บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๒๘)
------------------------------
ถวายสังฆทาน (๑๐)
------------------------------
ของสิ่งหนึ่ง ถวายพระให้เป็นของสงฆ์ก็ได้ ถวายพระเป็นของส่วนตัวก็ได้ ที่เป็นของกินให้ใครกินก็ได้ ที่เป็นของใช้ให้ใครใช้ก็ได้ เรามีเหตุผลอะไรจึงเรียกของที่ว่านี้เป็นคำบาลีว่า “สังฆะทานานิ” แปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”?
ของบางชนิด เช่น บาตรพระ ผ้าจีวร คนอื่นไม่ได้ใช้ มีแต่พระเท่านั้นที่ใช้ อย่างนี้เรียกได้ว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
แต่ของที่อยู่ในถังสังฆทานชุดสังฆทาน หรือที่กำลังจะกล่าวคำถวาย กำลังจะยกประเคนพระอยู่นั้น เป็นของที่คนทั่วไปกินได้ใช้ได้ด้วยทั้งสิ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เลย แล้วทำไมไปเรียกว่า “สังฆะทานานิ” = สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์?
ลองเอาของที่เรียกว่า “สังฆทาน” มาวางเรียงกันเป็นชิ้นๆ นั่นสบู่ นี่ยาสีฟัน นั่นกระดาษทิชชู ฯลฯ
ถามว่า ของชิ้นไหนที่ชื่อ “สังฆทานานิ” = สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์?
ตอบว่า แยกเป็นชิ้นๆ ไม่ได้ รวมกันทั้งหมดนั่นแหละเรียกว่า “สังฆทาน” = “สังฆะทานานิ” ยังงี้ยังไม่ถูกอีกหรือ นี่จะมาตีรวนกันทำไมไม่ทราบ
ถ้าตอบอย่างนี้ ก็ต้องขออนุญาตบอกหนังสือสังฆราช
สิ่งของที่ถวายเป็นของสงฆ์ก็ได้ ถวายเป็นของส่วนตัวก็ได้ เอาไปให้ใครก็ได้-อย่างของในถังสังฆทานหรือชุดสังฆทานนั่นแหละ เขามีคำเรียกอยู่แล้วว่า “ทานวตฺถุ” (ทา-นะ-วัด-ถุ) เคยได้ยินไหม?
ทานวตฺถุ > ทานวัตถุ แปลว่า “สิ่งของที่พึงให้” ท่านแสดงรายการไว้ดังนี้ -
.........................................................
อนฺนํ ปานํ วตฺถํ ยานํ มาลา คนธํ วิเลปนํ
เสยฺยาวสถํ ปทีเปยฺยํ ทานวตฺถู อิเม ทส.
(อันนัง ปานัง วัตถัง ยานัง มาลา คันธัง วิเลปะนัง
เสยยาวะสะถัง ปะทีเปยยัง ทานะวัตถู อิเม ทะสะ)
ทานวัตถุมี ๑๐ อย่าง ดังต่อไปนี้ -
(๑) อันนะ = อาหารหรือของกินทุกชนิด
(๒) ปานะ = เครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ รวมทั้งเครื่องประกอบที่ใช้ปรุงเป็นเครื่องดื่มต่างๆ
(๓) วัตถะ = เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเครื่องใช้จำพวกผ้าทุกชนิด
(๔) ยานะ = ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยให้ไปมาสะดวก แม้กระทั่งรองเท้าและร่มก็รวมอยู่ในประเภทนี้
(๕) มาลา = ดอกไม้ทั้งที่ร้อยเป็นพวง หรือจัดให้สวยงาม หรือดอกไม้ธรรมดาๆ
(๖) คันธะ = เครื่องหอม แต่มุ่งถึงเครื่องหอมประเภทสมุนไพรที่มีผลในทางเป็นยา ไม่ใช่เครื่องหอมประเภทเครื่องสำอาง (ธูป ก็น่าจะสงเคราะห์เข้าในประเภทนี้)
(๗) วิเลปนะ = เครื่องทา มุ่งถึงเครื่องทาประเภทยาเช่นกัน เป็นต้นว่าน้ำมันทานวดเส้นแก้ปวดเมื่อย ไม่ใช่เครื่องทาประเภทประเทืองผิว
(๘) เสยยะ = เครื่องนอน รวมไปถึงโต๊ะ เก้าอี้ เตียงตั่ง เครื่องปูลาดทั้งปวง
(๙) อาวสถะ = ที่พักอาศัย รวมตลอดถึงกุฏิ วิหาร อาคารสถานที่ทั้งปวง
(๑๐) ปทีเปยยะ = เครื่องไฟแสงสว่าง รวมตลอดทั้งเทียน ตะเกียง น้ำมันเติมตะเกียง ปัจจุบันนี้ก็รวมอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง และอาจจะรวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายเข้าด้วย
ทั้งหมดนี้ เรียกเป็นคำรวมว่า “ทานวัตถุ”
ที่มา: มังคลัตถทีปนี (ทุติโย ภาโค) ข้อ ๕
และดู:
- สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ ปริวารวัณณนา หน้า ๕๘๔ (๕๒๖)
- ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๔๖
.........................................................
