ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,814)


กาโกโลกนัย

รู้ไว้ประดับปัญญาบารมี

อ่านว่า กา-โก-โล-กะ-ไน

แยกศัพท์เป็น กาก + โอโลก + นัย

(๑) “กาก” 

บาลีอ่านว่า กา-กะ รากศัพท์มาจาก -

(1) กา (เสียงว่า “กา”) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ (อะ) ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ 

: กา + กรฺ > ก + อ = กาก = “ผู้ทำเสียงว่ากา”

(2) กา (เสียงว่า “กา”) + กา (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย ลบ อา ที่ธาตุ

: กา + กา > ก + อ = กาก = “ผู้ส่งเสียงว่ากา”

“กาก” (ปุงลิงค์) หมายถึงสัตว์จำพวกนกที่เราเรียกกันว่า “กา” หรือ “อีกา” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาก” ว่า the crow

ในภาษาไทย คำว่า “กาก” มีความหมายแบบไทย ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -

“กาก : (คำนาม) สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว; หยากเยื่อ; เดนเลือก (ใช้เป็นคําด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก.”

ส่วนที่มีความหมายตรงตามบาลี คำไทยเขียน “กา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“กา ๑ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดกลางชนิด Corvus macrorhynchos Wagler วงศ์ย่อย Corvinae ในวงศ์ Corvidae ปากใหญ่หนาแบนข้าง ตาสีดำ ตัวสีดำ ร้องเสียง “กา ๆ ”, อีกา ก็เรียก; ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ธนิษฐา เห็นเป็นรูปอีกา เช่น แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ (อภัย), ดาวไซ ดาวเศรษฐี ดาวศรวิษฐา หรือ ดาวธนิษฐะ ก็เรียก.”

“กา” หรือ “อีกา” นี้ ผู้ร้อนวิชารุ่นเก่าเคยเขียนเป็น “กาก์” (การันต์ที่ ก ท้ายศัพท์ อ่านว่า “กา”) เพราะเชื่อว่าชื่อนกชนิดนี้มาจากบาลีสันสกฤตว่า “กาก” แน่นอน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กาก” บอกไว้ดังนี้ -

(1) (คำนาม) กาก์; คนเสียขา a crow; a cripple, one whose legs are useless.

(2) ฝูงกาก์ an assemblage of crows.

(3) (คำคุณศัพท์) อหังการ, ไม่มีความละอาย; arrogant, shameless.

ในคัมภีร์มักเอ่ยถึง “กาก” ในฐานะสัตว์ขี้ขโมย นิสัยไม่ดี ชอบมั่วสุมกับสัตว์จำพวกเลวในสถานที่ที่น่ารังเกียจ

มีข้อควรสังเกต คือ คำว่า “กาก” (กา-กะ) ที่เราเอามาเขียนเป็น “กา” และเข้าใจกันว่า “ชื่อนกขนาดกลาง ปากใหญ่หนาแบนข้าง ตาสีดำ ตัวสีดำ ร้องเสียง กา ๆ, อีกา ก็เรียก” ตรงกับชื่ออังกฤษว่า the crow นั้น ในภาษาไทยเก่าสังเกตเห็นว่า ไม่ได้จำกัดเฉพาะ the crow หากแต่หมายถึงนกทั่วๆ ไป ดังคำที่เรายังพูดกันว่า “ลูกนกลูกกา” “เสียงนกเสียงกา” ซึ่งหมายถึงนกทั่วไป

ในที่นี้ “กาก” หมายถึง นกทั่วไป

(๒) “โอโลก”

บาลีอ่านว่า โอ-โล-กะ รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ดู, แลดู) + อ (อะ) ปัจจัย,

: โอ + โลกฺ = โอโลกฺ + อ = โอโลก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การมองลง” หมายถึง การมองดู, การเหลียวดู, การแลเห็น (looking, looking at, sight) 

(๓) “นัย”

บาลีเป็น “นย” อ่านว่า นะ-ยะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป, แนะนำ, รู้) + อ ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย)

: นี > เน > นย + อ = นย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนำ” (leading) (2) “การเป็นไป” (3) “อุบายเป็นเครื่องแนะนำ” (4) “วิธีที่พึงแนะนำ” (5) “วิธีเป็นเหตุให้รู้” 

“นย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ - 

(1) หนทาง, วิธีการ, แผน, วิธี (way, method, plan, manner)

(2) การอนุมาน (inference) 

(3) นัย, ความหมาย [ในไวยากรณ์] (sense, meaning [in grammar])

(4) ความประพฤติ (behaviour, conduct) 

“นย” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “นย-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) “นยะ” และ “นัย” บอกไว้ดังนี้ -

(1) นย-, นยะ : (คำนาม) เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง. (ป., ส.).

