ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,817)


คำสรุปอานิสงส์ศีล

มีหลายคำที่ควรเข้าใจ

เมื่อรับศีลจบ คือผู้สมาทานศีลกล่าวคำสมาทานศีลข้อสุดท้ายจบ พระผู้ให้ศีลจะกล่าวคำสรุปอานิสงส์ศีลว่า -

..............

เขียนแบบบาลี:

สีเลน  สุคตึ  ยนฺติ      สีเลน  โภคสมฺปทา

สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ   ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.

..............

เขียนแบบคำอ่าน:

สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ      สีเลนะ  โภคะสัมปะทา

สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ     ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย.

..............

คำแปลและขยายความ:

สีเลน  สุคตึ  ยนฺติ

ด้วยศีล บุคคลย่อมถึงสุคติภูมิได้ 

คือ ชาตินี้ได้ไปได้อยู่ในที่ดีๆ ชาติหน้าได้เกิดในภพภูมิที่ดีๆ

สีเลน  โภคสมฺปทา

ด้วยศีล ความถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติย่อมมีได้

คือ มีทรัพย์สมบัติก็ได้ใช้สอยอย่างคุ้มค่า

สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ

ด้วยศีล ย่อมถึงความดับเย็น

คือ ชาตินี้เย็นใจไม่ทุกข์ร้อน และเป็นพื้นฐานให้ชาติต่อๆ ไปได้บรรลุพระนิพพานอันเป็นภาวะที่ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง

ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.

เพราะฉะนั้น จึงควรทำศีลให้บริสุทธิ์สะอาด 

คือ ควรรักษาศีลกันไว้ให้ดีอยู่เสมอๆ

..............

เมื่อพระท่านว่าคำสรุปอานิสงส์ศีลจบแต่ละวรรค ท่านจะหยุดนิดหนึ่ง ผู้รับศีลจะรับว่า “สาธุ” 3 ครั้ง รับว่า “อามะ ภันเต” 1 ครั้ง ดังนี้ -

สีเลน  สุคตึ  ยนฺติ (พระหยุด)

ผู้รับศีลรับว่า “สาธุ”

สีเลน  โภคสมฺปทา (พระหยุด)

ผู้รับศีลรับว่า “สาธุ”

สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ (พระหยุด)

ผู้รับศีลรับว่า “สาธุ” 

ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย. (จบ)

ผู้รับศีลรับว่า “อามะ ภันเต”

เหตุผลที่หยุดและรับ :

ตั้งแต่ขึ้น นะโม ไปจนจบศีลข้อสุดท้าย เป็นคำที่พระท่านว่านำ ผู้รับศีลว่าตาม เป็นการแสดงหลักธรรม เท่ากับเป็นการพูดข้างเดียว

แต่พอถึงคำสรุปอานิสงส์ศีล คราวนี้ไม่ใช่การพูดข้างเดียว แต่เป็นคำที่พระพูดกับผู้รับศีล เหมือนเป็นคำสนทนาโต้ตอบ

คำว่า “สาธุ” แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” มีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ถูกต้องแล้ว” “ใช่แล้ว” “เห็นชอบด้วย” เมื่อกล่าวขึ้นมาเดี่ยวๆ ทำนองคำอุทาน คือเปล่งวาจา (an exclamation, interjection) ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้ :

(1) เมื่อเห็นด้วยกับญัตติ (ข้อเสนอเพื่อลงมติ) หรือการขอความเห็น ตรงกับคำว่า “เห็นชอบ” (alright, yes)

(2) เมื่อได้ฟังคำสอน คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือฟังธรรมแล้วเกิดความยินดีพอใจ (good!, right!, well!)

(3) เมื่อได้เห็นหรือได้ทราบถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่ถูกต้องดีงาม เป็นบุญกุศล เป็นความดี เป็นความสำเร็จที่ควรยินดี (congratulation)

คำสรุปอานิสงส์ศีล 3 วรรคข้างต้น เป็นการบอกให้รู้ถึงความดีมีประโยชน์อันเป็น “อานิสงส์” ของศีล ผู้รับศีลเห็นชอบด้วยกับอานิสงส์นั้น จึงเปล่งวาจายอมรับว่า “สาธุ”

แต่คำสรุปวรรคสุดท้าย “ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.” แปลว่า “เพราะฉะนั้น จึงควรทำศีลให้บริสุทธิ์สะอาด” วรรคนี้ไม่ใช่คำแสดงอานิสงส์ของศีลเหมือน 3 วรรคที่ผ่านมา แต่เป็นคำชวนหรือคำเตือนให้ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทั้งมีนัยเป็นคำถามว่า จะรักษาศีลกันได้ไหม รับว่า “สาธุ” จึงไม่เข้ากับเรื่อง เท่ากับพูดอย่างหนึ่ง แต่รับเป็นอีกอย่างหนึ่ง เทียบกับสำนวนไทยก็อย่างที่พูดว่า “ไปไหนมา สามวาสองศอก” ถามอย่างหนึ่ง ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คำรับวรรคสุดท้ายจึงเปลี่ยนจาก “สาธุ” เป็น “อามะ ภันเต”