จะเห็นได้ว่า ไม่มีสิ่งไหนเลยที่เรียกว่า “สังฆะทานานิ - สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
จะเลี่ยงไปว่า ทุกอย่างรวมกันนั่นแหละเรียกว่า “สังฆทาน” ท่านก็บอกอยู่ชัดๆ แล้วว่า ทุกอย่างรวมกันเรียกว่า “ทานวัตถุ” ไม่ได้เรียกว่า “สังฆทาน” (สังฆะทานานิ)
ถ้าจะใช้คำรวม ก็ควรใช้คำว่า “ทานะวัตถูนิ” แปลว่า “ซึ่งสิ่งของอันควรให้”
ถวายเป็นของสงฆ์ ก็เรียกว่า “ทานะวัตถูนิ” ได้
ถวายเป็นของส่วนตัว ก็เรียกว่า “ทานะวัตถูนิ” ได้
เอาไปให้ใครๆ ที่สมควรจะให้-ขอประทานโทษ ของกิน เอาไปหมาแมวกิน-ก็เรียกว่า “ทานะวัตถูนิ” ได้
แล้วทำไมไม่ใช้คำว่า “ทานะวัตถูนิ”?
ไปใช้ “สังฆะทานานิ” ด้วยเหตุผลอะไร?
ตอบว่า อ้าว ก็เรากำลังจะถวายแก่สงฆ์ ก็ต้องใช้คำว่า “สังฆะทานานิ - สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” แบบนี้สิ จะให้คำไหนเล่า
อ้าว-ผมอ้าวมั่งละทีนี้-ของเดิม เขาถวายภัตตาหารแก่สงฆ์-แบบเดียวกับที่อ้างว่ากำลังถวายถังถวายชุดสังฆทานแก่สงฆ์อยู่นี่แหละ เขาก็ใช้คำว่า “ภัตตานิ” ตามคำเรียกภัตตาหารอันเป็นสิ่งที่ถูกถวาย เขาไม่ได้ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” สักหน่อย ทั้งๆ ที่เขาก็ถวายแก่สงฆ์เหมือนกัน
ถวายจีวรให้เป็นของสงฆ์ เขาก็ใช้คำว่า “จีวะรานิ” อันเป็นคำเรียกจีวร เขาไม่ได้ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” สักหน่อย ทั้งๆ ที่เขาก็ถวายแก่สงฆ์เหมือนกัน
ถวายยารักษาโรคให้เป็นของสงฆ์ ก็เขาก็ใช้คำว่า “เภสัชชานิ” อันเป็นคำเรียกยา เขาไม่ได้ใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” สักหน่อย ทั้งๆ ที่เขาก็ถวายแก่สงฆ์เหมือนกัน
ก็ต้องถามย้ำคำเดิม - แล้วไปอุตริใช้ว่า “สังฆะทานานิ” ทำไม?
..................
นอกจากนี้ในคำถวายยังมีคำว่า “สะปะริวารานิ” ซึ่งแปลว่า “พร้อมทั้งของอันเป็นบริวาร”
ถามว่า ถ้าทุกอย่างรวมกันเรียกว่า “สังฆะทานานิ” แล้ว “ของอันเป็นบริวาร” คืออะไร อยู่ที่ไหน?
