สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ถาม ในเมฆิยสูตร และมิคชาลสูตรต่างเป็นเรื่องของบุคคลที่ปรารภความเพียรในป่าล้มเหลว เพราะพ่ายแพ้กิเลสเหมือนกัน แต่ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงแนะนำศีลสังวรที่ป้องกันกิเลสต่างกันเล่า?
ตอบ เนื้อหาในแต่สูตรที่ต้องพิจารณาเหตุผลและหลักฐานมีดังนี้
ก. เมฆิยสูตร (ขุ.อุ ๒๕/๓๑) ว่าด้วยพระเมฆิยเถระ(เมฆิยเถระ ผู้เคยเป็นอุปัฏฐากรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ในต้นพุทธกาล (๒๐ พรรษาแรก) พระผู้มีพระ ภาคไม่มีอุปัฏฐากประจำ บางคราวได้พระนาคสมาละ บางคราวได้พระนาคิตะ บางคราวได้พระสุนักขัตตะ บาง คราวได้พระสาคตะ บางคราวได้สามเณรจุนทะ ขุ.อุ.อ.บาลี ๓๑/๒๓๐)
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคขณะประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา ทรงมี พระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐาก เมื่อพระเมฆิยะกราบทูลว่า ขณะที่ข้าพระองค์กลับจากบิณฑบาต แล้วเดินไปตามฝั่งแม่น้ำกิมกาฬา ได้เห็นป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ถ้าพระองค์ทรงอนุญาต ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญเพียรที่ป่ามะม่วงนั้น จึงตรัสว่า เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา (นัยว่า พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ ด้วยพระประสงค์ที่จะประวิงเวลารอให้จิตของพระเมฆิยะอ่อนโยน เหมาะ แก่การบำเพ็ญเพียร องฺ นวก.อ. บาลี ๓/๓/๒๔๗)
เมื่อพระเมฆิยะทูลลาเป็นครั้งที่ ๓ ว่า พระองค์ไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก(ไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ในที่นี้หมายถึง ไม่มีกิจ ๔ อย่างในอริยสัจ ๔ ประการ ไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ในที่นี้หมายถึง ไม่ต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรม ที่เคยทำมาก่อน หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง ไม่ต้องเจริญมรรคที่เจริญได้แล้ว และไม่ต้องละกิเลสที่ละได้แล้วอีก ขุ.เถร.อ. บาลี ๖๔๔/๒๖๒, องฺ นวก.อ. บาลี ๓/๓/๒๘๗ และดู องฺ.ฉกก. ๒๒/๕๕/๕๒๖) ทั้งไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสม กิจที่ทำแล้ว ถ้าพระองค์ทรงอนุญาต ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญเพียรที่ป่ามะม่วง พระองค์ จึงตรัสว่า เมื่อเธอจะไปบำเพ็ญเพียร เราจะว่าอะไร เธอจงกำหนดเวลาที่สมควรเถิด
พระเมฆยะถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วไปป่ามะม่วงนั้น ขณะนั้น บาปอกุศลวิตก คือ กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นแก่ท่านเป็นอันมาก ท่านจึงไปทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนพระเมฆิยะว่า ธรรม ๕ ประการที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้า แห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า คือ
๑. ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
๒. ความเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและ โคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๓. ความเป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปัจฉกถา เรื่องความมักน้อย) สันตุฏฐกถา (เรื่องความสันโดษ) ปวิเวกกถา (เรื่องความสงัด) อสังสักคกถา (เรื่องความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา (เรื่องการปรารภความเพียร) สีลกถา (เรื่องศีล) สมาธิกถา (เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา) วิมุตติกถา (เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา (เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติ) ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๔. ความเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๕. ความเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิด และความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรมอีก ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ
๑. พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
๒. พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท
๓. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
๔. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ (อัสมิมานะ หมายถึงการถือตัวว่า เรามีเราเป็นนั่นนี่ นัย.ที.ปา.อ.๒๓๕)
อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุ นิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน แล้วทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