“อามะ” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “เออ” เป็นคำรับหรือยอมรับ เทียบคำฝรั่งคือ yes

“ภันเต” แปลกันติดปากว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” เมื่อพูดควบกับ “อามะ” มีฐานะเป็นสร้อยคำหรือคำเสริมเพื่อให้เกิดความสุภาพ เทียบคำฝรั่งคือ sir 

“อามะ ภันเต” ในที่นี้จึงมีความหมายเป็นคำตอบรับ ยอมรับ หรือรับปากว่าสามารถปฏิบัติได้ และจะทำตามนั้น = ทำได้ขอรับ รักษาได้ขอรับ = yes sir

แปลความเป็นคำสนทนาเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ - 

สีเลน  สุคตึ  ยนฺติ

ศีลเป็นเหตุให้ไปดีนะโยม

สาธุ ถูกต้องขอรับ

สีเลน  โภคสมฺปทา

ศีลเป็นเหตุให้สมบูรณ์ด้วยโภคะนะโยม

สาธุ ถูกต้องขอรับ

สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ

ศีลเป็นเหตุให้อยู่เย็นเป็นสุขนะโยม

สาธุ ถูกต้องขอรับ

ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.

เช่นนั้นละก็ รักษาศีลกันนะโยมนะ

“อามะ ภันเต” = รักษาได้ขอรับ

ปัญหาเมื่อปฏิบัติจริง :

เท่าที่ปฏิบัติกันทั่วไป พระที่ให้ศีลเมื่อกล่าวคำสรุปอานิสงส์ศีลถึงวรรคที่ว่า “สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ” ท่านไม่หยุด แต่จะว่าติดกันไปเลยเป็น “สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ-ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.”

ที่เป็นเช่นนี้ เข้าใจว่าเพราะท่านฝึกสอนกันมาแบบนั้น คือ 2 วรรคนี้ท่านสอนให้ว่าติดต่อกันไป ไม่หยุด จะด้วยเหตุผลทางจังหวะลีลา หรือมีเหตุผลประการใด ควรศึกษากันดู ผู้เขียนบาลีวันละคำยังคิดไม่เห็นเหตุ

เมื่อพระไม่หยุด ผู้รับศีลก็ต้องไปกล่าวคำรับ “สาธุ” เอาตอนจบ สรุปว่ารับ “สาธุ” 3 ครั้ง ไม่มี “อามะ ภันเต” ทำให้อรรถรสของถ้อยคำเป็นอย่างที่ว่า-ถามอย่างหนึ่ง ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง หรือ “ไปไหนมา สามวาสองศอก” ดังที่ว่ามา

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินผู้รับศีลบางท่านใช้วิธีตอบรับควบ คือเมื่อพระท่านไม่หยุดตรง “สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ” ให้รับ “สาธุ” แต่ว่าติดกันไปเป็น “สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ-ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.” เขาก็รับว่า “สาธุ อามะ ภันเต” ทีเดียวเอาตอนจบ นับเป็นวิธีแก้ปัญหาที่น่าชม

แต่เมื่อว่าตามความหมายของถ้อยคำหรืออรรถรสของภาษา การหยุดตรงวรรค “สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ” เพื่อเปิดจังหวะให้ผู้รับศีลกล่าวคำรับ “สาธุ” เหมือนกับ 2 วรรคที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นและสามารถทำได้ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ

จึงขออนุญาตนำเสนอผ่านบาลีวันละคำว่า เมื่อว่าคำสรุปอานิสงส์ศีลถึงวรรค “สีเลน  นิพฺพุตึ  ยนฺติ” ขอพระคุณเจ้าทั้งปวงโปรดเมตตาหยุดตรงนี้ เพื่อเปิดจังหวะให้ผู้รับศีลกล่าวคำรับ “สาธุ” เหมือนกับ 2 วรรคที่ผ่านมา เมื่อจบวรรค “ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย.” ผู้รับศีลก็จะได้กล่าวคำรับ “อามะ ภันเต” ได้อรรถรสตรงตามความหมายของภาษาโดยทั่วกัน

อนึ่ง เท่าที่ได้สดับมา วัดหลายวัด พระคุณเจ้าหลายรูป ว่าคำสรุปอานิสงส์ศีลหยุดเป็นวรรคให้ผู้รับศีลรับ “สาธุ” 3 ครั้ง “อามะ ภันเต” 1 ครั้งตรงกับที่อธิบายมา ก็มีปฏิบัติกันอยู่แล้ว ขอกราบอนุโมทนาสาธุการมา ณ ที่นี้ด้วยขอรับ

..............

ดูก่อนภราดา!

: การทำอะไรตามๆ กัน ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

: การไม่ศึกษาให้เข้าใจว่าทำไมจึงทำ-นั่นต่างหากที่เสียหาย

[right-side]

ภาษาธรรม,อานิสงส์ศีล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.