คำถวายสังฆทานเดิมคือคำถวายภัตตาหาร ใช้คำว่า “ภัตตานิ” และมักจะมีของอย่างอื่นถวายควบกันไปด้วย เช่นดอกไม้ธูปเทียน ของใช้บางอย่าง ตลอดจนปัจจัย (เงิน) เป็นต้น จึงมีคำว่า “สะปะริวารานิ” ควบอยู่ด้วย
แต่เมื่อไปใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” แล้วยืนยันให้แปลว่า “ซึ่งสิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” ดังนี้ และไม่มีของสิ่งอื่นที่เรียกว่า “ของบริวาร” เพราะทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ในคำว่า “สังฆะทานานิ - สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” หมดสิ้นแล้ว ทีนี้จะทำอย่างไรกับคำว่า “สะปะริวารานิ”?
หรือว่าจะต้องตัดออก?
ในที่สุด คำถวายสังฆทานที่บูรพาจารย์ท่านใช้กันมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด ก็จะมาถูกแต่ง ถูกเติม ถูกตัด โดยฝีมือคนในยุคเรา ด้วยสาเหตุประการเดียวคือ-เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้หลักเดิมของท่านให้เข้าใจชัดเจน
จะเห็นได้ว่า เพราะคำคำเดียวที่ใช้ตามที่คิดเอาเองแท้ๆ ทำให้เกิดความลักลั่นสับสนไปหมด
..............
ขอย้ำว่า คำว่า “สังฆทาน” ไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นคำแสดงเจตนาที่จะถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์
ถวายภัตตาหาร ภัตตาหารก็เป็นสังฆทาน ถวายจีวร จีวรก็เป็นสังฆทาน ถวายอะไร สิ่งนั้นก็เป็นสังฆทาน
“สังฆทาน” ไม่ใช่สิ่งที่ถูกถวาย
แต่เป็นเจตนาในการถวาย
ถวายอะไร ก็ระบุชื่อลงไป
ไม่ใช่อะไรๆ ก็ “สังฆะทานานิ”
พูดให้ชัดๆ ก็คือ ต้องบอกว่าถวายอะไร ระบุชื่อสิ่งที่ถวายลงไปให้ชัด
ถ้าไม่รู้ว่าของที่ถวายนั้นเรียกเป็นคำบาลีว่าอะไร และคำถวายของสิ่งนั้นพูดเป็นคำบาลีว่าอย่างไร ก็สามารถศึกษาได้จากหนังสือ “สากลทาน” อันเป็นหนังสือรวบรวมชื่อภาษาบาลีของสิ่งที่จะถวาย พร้อมทั้งคำถวายที่ถูกต้องไว้อย่างครบครันพอแก่การใช้งาน
ส่วนเจตนาถวายให้เป็นของสงฆ์นั้นปรากฏชัดอยู่แล้วในคำว่า “ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ ...” (ขอน้อมถวายแก่ภิกษุสงฆ์) ไม่ใช่แสดงเจตนาด้วยคำว่า “สังฆะทานานิ” ที่ใช้กันอย่างวิปริต ผิดเพี้ยน และเลอะเทอะอยู่ทั่วไปในเวลานี้
จะกู่กันให้หันกลับ ก็ต้องขออนุญาตพูดแรงๆ เพื่อให้กระทบใจ-แบบนี้แหละครับ
มรรคนายกหรือใครก็ตามที่นำถวายสังฆทานโดยใช้คำว่า “สังฆะทานานิ” นั้น โปรดทราบว่าท่านพูดไม่เป็นภาษา ยิ่งตอนเปลี่ยนใหม่ๆ ใช้คำว่า “สังฆะทานิ” ด้วยแล้ว นักเรียนบาลีแก่ๆ อย่างผม-อายไปหลายตลบเลยครับ
.........................................................
ดาวน์โหลดหนังสือ สากลทาน พระธรรมวโรดม รวบรวม
https://digital.library.tu.ac.th/.../Info/item/dc:178928
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
๑๔:๔๙
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