สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


เรื่องพระยสะ

ถาม พระยสะเป็นใคร

ตอบ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จมาโปรด ท่านพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จนท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อ วันอาสาฬหบูชา แล้ววันรุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าจึงทรงจำพรรษาแรกอยู่ที่ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวันนี้ ได้ทรงโปรดท่านพระปัญจวัคคีย์ ให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทั้ง ๕ องค์

   ที่เมืองพาราณสีนี้เอง มีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง มีชื่อว่า ยสะกุลบุตร เป็นผู้บริบูรณ์ ด้วยความสุขอันเลิศ ท่านเพลิดเพลินอยู่ในความสุขนั้นมาเป็นเวลานานปี แต่วันหนึ่ง เมื่อบารมีแก่กล้า คือท่านมีอุปนิสัยที่จะบรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งท่านเกิด ความเบื่อหน่ายในความสุขที่ได้รับนั้น ดนตรีที่เคยฟังไพเราะ ก็ไม่ถูกหู นางงามผู้บรรเลง ดนตรีที่แสนงาม ก็เห็นเป็นไม่งาม โดยเห็นเหมือนซากศพ ในคืนวันหนึ่งที่ท่านตื่นขึ้นมา ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเดินออกจากบ้านไปที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน พร้อมกับบ่นไปว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ คำว่าที่นี่ คือที่บ้านเรือนของท่านนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าที่บ้านวุ่นวาย ขัดข้อง ไม่เจริญใจดังก่อน ท่านก็ออกจากบ้านไปป่า ซึ่งคิดว่า คงจะได้รับความสงบที่นั่น การที่ท่านเบื่อหน่ายก็เพราะกุศลเก่าที่ท่านทำไว้อันจะเป็นเหตุให้ได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังพระธรรมจากพระองค์นั่นเองมากระตุ้นเตือนให้ท่านเกิด เบื่อหน่าย เดินบ่นเข้าไปในป่า จนมาใกล้ที่ประทับของพระพุทธเจ้า

   ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จเดินจงกรมอยู่ ทรงสดับเสียงบ่นของท่านยสะว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ จึงตรัสว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญท่านเข้ามาเถิด ซึ่งท่านยสะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้ท่านยสะมีจิตใจ อ่อนโยนปราศจากกิเลสนิวรณ์แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสี่แก่ท่าน ท่านยสะฟังแล้วก็ได้ ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ครั้นสว่างแจ้งแล้ว มารดาของท่านไม่เห็นท่านก็เข้าไปบอกท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาของท่านให้ทราบ ท่านบิดาจึงได้ออกไปตามบุตรที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน

   ท่านบิดาของท่านยสะเข้าไปที่ป่านั้นแล้ว ได้เห็นรองเท้าของลูกชายวางอยู่ แต่ไม่เห็นตัวท่านยสะ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอิทธาภิสังขาร คือทรงกำบังไม่ให้บิดาเห็นบุตร แล้วได้ทรงแสดงธรรม คืออนุปุพพิกถาและอริยสัจสี่แก่ท่านเศรษฐี ซึ่งเมื่อท่านได้ฟังธรรมจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย ส่วนท่านยสะสดับตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บิดาของท่าน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า ท่านยสะจะไม่กลับไปบริโภคกามในฐานะเป็นคฤหัสถ์อีกแล้ว จึงทรงคลายอิทธาภิสังขาร ทำให้บิดาเห็นบุตร ท่านบิดาจึงบอกบุตรว่า มารดาเป็นห่วงคร่ำครวญถึงขอให้กลับบ้าน พระพุทธเจ้าจึงบอกให้ท่านเศรษฐีทราบว่า ลูกชายของท่านนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่สมควรกลับไปบริโภคกามในฐานะคฤหัสถ์อีก

   บิดาท่านยสะได้ฟังแล้วก็เข้าใจ และปลาบปลื้มใจ เพราะท่านบรรลุธรรมแล้ว จึงได้กราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของท่าน โดยมีท่านยสะ เป็นปัจฉาสมณะ คือติดตามไปด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับคำนิมนต์นั้นโดยดุษณี ครั้นท่านบิดาท่านยสะถวายบังคมลากลับไปแล้ว ท่านยสะจึงได้ทูลขออุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสมบทด้วยการตรัสว่า เธอจงเป็น ภิกษุมาเถิด กับได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เกิด ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้น ก็เป็นอันว่าท่านยสะได้เป็นภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงเป็น พระอรหันตสาวกองค์ที่ ๖ โดยนับต่อจากพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ถ้านับพระพุทธเจ้าด้วย ในขณะนั้นก็มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกแล้ว ๗ องค์ นี่ก็คือเรื่องราวของท่านพระยสะ ชาวเมืองพาราณสี

   ในอรรถกถากล่าวว่า ท่านยสะเป็นบุตรของนางสุชาดา ธิดาของเสนานีกุฎุุมพี ตำบลอุรุเวลา เสนานิคมแห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นผู้ถวายข้าวปายาสแก่พระมหาสัตว์ในเช้าวันที่จะตรัสรู้ ท่านได้แต่งงานกับเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี แล้วไปอยู่ที่เมืองพาราณสี กับสามี แต่ก็กลับมาที่บ้านเดิมที่ตำบลอุรุเวลาเพื่อทำพลีกรรมแก่เทวดาทุกปี เพราะท่าน เคยบนแก่เทวดาไว้ว่า ถ้าความปรารถนา ๒ ประการของท่านสำเร็จผล ท่านจะทำ พลีกรรมแก่เทวดาทุกปี  ความปรารถนา ๒ ประการนั้นท่านตั้งไว้ตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน คือขอให้ท่านได้แต่งงานกับสามีที่มีชาติตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้ลูกคนแรกเป็นชาย ซึ่งความปรารถนาของท่านสำเร็จสมใจแล้ว แม้ท่านไปอยู่เมืองพาราณสีกับสามี ท่านก็ไม่ลืมที่จะมาทำพลีกรรมแก่เทวดาเป็นประจำ และในวันที่ท่านได้มีโอกาสถวายข้าวปายาสแก่มหาสัตว์ในวันที่จะตรัสรู้นั้น ก็คงเป็นวันที่ท่านกลับมาทำพลีกรรมแก่เทวดาที่บ้านเดิมของท่านนั่นเอง นี่เป็นประวัติย่อๆของท่านพระยสะ ครับ


[right-side]

ประวัติพระสาวก,พระยสะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.