คำบาลีหรือไม่ ถ้าว่าไม่ได้จะทำอย่างไร

น้ำที่กรวดแล้วต้องทำอย่างไร

คำแนะนำรวมๆ ก็คือ 

- ถ้าสามารถหาน้ำได้ ควรใช้น้ำ และควรเป็นน้ำสะอาด ปราศจากสีและกลิ่น

- ถ้ามีเต้ากรวดน้ำ ควรใช้เต้ากรวดน้ำ ถ้าไม่มีก็ใช้ภาชนะที่สะอาด ใบหนึ่งใส่น้ำ ใบหนึ่งรองน้ำ

- เมื่อลงมือกรวด-คือเมื่อพระขึ้น ยะถา ให้รินน้ำลงในภาชนะรอง ไม่ต้องใช้นิ้วรอ รินน้ำให้เป็นสาย ไม่ควรให้ขาดสาย ตามองสายน้ำ ปากว่าคำกรวดน้ำ ถ้าว่าไม่ได้หรือไม่รู้จะว่าบทไหน ก็ให้ระลึกถึงผู้ที่เราตั้งใจอุทิศส่วนบุญให้ ตั้งความปรารถนาที่ดีงามตามที่ต้องการ

- ผู้ไม่ได้กรวดด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องจับตัวต่อๆ กันไป ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญไปตามที่ต้องการก็เป็นอันใช้ได้

- เมื่อพระขึ้นบท สัพพี ให้เทน้ำให้หมดภาชนะ แล้วประนมมือรับพร

- น้ำที่กรวดแล้วนำไปเทในพื้นที่ที่สะอาด ที่ไม่มีใครเหยียบย่ำ เทที่โคนต้นไม้ดีที่สุด เป็นประโยชน์แก่ต้นไม้อีกทางหนึ่งด้วย

พึงระลึกว่า การอุทิศส่วนบุญสำเร็จได้ด้วยการตั้งใจอุทิศ น้ำหรือคำกรวดน้ำหรือการทำกิริยาอาการใดๆ เป็นเพียงส่วนประกอบ ถ้ามีถ้าทำ ก็ทำไปตามหลักที่กล่าวมา ถ้าไม่มีหรือไม่ได้ทำ ก็ทำเพียงตั้งจิตอุทิศ

ขอย้ำว่า การกรวดน้ำ ใครจะถืออย่างไร ใครจะทำอย่างไร สามารถทำได้ตามปรารถนา ขอเพียงศึกษาให้รู้เหตุผลว่าทำไมจึงถืออย่างนั้น ทำไมจึงทำอย่างนั้น เห็นใครทำอะไรไม่ตรงกับเหตุผลที่เรารู้มา ก็พึงใช้ความอดทน มีเมตตาต่อกัน ขอให้ระลึกว่า อินทรีย์คือความสามารถที่จะเข้าใจอะไรๆ ได้อย่างถูกต้องนั้น คนเรามีไม่เท่ากัน

แชมป์ว่ายน้ำ โดดลงน้ำตัวเปล่าๆ ทั้งนั้น

แต่เด็กน้อยหัดว่ายน้ำต้องเกาะห่วงยางไปก่อน

-----------------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๔:๓๖

[right-side]

กรวดน้ำ,อุทิศบุญกุศล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.