(2) นัย : (คำนาม) ข้อสําคัญ เช่น นัยแห่งเรื่องนี้; ความ, ความหมาย, เช่น หลายนัย; แนว, ทาง, เช่น ตีความได้หลายนัย; แง่ เช่น อีกนัยหนึ่ง. (ป. นย).

ในที่นี้ “นย” ใช้ในความหมายว่า “เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง” หรือ “อนุมาน” = คาดคะเนตามหลักเหตุผล (inference) 

การประสมคำ :

๑ กาก + โอโลก = กาโกโลก (กา-โก-โล-กะ) แปลว่า “การเหลียวมองของนก” หรือ “การเหลียวมองอย่างนก” (คือมองเหลียวหลัง)

๒ กาโกโลก + นย = กาโกโลกนย (กา-โก-โล-กะ-นะ-ยะ) แปลว่า “คำที่มีนัยประดุจการเหลียวมองของนก”

“กาโกโลกนย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กาโกโลกนัย” (กา-โก-โล-กะ-ไน)

ขยายความ :

คำว่า “กาโกโลกนัย” เป็นคำที่ใช้เรียกข้อความชนิดหนึ่งในวิชาวากยสัมพันธ์ของหลักสูตรการเรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทย

ลักษณะพิเศษของข้อความที่ว่านี้ก็คือ “ศัพท์เดียวแปลสองครั้ง” ตัวอย่างที่ท่านแสดงไว้ คือศัพท์ว่า “เม” ในข้อความว่า -

..............

เตสํ  เม  นิปโก อิริยํ

ปุฏฺโฐ  ปพฺรูหิ  มาริส. 

ที่มา: ยมกปฺปาฏิหาริยวตฺถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 6

มาริส = ดูก่อนผู้นิรทุกข์! 

(ตฺวํ = อันว่าท่าน) 

นิปโก = ผู้มีปัญญารักษาตัว 

เม = อันเรา (แปลครั้งที่ 1)

ปุฏฺโฐ = ถามแล้ว 

ปพฺรูหิ = จงบอก

อิริยํ = ซึ่งความเป็นไป

เตสํ = ของบุคคลเหล่านั้น

เม = แก่เรา (แปลครั้งที่ 2)

..............

“เม” ในข้อความนี้มีศัพท์เดียว แต่แปล 2 ครั้ง ครั้งแรกแปลว่า “อันเรา” ครั้งที่ 2 แปลว่า “แก่เรา” ถ้าเป็นการกระทำ คือทำแล้วหวนกลับมาทำอีก = แปลแล้วหวนกลับมาแปลอีก

ลักษณะอย่างนี้ครูบาลีท่านเรียกว่า “กาโกโลกนัย” = มีนัยดุจการเหลียวมองของนก

คือ ธรรมชาติของนก บินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เมื่อหยุดเกาะต้นไม้ในระหว่างทางมันจะเหลียวไปดูทางที่บินมาตามสัญชาตญาณระแวงภัย เพื่อจะดูว่ามีศัตรูหรือภัยอะไรตามมาหรือเปล่า เมื่อเห็นว่าปลอดภัยก็จะหากินหรือบินต่อไป 

ตามที่ท่านว่ากันมาเป็นอย่างนี้ และตามที่ผู้เขียนบาลีวันละคำ-ในฐานะเคยใช้ชีวิตในทุ่งนาป่าเขามานาน-สังเกตดู ก็เป็นดังที่ท่านว่าไว้จริงๆ

ครูบาลีเอาธรรมชาติของนก คือ บินผ่านไปแล้ว เหลียวกลับไปมองอีก มาเรียกข้อความที่มีศัพท์ซึ่งแปลไปครั้งหนึ่งแล้ว หวนกลับมาแปลซ้ำอีก เช่นนี้ ว่าเป็นประโยค “กาโกโลกนัย” = มีนัยดุจการเหลียวมองของนก ดังอรรถาธิบายที่แสดงมานี้แล

..............

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเอาแต่หลงทะยานไปข้างหนา

: จนลืมเหลียวมองคุณค่าของสิ่งที่อยู่ข้างหลัง

[right-side]

ภาษาธรรม,กาโกโลกนัย

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.