วิตกหยาบ(หมายถึง อกุศลวิตก ๓ มี กามวิตกละด้วยเนกขัมมะ พยาปาทวิตกละด้วยเมตตา วิหิงสาวิตกละด้วยกรุณา(ขุ.อุ.อ.บาลี ๓๑/๒๕๒) และวิตกละเอียด(หมายถึง ญาติวิตก ความตรึกถึงญาติ ชนปทวิตก ความตรึกถึงชนบท อมราวิตก ความตรึกถึงเทวดา เป็นต้น (ขุ.อุ.อ.บาลี ๓๑/๒๕๒) เป็นไปแล้ว ทำใจให้ฟุ้งซ่าน บุคคลผู้มีจิตสับสน ไม่รู้วิตกแห่งใจเหล่านี้ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ส่วนผู้ที่เพียรระวังมีสติอยู่เสมอ รู้เท่าทันวิตกที่เกิดแก่จิตเหล่านี้ย่อมสำรวมระวัง บุคคลผู้ตรัสรู้แล้วเท่านั้น ย่อมละวิตกที่เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่านได้โดยไม่เหลือ
ข. มิคชาลสูตร(สํ.สฬ.๑๘/๖๓-๖๔)
๑. ปฐมมิคชาลสูตร ว่าด้วยพระมิคชาละ สูตรที่ ๑
ท่านพระมิคชาละได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่ามีปกติ อยู่ผู้เดียว ชื่อว่ามีปกติอยู่กับเพื่อน
ตรัสตอบว่า ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายและธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้งทางใจ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ซักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดนั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็จะเกิดขึ้น เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัด เมื่อมีความกำหนัด ก็มีความเกี่ยวข้อง ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง ชื่อว่าผู้มีปกติ อยู่กับเพื่อน ภิกษุเช่นนี้ถึงจะใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าโปร่งและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ไม่มีผู้คนผ่านไปมา ควรเป็นที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังชื่อว่าผู้มีปกติอยู่กับเพื่อน เพราะเธอยังละตัณหาที่เป็นเพื่อนนั้นไม่ได้
ส่วนภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเป็นต้น ชื่อว่าภิกษุผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวและภิกษุเช่นนี้แม้จะอยู่รายล้อมไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในละแวกบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังชื่อว่าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว เพราะเธอละตัณหาที่เป็นเพื่อนนั้นได้แล้ว
๒. ทุติยมิคชาลสูตร ว่าด้วยพระมิคชาละ สูตรที่ ๒
ท่านพระมิคชาละกราบทูลให้พระองค์แสดงธรรมโดยย่อให้ฟัง เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ ตรัสว่า ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเป็นต้น ความเพลิดเพลิน ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะความเพลิดเพลินเกิด ทุกข์จึงเกิด เพราะความเพลิดเพลินดับ ทุกข์จึงดับ
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติองค์ธรรมคือผลจิต ๔ โดยอาการ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสแบบสงบระงับไม่หวนเกิดใหม่ได้อีก โดยสภาพก็คือความบรรลุเป็นพระอริยบุคคล ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ตามนัยแห่งจริต ๒ คือ ตัณหาจริต กับ ทิฏฐิจริต เมื่อว่าโดยวิธีและผลแห่งการปฏิบัติ คือ
เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เจโตวิมุตติ เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสแห่งใจด้วยกำลังสมาธิ และกิเลสเหล่านั้นมีราคะเป็นประธาน องค์ธรรมได้แก่ สมาธิที่สัมปยุตกับอริยผล
ปัญญาวิมุตติ เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยปัญญา และกิเลสเหล่านั้นมีอวิชชาเป็นประธาน องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาที่สัมปยุตกับอริยผล ความจริงการละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท คือตัดขาดได้เด็ดขาด ก็ด้วยความพร้อมเพียงแห่งอธิศีล อธิสมาธิ และอธิปัญญาในมรรคจิต ๔ นั่นเอง ทรงนำเอาปฏิปัสสัทธิมาจำแนกเป็น เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ(ไม่ใช่นัยสมถยานิกกับนัยวิปัสสนายานิก) เพื่อลงรายละ เช่น เรื่องวิตก เรื่องอธิศีล เป็นต้น ในเมฆิยสูตร ท่านพระเมฆิยเถระ เป็นเจโตวิมุติ เพราะเป็นตัณหาจริต เหตุเพราะเคยเกิดเป็นกษัตรย์ ๕๐๐ ชาติทุกชาติมีป่ามะม่วงเป็นอุทยานทุกชาติ ชาติปัจจุบันพอเห็นป่ามะม่วงแหล่งนั้นเข้าก็เกิดชื่นชอบสุดประมาณ ครั้นพอได้เข้าไปปฏิบัติในป่ามะม่วงนั้นเข้า จริตวิตกหยาบที่คุ้นเคยเมื่อเป็นกษัตรย์ ๕๐๐ ชาติ มีกามวิตก(ตรึกถึงกาม) พยาปาทวิตก(ตรึกถึงโทษที่ควรแก่นักโทษ) วิหิงสาวิตก(ตรึกถึงขนาดของโทษที่ควรแก่นักโทษนั้น)ก็พรั่งพรูออกมาประดุจท่อน้ำแตก ทำให้ท่านเจริญกรรมฐานต่อไปไม่ได้ พระพุทธองค์จึงแนะนำให้สำรวมสังวรด้วยปาติโมกขสังวรเป็นประธาน ส่วนในมิคชาลสูตร ท่านมิคชาลเถระ เป็น ปัญญาวิมุตต เพราะเป็นทิฏฐิจริต ส่วนวิตกละเอียด มี การตรึกถึงญาติเป็นต้น แม้มีก็น้อย พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้สำรวมสังวรด้วยอินทรีย์สังวรศีล นี่คือความต่างกันแห่งประเภท เจโตวิมุติกับปัญญาวิมุติ
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